‘ปรับทัศนคติ’ รับปีใหม่ ด้วยแนวคิด Flipped Mindset

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ทฤษฎีที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากในช่วงก่อน COVID-19 ก็คือการเปรียบเทียบคนที่ Fixed Mindset กับคนที่มี Growth Mindset

ศาสตราจารย์ ดร. Carol Susan Dweck จาก Stanford Graduate School of Education เป็นผู้ให้คำนิยาม และประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับ Mindset

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success

ศาสตราจารย์ ดร. Carol Susan Dweck กล่าวถึงความแตกต่างของคนที่ Fixed Mindset กับคนที่มี Growth Mindset ว่าเป็นผู้ที่มีวิธีคิด และทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ผู้ที่มีแนวคิดแบบ Fixed Mindset คือคนที่ยึดติดกับกรอบปฏิบัติ หรือทัศนคติเดิมๆ เกรงการเปลี่ยนแปลง กลัวความล้มเหลว ทำให้ไม่กล้าออกจาก Comfort Zone” ศาสตราจารย์ ดร. Carol Susan Dweck กระชุ่น

ส่วนผู้ที่มีกระบวนความคิดแบบ Growth Mindset คือคนที่รู้จักยืดหยุ่น และปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และรู้จักพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร. Carol Susan Dweck กล่าว และว่า

“คนที่มี Growth Mindset เป็นคนที่ชอบเปิดใจเรียนรู้จากความผิดพลาด และหมั่นมองการหาโอกาสในการเรียนรู้เสมอ ทำให้เป็นคนกล้าออกจาก Comfort Zone”

Comfort Zone หมายถึง พื้นที่เดิมๆ และรูปแบบเดิมๆ ของงานที่เคยทำ การออกจาก Comfort Zone ก็เพื่อทดลองสิ่งใหม่ๆ พร้อมรับมือกับปัญหา หรือเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ทันท่วงที ศาสตราจารย์ ดร. Carol Susan Dweck สรุป

ดังนั้น Fixed Mindset จึงหมายถึง “กรอบแนวคิดแบบตายตัว” นั่นเอง

เพราะ Fixed Mindset เป็นทัศนคติของผู้ที่ชอบคิดว่า ไม่กล้าลงมือทำ เพราะกลัวว่าจะล้มเหลว มนุษย์ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อีกแล้ว

และทางเดินชีวิตได้สิ้นสุดลงแล้ว!

 

ดังที่กล่าวไปว่า การเปรียบเทียบคนที่ Fixed Mindset กับคนที่มี Growth Mindset เป็นทฤษฎีที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากในช่วงก่อน COVID-19

ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า วิกฤตการณ์ COVID-19 ทำให้คนตกงานจำนวนมาก บางคนหาทางออกไม่เจอ หมดหวังกับธุรกิจ วิชาชีพ และหน้าที่การงาน

หากว่าตกอยู่ใน “กรอบแนวคิดแบบตายตัว” หรือ Fixed Mindset ก็รังแต่จะทำให้ชีวิตเจอแต่ทางตัน เพราะคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset จะมองว่าตนเองไม่สามารถพัฒนาได้ และหมดความมั่นใจในการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ

ต่างจาก “กรอบแนวคิดแบบพัฒนาได้” หรือ Growth Mindset ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดของคนที่ “คิดบวก” คือผู้ที่คิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ และกล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ

เพราะ Growth Mindset คือวิธีคิดของคนที่มีทัศนคติเชิงบวก รู้จักยืดหยุ่น และปรับตัวได้รวดเร็วกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

คนที่มี Growth Mindset จะเต็มไปด้วยความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง กล้าคิด และกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด หรือล้มเหลว เพราะคนที่มี Growth Mindset ถือว่า ความผิดพลาดคือบทเรียนที่จะนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป

ดังนั้น ทัศนคติแบบ Growth Mindset คือความเชื่อมั่น ว่า “ทำได้” จึงใส่ใจ และทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง พร้อมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เลือกทำงานยากเพื่อพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด

 

McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อดัง คาดการณ์ไว้ว่า ในปี ค.ศ.2030 แรงงานกว่า 375 ล้านคนทั่วโลก จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท และเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่

เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในอัตราทวีคูณ หากแรงงานไม่พัฒนาทักษะตัวเอง ก็อาจจะไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป

กุญแจสำคัญของทุกองค์กรในการก้าวสู่ความสำเร็จ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็คือ “พนักงาน”

โดย “พนักงาน” จะต้องรู้จักการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ และพร้อมเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ คนที่มี Growth Mindset จึงเป็นบุคลากรที่ทุกองค์กรให้ความสนใจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การทุ่มเทให้กับการทำงาน และการยอมรับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร

และทุกองค์กรต่างต้องการปลูกฝังกรอบแนวคิด Growth Mindset ให้กับ “พนักงานเก่าๆ” ด้วย

ซึ่งเป็น Pain Point ของทุกองค์กร ที่ต้องบริหารจัดการ “พนักงานเก่าๆ” ให้เปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset

 

ผมจึงขอเสนอแนวคิดใหม่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Fixed Mindset กับ Growth Mindset ที่ตั้งชื่อเอาไว้ว่า Flipped Mindset

Flipped Mindset เป็นการหาทางออกให้กับการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน และรุนแรง กับการเปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ทำให้ “พนักงานเก่าๆ” หรือ “คน Generation เก่าๆ” ปรับตัวไม่ทัน

Flipped Mindset เริ่มต้นด้วยกระบวนการ Mind-Chatter หรือ “นั่งคุยกับตัวเอง”

Mind-Chatter เป็น “บทสนทนาที่เกิดขึ้นภายใน” ที่ตัวเราเองแสดงความคิดเห็น และประเมินสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเราทำได้ดีเพียงใด หรือทำได้ไม่ดีตรงไหน

Mind-Chatter เป็นการพูดคุยเชิงบวก และมองโลกในแง่ดี ที่เราสนทนากับตัวเอง

นอกจากนี้ Mind-Chatter ยังเป็นการพูดคุยเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ที่บางครั้งอาจรุนแรง ก็เพื่อกระตุกความคิดของเรา

เพราะในยุค VUCA เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน

เมื่อเราดำเนินกระบวนการ Mind-Chatter เสร็จสิ้น อยากให้ค่อยๆ สำรวจตรวจสอบองค์ประกอบของ Fixed Mindset กับ Growth Mindset ว่าเราตรงกับตัวชี้วัดข้อใดบ้าง

ทวนอีกครั้งครับ Fixed Mindset ประกอบด้วย

1. มองโลกในแง่ลบ

2. ไร้ความเชื่อมั่นในตนเอง

3. ขาดความมุ่งมั่นในการเรียนรู้สิ่งใหม่

4. ไม่มีความกระตือรือร้นในแต่ละวัน

5. ละเลยการปรับปรุง และพัฒนาตัวเอง

6. ปิดกั้นการแลกปลี่ยนการเรียนรู้กับผู้อื่น

ปัญหาของทุกองค์กร ในความพยายามเปลี่ยนพนักงานแบบ Fixed Mindset เป็น Growth Mindset คือ “ทำทุกอย่าง” ทั้ง 6 ข้อพร้อมๆ กัน

ผลลัพธ์ก็คือ “พนักงานเก่าๆ” หรือ “คน Generation เก่าๆ” ปรับตัวไม่ทัน และไม่สามารถทำตามนโยบายที่เปลี่ยนแปลงจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset ได้

 

ดังนั้น เคล็ดลับก็คือ ให้ทำ Flipped Mindset เริ่มต้นด้วยการสะกดจิต (รณรงค์) ให้พนักงานเลิกมองโลกในแง่ลบ เริ่มมองโลกในแง่บวก และสร้างความเชื่อมั่น ว่าพนักงานทุกคน สามารถทำสิ่งใหม่ๆ ได้

เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคน เพื่อให้ออกจากกับดักความคิดแบบ Fixed Mindset

จากนั้น มอบหมายให้พนักงานรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฝึกฝน เพื่อพัฒนาตัวเองทุ่มเทแรงกายแรงใจ และตั้งใจอย่างต่อเนื่อง

เพราะการจะประสบความสำเร็จ มิได้อาศัยแค่สติปัญญา หรือพรสวรรค์เท่านั้น หากแต่ยังต้องมีความเพียรพยายามเป็นหัวใจสำคัญด้วย

สอนให้พนักงานรู้ว่า สมองของคนเรา เรียนรู้ รับรู้ และเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะคนเรานั้นมีสมรรถนะเรียนรู้ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อพนักงานเริ่มเข้าใจ และเห็นด้วย ก็ให้มอบหมายชิ้นงานที่ยากขึ้น เพื่อการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพราะงานที่ยากขึ้น จะดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นของพนักงานออกมา

การเลือกทำงานที่ยาก จะช่วยให้พนักงานพัฒนาตัวเองได้ในอัตราทวีคูณ ด้วยการเรียนรู้จากความผิดพลาด ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ พนักงานจะเลิกกลัวความล้มเหลวโดยอัตโนมัติ

 

เคล็ดลับของการทำ Flipped Mindset ข้อสุดท้ายคือ หมั่นตรวจสอบ Feedback หรือ “เสียงสะท้อน” อยู่เสมอ

การตรวจสอบ Feedback อย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ผลลัพธ์ หรือสิ่งที่พนักงานได้ทำลงไป โดยเปิดรับ Feedback จากบุคคลรอบข้าง

ซึ่งจะช่วยให้พนักงาน นำความคิดเห็นเหล่านั้นไปใช้ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบ Fixed Mindset ให้เข้าที่เข้าทาง

เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตน เป็นคนที่ Growth Mindset ได้ในการทำงานครั้งต่อๆ ไปนั่นเอง