จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (3) ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (3)

ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

 

สาเหตุที่พระนางไม่โปรดก็เพราะเขาได้วิจารณ์การทำงานของอับด์ อัล-ราห์มัน ซึ่งเป็นคนโปรดของพระนาง แต่เป็นขุนนางฉ้อฉลในสายตาของเยลี่ว์ฉู่ไฉ พระนางจึงไม่ให้ความสำคัญกับเยลี่ว์ฉู่ไฉ จนยังความเสียใจแก่เยลี่ว์ฉู่ไฉเสียใจ

ครั้นถึง ค.ศ.1244 เขาก็เสียชีวิต ตอนที่ข่าวการเสียชีวิตของเขาแพร่กระจายออกไปนั้น ชาวมองโกลและขุนนางชาวจีนต่างร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าราวกับสูญเสียญาติพี่น้อง จะมีก็แต่โตเรเกนที่ไม่ทรงให้ความสนใจใดๆ กับการจากไปของเขา

และการจากไปของเขาจึงทิ้งจีนานุวัตรที่เขานำมาใช้กับการปกครองของมองโกลเอาไว้

ภูมิหลังของกุบไลข่าน

 

หากจะกล่าวถึงภูมิหลังของกุบไลข่าน (ครองราชย์ ค.ศ.1260-1294) แล้ว ประเด็นหนึ่งที่พึงกล่าวถึงเป็นปฐมก็คือ ราชมารดาของพระองค์

ด้วยเป็นที่ปรากฏว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองสูงยิ่งคนหนึ่ง พระนางมีพระนามว่า ซอร์คอคตานี (Sorghaghtani, ราว ค.ศ.1190-1252) ผู้เป็นอดีตมเหสีของโตลุย (T?l?i) ข่านองค์ที่สองของมองโกลต่อจากเจงกิสข่าน

ส่วนที่ว่าพระนางทรงอิทธิพลสูงในทางการเมืองก็เพราะว่า โอรสของพระนางที่มีอยู่สี่องค์นั้น ล้วนได้เป็นข่านทั้งสิ้น นั่นคือ มองเค อาริค โบเค (Arigh B?ke) กุบไล และฮูเลกู (H?leg?)

ควรกล่าวด้วยว่า พระนาม ซอร์คอคตานี มีตัวเขียนที่แตกต่างกันหลายที่ กล่าวคือ Sorkaktani, Sorkhokhtani, Sorkhogtani, Siyurkuktiti งานศึกษาบางที่จะมีคำต่อท้ายพระนามว่า เบคี (Beki) อันหมายถึง ผู้ปกครองหรือผู้นำ เป็นคำที่ใช้กันในแถบเอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง)

และเนื่องจากเป็นคำที่ใช้กันในหลายภูมิภาค ตัวเขียนของคำนี้จึงแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคด้วยเช่นกัน

 

ความเป็นมาโดยสังเขปของกุบไลข่านอาจเล่าได้ดังนี้คือ เมื่อสิ้นกูยูกข่าน (ค.ศ.1246-1248) ไปแล้ว ผู้เป็นมเหสีหม้ายของกูยูกกก้าวขึ้นมาใช้อำนาจแทนอยู่ราวสามปี แต่พระนางมิได้มีความสามารถเท่าโตเรเกน อีกทั้งยังถูกท้าทายจากโอรสที่ตั้งราชสำนักขึ้นมาแข่งกับพระนาง

สถานการณ์นี้จึงเปิดโอกาสให้ซอร์คอคตานีเข้ามาแสดงบทบาท โดยมีโอรสทั้งสี่ให้การสนับสนุน

แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ของซอร์คอคตานีย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นความขัดแย้งที่มีเพศแม่ขับเคี่ยวต่อสู้กันเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่โดดเด่นของชาวมองโกลที่เห็นได้น้อยในหมู่ชาวจีน

และทำให้เห็นว่า มองโกลยังคงภาพสังคมอำนาจฝ่ายมารดา (matriarchal society) เอาไว้ระดับหนึ่ง

 

วิธีที่ซอร์คอคตานีใช้ก็คือ พระนางทรงแย่งชิงจัดประชุมเลือกผู้นำก่อนที่มเหสีหม้ายของกูยูกจะจัดขึ้น โดยไม่สนใจการคว่ำบาตรของครอบครัวโอโกไดที่ประท้วงว่า การเลือกตั้งที่จัดให้มีขึ้นนั้นไม่ถูกต้องตามประเพณี ด้วยว่าพระนางทรงมีกลุ่มอำนาจอื่นคอยให้การสนับสนุน

โดยผู้ที่ได้รับเลือกในเวลานั้นก็คือ มองเค

ดังนั้น เมื่อสิ้นมองเคข่านไปแล้ว โอรสองค์อื่นของพระนางก็ก้าวขึ้นเป็นข่านสืบต่อ แต่ก็ด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเอง โดยการแย่งชิงอำนาจที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การแย่งชิงอำนาจระหว่างอาริค โบเคกับกุบไล

ที่หลังจากการขับเคี่ยวท่ามกลางความเสียเปรียบของอาริค โบเค ในหลายด้าน ในที่สุด อาริค โบเค จึงต้องยอมจำนนต่อกุบไลที่มีกำลังที่เหนือกว่า

อาริค โบเค ถูกควบคุมตัวมาสอบสวนอย่างไร้เกียรติและทำให้ได้รับความอับอาย เมื่อถูกบังคับให้ต้องทำพิธีแสดงความเคารพกุบไลอย่างเปิดเผย การกระทำของกุบไลไม่เพียงไม่ได้รับการยอมรับจากพี่น้องเท่านั้น หากยังถูกประณามอีกด้วย

เหตุดังนั้น การประชุมเพื่อเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งข่านจึงไม่มีใครในตระกูลเข้าร่วม และก็ไม่มีใครต้องการมีส่วนร่วมในการสอบสวนอาริค โบเค ที่พวกเขาสนับสนุนให้เป็นข่าน

ที่สำคัญ ทุกคนกลัวว่าหากเขาร่วมประชุมด้วยแล้วอาจไม่ได้กลับออกมาอีก เช่นนี้แล้วการประชุมเพื่อพิจารณาโทษอาริค โบเค หรือเพื่อเลือกข่านองค์ใหม่จึงขาดองค์ประชุม กุบไลจึงดำเนินเรื่องนี้ตามลำพัง

ผลคือ มีการตัดสินประหารชีวิตผู้สนับสนุนอาริค โบเค ไปเป็นจำนวนมาก แต่ลงโทษอาริค โบเค เพียงแค่มิให้เขาย่างกรายเข้ามาในราชสำนัก จากนั้นอาริค โบเค ก็ป่วยกะทันหันและสิ้นชีพอย่างลึกลับใน ค.ศ.1266

เชื่อกันว่าเขาน่าจะถูกวางยาพิษ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าจะเป็นด้วยฝีมือของกุบไล

 

กุบไล (Kublai, ค.ศ.1215-1294) ทรงมีชีวิตในวัยเยาว์ที่ดี แต่ห่างเหินจากราชบิดาที่ต้องรบทัพจับศึกยังแดนไกล ซอร์คอคตานีผู้เป็นราชมารดาจึงทรงให้กุบไลได้เรียนหนังสือกับครูชาวอุยกูร์ ครูผู้นี้สอนให้พระองค์ได้อ่านและเขียนภาษามองโกล

นอกจากนี้ ราชมารดายังส่งเสริมให้กุบไลมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่วัยเยาว์ โดยให้มีความสัมพันธ์กับชาวจีนใต้ปกครอง ทำให้กุบไลมีโอกาสเข้าพบคบหาบุคคลต่างๆ ทั้งเพื่อปรึกษาหารือหรือสนทนาด้วย โดยไม่ยึดติดกับความต่างทางศาสนาที่แต่ละคนถืออยู่

การทำเช่นนี้ต่อมาได้ทำให้กุบไลทรงมีที่ปรึกษาต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาเป็นอันมาก คือมีทั้งชาวคริสต์เนสตอเรียน พุทธทิเบต และมุสลิมเอเชียกลาง ใช่จะมีแต่ชาวจีนที่เป็นที่ปรึกษาส่วนใหญ่ก็ตาม

ที่ปรึกษาที่มีอยู่มากมายนี้ ผู้ที่ถวายคำสั่งสอนและการฝึกฝนทางศาสนาพุทธคือ ภิกษุไห่อวิ๋น (ค.ศ.1205-1257) ภิกษุรูปนี้ยังได้ติดต่อให้กุบไลข่านทรงได้พบปะและรู้จักกับหลิวปิ่งจง (ค.ศ.1216-1274) ที่ต่อมาจะเป็นผู้ถวายคำปรึกษาอันประมาณค่ามิได้แก่พระองค์

อีกคนหนึ่งก็คือ เจ้าปี้ (ค.ศ.1220-1276) ผู้ถวายคำบรรยายลัทธิขงจื่อ

แต่ที่ปรึกษาผู้มีอิทธิพลอย่างไม่เป็นที่สงสัยเลยก็คือ เหยาซู (ค.ศ.1201-1278) ที่ในบันทึกระบุว่า “เปี่ยมด้วยทักษะในสิกขา วัตร แลใช้คัมภีร์ให้ยังประโยชน์นานัปการกับนิเวศสภาพ” คำปรึกษาที่เขาเสนอแสดงให้เห็นถึงตรรกะที่ชาวมองโกลเข้าใจได้