ยุทธการ 22 สิงหา : สัญญาณ อันตราย กังวาน เตือนผ่าน “ยงยุทธ ติยะไพรัช”

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

หนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ฉบับประจำวันที่ 3 มีนาคม 2551 เสนอ “บทวิเคราะห์” ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ทักษิณ กลับบ้าน / พลังของ “พลังประชาชน” / บนฐาน “ไทยรักไทย”

มีเนื้อความน่าสังเกต พิเคราะห์

ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศสดๆ ร้อนๆ ทางการเมือง เป็นการเขียนในห้วงที่ยังเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ยังมิได้ถูก “ถอด” ยศ

การอ่านและพิจารณาแต่ละถ้อยความตลอดจนการเรียกขานจึงต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในเดือนมีนาคม 2551 ดังนี้

 

การเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้ภาพที่ดำรงอยู่ภายในพรรคไทยรักไทยมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

ขอย้ำ “เป็นพรรคไทยรักไทย” มิใช่ “พรรคพลังประชาชน”

เป็นพรรคไทยรักไทยที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550

ขณะเดียวกัน ก็ตัดสิทธิทางการเมือง 111 กรรมการบริหารเป็นเวลา 5 ปี

เป็นพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเลขาธิการพรรค

เป็นพรรคไทยรักไทยที่ “ส่วนใหญ่” ย้ายไปจัดตั้ง “พรรคพลังประชาชน” ขึ้น

เป็นพรรคไทยรักไทยที่ “ส่วนหนึ่ง” ไปมีส่วนในการจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน “ส่วนหนึ่ง” ไปมีส่วนในการจัดตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา “ส่วนหนึ่ง” ไปมีส่วนในการจัดตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย

และ “บางส่วน” ย้ายไปอยู่พรรคชาติไทย พรรคประชาราช พรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปสมัย 23 ธันวาคม 2550 ได้เป็นหินลองทองอย่างยอดเยี่ยม

ในการพิสูจน์ตัวตนและธาตุแท้แห่งความเป็นพรรคไทยรักไทย

 

หากมองจากสายตาของพรรคประชาธิปัตย์ หากมองจากสายตาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ระยะเวลาจากการเลือกตั่งเดือนมกราคม 2544

จากการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จนถึงรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 คือ ความล้มเหลวของพรรคไทยรักไทย

คือ ความล้มเหลวของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ขณะเดียวกัน หากมองจากสายตาของบางคนที่แยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทย ไปอยู่พรรคชาติไทย พรรคประชาราช พรรคประชาธิปัตย์

ก็เท่ากับยอมรับความล้มเหลวของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ขณะเดียวกัน หากมองจากสายตาของ “แกนนำ” บางคนที่เข้าไปมีส่วนในการจัดตั้ง พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ดำเนินไปใน 2 ลักษณะที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ทาง 1 ยอมรับในความผิดพลาดของพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ทาง 1 กล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ความสำเร็จของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยพวกเขามีส่วนอย่างสำคัญ มิใช่เป็นความสำเร็จของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพียงผู้เดียว

จึงมีเพียงพรรคพลังประชาชนเท่านั้นที่ไม่ปฏิเสธความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย

 

ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เท่ากับเป็นการพิสูจน์ทราบอย่างเป็นรูปธรรมว่าประชาชนยังนิยมพรรคไทยรักไทย

แม้จะลดน้อยถอยลงหากเทียบกับ 377 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548

หากเทียบกับ 248 เมื่อเดือนมกราคม 2544

เพราะว่าจำนวน 233 ที่พรรคพลังประชาชนได้มา คือ ความต่อเนื่องของพรรคไทยรักไทยภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เพราะว่าจำนวน 233 ก็ยังมากกว่า 164 ของพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนที่พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช ได้มา

ขณะเดียวกัน ความสามารถของพรรคพลังประชาชนในการสามัคคีกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดินในการจัดตั้งรัฐบาล 315 เสียง

ก็ถือเป็น “ความสำเร็จ”

ความสำเร็จนี้แม้จะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของพรรคพลังประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่า คือ ความต่อเนื่องในลักษณะ “ต่อยอด” มาจากพรรคไทยรักไทย

การเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีพื้นฐานมาจากความสำเร็จนี้

 

กระนั้น ความสำเร็จนี้ของพรรคพลังประชาชนก็มิได้เป็นความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากแต่เป็นความสำเร็จที่เรียกเป็นภาษาทางการทหารว่า

เป็นความสำเร็จในขั้น “ยัน” ระหว่างพลังของพรรคพลังประชาชน กับ พลังของพรรคการเมืองอื่น กล่มทางการเมืองอื่น

การต่อสู้ทางการเมืองจึงยังดำเนินต่อไปและจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

ร่องรอยแห่งการโต้กลับค่อยๆ ปรากฏออกมาอย่างเห็นเป็นรูปธรรม นั่นก็คือ การรุกเข้าไปยัง นายยงยุทธ ติยะไพรัช

เริ่มจากการให้ “ใบแดง” เพิกถอนการเลือกตั้ง

จากนั้นก็ส่งเรื่องให้ไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

พลันที่ศาลรับเรื่อง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ตามมาด้วย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นกรณีหวยบนดินไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เป้าหมายยังเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ในฐานะจำเลยที่ 1

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ขึ้นศาลเป็นครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม 2551 ในคดีที่ดินรัชดาภิเษก

ที่น่าจับตามองอย่างเป็นพิเศษ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 25 มีนาคม 2551 คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์สายละ 2 คน รวม 4 คน ประกอบด้วย

สายนิติศาสตร์ 2 คน ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 4

นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม

ขณะที่สายรัฐศาสตร์ ได้แก่ นายสุพจน์ ไข่มุก อดีตเอกอัครราชทูต อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายเฉลิมพล เอกอุรุ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 4 เมษายน 2551 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน

ประกอบด้วย นายชัช ชลวร ผู้พิพากษาศาลฎีกา

นายนุรักษ์ มาประณีต อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายบุญส่ง กุลบุปผา ผู้พิพากษาศาลฎีกา

วันที่ 24 เมษายน 2551 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เลือก นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไปเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 25 เมษายน 2551 ที่ประชุมวุฒิสภารับทราบถึงผลการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบทั้ง 9 คน

 

ด้านหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวของรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชาชน มีการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ด้านหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวของ “องค์กรอิสระ”

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นบรรยากาศและความต่อเนื่องการมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร