อุบัติเหตุ

“อู” สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร เขาบังคับให้ผมเขียนเรื่องนี้ครับ

ผมโพสต์ข้อเขียนชิ้นหนึ่งในเพจ “หนุ่มเมืองจันท์”

หยิบเอาข่าวพาดหัวของ “ประชาชาติธุรกิจ” มาวิพากษ์วิจารณ์

“แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน

อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์”

แล้วตั้งคำถามว่า “แบงก์ชาติ” เห็นข่าวนี้แล้วไม่รู้สึกตงิดในใจบ้างหรือ?

เพราะช่วงที่ผ่านมาผมคุยกับพี่-เพื่อน-น้องในแวดวงธุรกิจ

ทุกคนจะบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี

บ่นเรื่องแบงก์พาณิชย์เรื่อง “กู้ยาก-กู้แพง”

และรู้สึกมากที่ความต่างของดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากสูงมาก

ส่วนน้องๆ ที่เพิ่งทำงานหรือกู้บ้านจะบ่นเรื่องการผ่อนบ้าน

เปิดสลิปผ่อนบ้านแล้วหมดกำลังใจ

เพราะมีแต่ “ดอกเบี้ย”

หัก “เงินต้น” น้อยมาก

ก่อนหน้านี้ผมเก็บข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ไว้อยู่แล้ว ตามประสาคนเขียนคอลัมน์ประจำที่จะมี “ลิ้นชักนักเขียน” ส่วนตัว

เก็บข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้

เพราะรู้ว่าวันหนึ่งคงได้ใช้งาน

ในข่าวชิ้นนี้มีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ 2 ราย พูดเหมือนกันว่าปี 2566 ผลประกอบการของ 8 แบงก์พาณิชย์ จะมีกำไรถึง 2.2. แสนล้านบาท

“สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งธนาคารมา”

นี่คือ “ไม้ขีดไฟ”

เพราะสวนกับความรู้สึกของประชาชนมาก

ข้อมูลที่สั่งสมมา เป็น “เชื้อเพลิง”

ผมไม่ได้คิดว่าธนาคารเป็น “มูลนิธิ”

แบงก์เป็นองค์กรธุรกิจ ต้องทำกำไร

แต่กำไรขนาดไหน ในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสมกับความรู้สึกของคนในสังคม

เรื่องนี้อ่อนไหวมากนะครับ

 

ข้อเขียนนี้ผมใช้เวลาเขียนประมาณ 1 ชั่วโมง

“1. ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น

ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน ‘หัวใจ’ สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ

ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง

2. แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก

แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4%

พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี

ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11%

รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว

3. คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50%

แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70%

เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม

แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย

4. ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว

เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง

พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งแบงก์มา

…ยิ่งน่าตกใจ

รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร

‘การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ’ หรือ NIM ครับ

หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น

แบงก์ก็ขยับ ‘ส่วนต่าง’ ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม

จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อยๆ แต่ให้กู้แพงๆ

ทำกำไรแบบง่ายๆ

นักวิเคราะห์บอกว่าแบงก์ที่กำไรจาก ‘ส่วนต่าง’ นี้มากที่สุด คือ แบงก์กรุงเทพ

อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด

ตอนนี้อยู่ที่ 1.6%

ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2% แล้ว

ที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น ‘เสือนอนกิน’ จึงไม่ใช่คำกล่าวหา

5. ประเด็นสำคัญ ก็คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่รู้สึกว่าผิดปกติบ้างหรือครับ

เมื่อ GDP ที่เป็นดัชนีบอกว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าไร

แบงก์ชาติบอกว่าปี 2566 ประมาณ 2.4%

แต่ธุรกิจธนาคารที่คุมระบบการเงินของประเทศเติบโตสูงถึง 18.5%

หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงเกือบ 8 เท่าตัว

ความผิดเพี้ยนแบบนี้รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่รู้สึก ‘เอ๊ะ’ อะไรบ้างหรือครับ

‘แบงก์ชาติ’ นั้นเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง ‘หัวใจ’

เมื่อเห็นการทำงานของ ‘หัวใจ’ เต้นผิดปกติแบบนี้

จะไม่คิดทำอะไรบ้างเลยหรือ

หรือเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจประเทศ

ที่แบงก์ชาติบอกว่า ‘กำลังฟื้นตัว’

6. บทความชิ้นนี้ถ้าใครอ่านแล้ว ‘เห็นด้วย’

ท่านสามารถกดรูป ‘หัวใจ’ หรือชมว่า ‘น่ารักมากค่ะ’ ได้ด้วยความสบายใจ

ผู้เขียนยืนยันว่าไม่คิดเป็นอื่นครับ”

ผมโพสต์กลางคืนวันเสาร์ที่ 6 มกราคม

มีคนกดไลก์ประมาณพันกว่าคน แชร์หลักร้อยต้นๆ

แต่ความเห็นเยอะ

อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลย

ไม่เคยมีโดนชมว่า “น่ารักมากค่ะ” เยอะขนาดนี้มาก่อน

 

ตื่นขึ้นมาสายวันอาทิตย์ที่ 7

ยอดคนกดไลก์เกือบหมื่นคน ยอดแชร์หลักพัน

เข้าไปดูว่าใครแชร์บ้าง

พอเห็นชื่อ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ก็ไม่แปลกใจ

และยิ่งมี “มติชนออนไลน์-ข่าวสดออนไลน์” และสื่ออื่นๆ ทำเป็นข่าวมากขึ้น

ยอด “ไลก์-แชร์-ความเห็น” พุ่งกระฉูด

แรงที่สุด คือ “ข่าวสดออนไลน์”

มีคนกดไลก์ 38,100 คน

ความเห็น 2,700 คน

และแชร์ 2,000

ที่น่าสนใจก็คือ ความเห็นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เดือดร้อนจากการกู้บ้าน

น่าสงสารมาก

จากนั้น โพสต์นี้ก็ขยับออกจากสื่อออนไลน์ เข้าสู่ข่าวทีวี

เริ่มจาก “เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์” ของคุณสรยุทธในวันอาทิตย์

และในวันจันทร์ ทุกช่องก็เอาโพสต์นี้ไปออก

ที่สำคัญที่สุด ไม่ได้เอาเนื้อหาในโพสต์ไปอ่านอย่างเดียว

เขาพ่วงกับข่าวโฆษกรัฐบาลชื่นชมข้อเขียนชิ้นนี้

ตามมาด้วยคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

และตบท้ายด้วยคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่โพสต์ลงใน X ตอนดึก

ทั้ง 2 คนไม่ได้พูดถึงข้อเขียนของผม

เขาพุ่งเป้าไปที่แบงก์ชาติ เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นหลัก

แต่ข่าวทั้งหมดมาร้อยเรียงกันเป็นข่าวเดียวกัน

ความแรงของข่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่อึดอัดมานาน

พอมีคนพูดแทนใจ

กระแสจึงขานรับ

แต่ผมเริ่มเสียวๆ ตั้งแต่ตอนโฆษกรัฐบาลออกมาชมแล้ว

เพราะสำหรับนักข่าว มันเป็นเรื่องผิดปกติมากที่โฆษกรัฐบาลจะมาชื่นชมข้อเขียนของใครเป็นการเฉพาะ

ด้วยสัญชาตญาณนักข่าวเก่า

ผมสังหรณ์ใจว่าจะโดนข้อหา “สมคบคิด” แน่นอน

เหมือนชงเรื่องให้รัฐบาลจัดการแบงก์ชาติ

 

ช่วง 2-3 วันหลังโพสต์ข้อเขียนนี้ มีสื่อออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์หลายช่องติดต่อให้ผมไปออกรายการ

ถ้าเป็นคนที่รู้จักกัน พอเขาเริ่มเกริ่น

ผมก็จะหัวเราะบอกเลยว่า “ไม่ออกครับ”

เพราะถือว่าการแสดงความคิดเห็นของผมจบแล้ว

ระหว่างนั้นก็มีผู้ใหญ่บางคนออกมาเตือนว่ามีบางคนสงสัยว่าผมรับจ๊อบมาจุดเพื่อปลดผู้ว่าการ ธปท.

ผมก็หัวเราะ

แล้วฝากผู้ใหญ่ท่านนั้นด่ากลับให้หน่อย

เช้าวันอังคาร เปิดอ่านไทยรัฐหน้า 3

มาเลยครับ

“ทีมการเมือง” บอกว่ามี “นักเขียนคนดัง” พิธีกรขาประจำเวทีผู้นำโชว์วิชั่นโพสต์กระแทกแบงก์ชาติ อัดนโยบายขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยให้แบงก์พาณิชย์โกยกำไรอู้ฟู่

ต่อด้วย “โทรโข่งรัฐบาล” ออกมาอวย จังหวะรับส่งลูกกันเข้าขา แล้วก็เป็นตัวของนายเศรษฐาที่โพสต์อัดแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยสวนภาวะเงินเฟ้อ

555

เป็นไปตามคาด

เขาไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ผมร้อนตัวเอง 555

ตอนแรกจะตอบโต้ว่า “อย่าคิดว่าคนอื่นจะทำแบบที่ตัวเองเคยทำ”

มันก็จะแรงไป

ผมก็แค่โพสต์บอกทีมการเมืองไทยรัฐว่าเคยสัมภาษณ์คุณเศรษฐาตอนเป็นนักธุรกิจหลายครั้งบนเวที “มติชน-ประชาชาติธุรกิจ”

“แต่สัมภาษณ์ตอนเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพียงครั้งเดียว

คือ ตอนที่ “ไทยรัฐทีวี” เชิญครับ

คนที่ชวนไปคือ “ต๋อย” ประณต วิเลปสุวรรณ ผอ.ไทยรัฐทีวี เพื่อนผมสมัยเรียนธรรมศาสตร์

เขาให้เหตุผลตรงๆ แบบเพื่อนว่าพิธีกรที่ตั้งใจเชิญไปเขาไม่ว่าง

“มึงมาหน่อยได้ไหม”

นั่นคือ ที่มาของป้ายคำว่า “พิธีกรขาประจำเวทีผู้นำ” ที่เอามาแขวนคอผม

ไม่อยากเอ่ยชื่อคนที่ร่วมประชุมเรื่องคำถามบนเวที

ชี้แจงแค่นี้พอ

 

ผมเคยถามคุณสุทธิชัย หยุ่น บนเวทีครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในฐานะ “พิธีกรขาประจำ”

ถามเรื่อง “ข้อดีของความแก่”

คุณสุทธิชัย ตอบสั้นๆ แต่คมคาย

“เราไม่ต้องเกรงใจใครมาก”

ครับ ตอนนี้ผมเพิ่งเริ่มรู้สึก “แก่” แล้ว

สงสัยต้องเอาแนวคิดของคุณสุทธิชัยมาใช้

ดังนั้น ถ้าช่วงนี้ผมตอบโต้อะไรแรงเกินไป

น่าจะเป็นเพราะคำชี้แนะของคุณสุทธิชัยครับ •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์