ยืนหยัดแต่ไหวหวั่น

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ยืนหยัดแต่ไหวหวั่น

 

รัฐบาลเพิ่งทำงานมาได้ 100 กว่าวัน “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และที่สำคัญคือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ “พรรคเพื่อไทย” ที่พลิกขั้วจับมือกับฟากอำนาจนิยมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

ดังนั้น หากจะบอกว่า “เป็นรัฐบาลที่วิญญาณยังไม่เข้าที่” อันหมายถึงการทำงานให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสนิท ย่อมเป็นข้อสรุปที่นับว่ามีเหตุผลฟังได้

หากต้องการรูปธรรมที่สะท้อนภาพที่ว่า ลองไปย้อนดูการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ที่มีอยู่ครบถ้วนในสื่อออนไลน์ก็จะเห็นการอภิปรายของ ส.ส.รัฐบาลหลายคนชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาจากรัฐบาลก่อน ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมเกือบทั้งหมดคือพรรคร่วมรัฐบาลนี้

แต่ว่าไป “วิญญาณไม่เข้าที่” ไม่ใช่เฉพาะ “รัฐบาล” เท่านั้น ก่อนหน้านี้ บทบาทของ “ฝ่ายค้าน” ก็ดูประดักประเดิด ด้วย “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” คือพันธมิตรที่ร่วมต่อสู้เผด็จการสืบทอดอำนาจกันมาอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อถึงคราวต้องแยกทางมาถล่มกันเอง ความสัมพันธ์ครั้งเก่ายังมีผลต่อการแสดงออกไม่น้อย

เมื่อ “ก้าวไกล” วางโฟกัสบทบาทใหม่ได้ว่า จะไม่อภิปรายเพื่อ “ทำลายรัฐบาล” แต่จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า หากได้เป็น “รัฐบาล” จะมีความคิดความอ่าน ความรู้ความสามารถดีกว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” แค่ไหน

การอภิปรายงบประมาณด้วยวิธีชี้ข้อบกพร่อง พร้อมกับแนะนำการจัดสรรที่เป็นประโยชน์ต่อภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าจึงเกิดขึ้น

จนได้รับคำชมเชยมากมายจาก “ผู้ติดตามการเมือง” ว่า “ก้าวไกล” ทำให้มาตรฐานการอภิปรายงบประมาณเปลี่ยนแปลงแล้วตลอดไป

นับแต่นี้นักการเมืองจะอภิปรายอะไรจะต้องทำการบ้านด้วยความรู้และความคิดอีกระดับ ไม่ใช่พูดไปเรื่อยให้รู้ว่าได้เสนอหน้าเหมือนที่ผ่านมา

แต่ก็นั่นแหละ นั่นเป็นความคิดของ “ผู้ติดตามการเมือง” ระดับเป็นนักวิเคราะห์ที่มีบทบาทตามสื่อต่างๆ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป เห็นแบบที่ “นักวิเคราะห์” เห็นหรือไม่

 

“นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตปี 2567”

เมื่อถามถึง “รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในปี 2567” พบว่า ร้อยละ 39.16 เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะอยู่ยาวตลอดทั้งปี, ร้อยละ 20.46 เห็นว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี, ร้อยละ 10.61 ระบุว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 8.40 คิดว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะลาออก, ร้อยละ 7.86 ระบุว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเปิดทางให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแทน, ร้อยละ 6.79 มองว่าจะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล และทำให้รัฐบาลล่ม, ร้อยละ 4.20 เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะโดนชุมนุมขับไล่ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 2.14 ระบุว่านายกฯ เศรษฐาจะโดนคดีความทางการเมืองจนต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 1.83 ระบุว่ารัฐบาลนายกฯ เศรษฐาจะโดนรัฐประหาร และร้อยละ 16.11 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

แม้ส่วนใหญ่จะยังเชื่อในเสถียรภาพรัฐบาล แต่ยังมีความคิดที่หลากหลายครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลไทยในอดีต อันสะเทือนถึงความอ่อนไหว ไม่เชื่อมั่นว่าการเมืองการปกครองไทยจะมั่นคง ยังยืนอยู่ในกรอบประชาธิปไตยได้ยังมีอยู่สูง

หากฟังการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายที่เพิ่งผ่านวาระแรก รับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่าขบวนการนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง สร้างปัญหาสะสมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศรุนแรง และความหวังอยู่ที่รัฐบาลที่มาจาก “อำนาจประชาชน” เท่านั้น

เป็นแนวคิดที่ท้าทายความเป็นไปของประเทศอย่างยิ่ง

เพราะแม้จะชัดเจนในการตัดสินใจเลือกตั้งทุกครั้งว่า เทใจให้ “พรรคการเมืองฟากประชาธิปไตย”

แต่ความมั่นใจว่า “พรรคประชาธิปไตย” จะได้บริหารจัดการอำนาจรัฐนั้น กลับเป็นไปอย่างหวั่นไหว ไม่มั่นใจสูงยิ่ง