‘ตุรกี’ มาจากคำว่า ‘เติร์ก’ แต่ไทยเรียก ‘หรุ่ม’ มาจากคำว่า ‘โรม’

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Creator: Alberto Rosati

คําว่า “ตุรกี” หรือ “Turkey” มีรากมาจากคำว่า “เติร์ก” คือ “turk” หรือ “turuk” ซึ่งก็หมายถึงชาวเติร์กนั่นแหละนะครับ

ในเอกสารโบราณของชาวกรีก ผู้ได้รับการอวยยศให้เป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลก” อย่าง เฮโรโดตุส (Herodotus, พ.ศ.59-118) เรียกชาวเติร์กว่า “Targitas” ซึ่งก็ใกล้เคียงกับคำว่า “Turkey” จึงอาจจะเห็นได้ถึงความสืบเนื่องของคำ แต่รวมๆ แล้วชาวกรีกโบราณเรียกคนพวกนี้ว่า “Tourkia” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม คำที่ว่านี้ถูกใช้ต่อมาจนสมัยโรมเรืองอำนาจ (ระหว่างราว พ.ศ.450-950) จนเปลี่ยนผ่านมาสร้างนครหลวงแห่งใหม่ทางทิศตะวันออกคือ กรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือจักรวรรดิบาแซนไทน์ (พ.ศ.837-1996) เลยทีเดียว

แต่คำคำนี้ยังถูกเรียกในสำเนียงต่างๆ กันไปในอีกหลายรูปแบบ ปอมโปนิอุส เมลา (Pomponius Mela) นักภูมิศาสตร์ชาวโรมัน ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงราว พ.ศ.600 เรียกพื้นที่แถบประเทศตุรกีปัจจุบันว่า “Turcae” ในขณะที่ภาษาละตินยุคกลางเรียกคนพวกนี้ว่า “Turchia”

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เอกสารภาษาอังกฤษ ในช่วงประมาณ พ.ศ.1900 ลงมาจะเริ่มใช้คำว่า “Turkey” หรือ “ตุรกี” ขึ้นเป็นครั้งแรก

 

จารึกภาษาเติร์กโบราณแผ่นหนึ่ง รู้จักกันในชื่อของ “ศิลาจารึกออร์ฮอน” (Orkhon หรือ Orhon inscription ชื่อจารึกหลักนี้ตั้งตามสถานที่พบคือ หุบเขาออร์ฮอน ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำออร์ฮอน ตอนกลางของประเทศมองโกเลียปัจจุบันนี้) เขียนขึ้นในเอเชียกลางในช่วงราว พ.ศ.1270 มีระบุคำว่า “Gokturks” จึงทำให้เรารู้ว่าคนพวกนี้เรียกตัวเองว่า “เติร์ก” มาตั้งแต่ครั้งกระนู้นแล้ว

คำว่า “ก็อก” ในภาษาเติร์กโบราณ แปลว่า “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีของท้องฟ้า ทำให้บางท่านแปลคำ “ก็อกเติร์ก” ว่า “เติร์กผู้มาจากฟากฟ้า” แต่สำหรับพวกเติร์กโบราณ สีนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ทิศตะวันออก” อีกด้วย

ดังนั้น หลายท่านจึงเลือกที่จะแปลคำนี้ว่า “เติร์กผู้มาจากทางตะวันออก” ซึ่งก็คงจะหมายถึงพื้นที่บริเวณที่ปัจจุบันเป็น “เขตปกครองตัวเองซินเจียงอุยกูร์” ในประเทศจีนปัจจุบันนั่นเอง

เอกสารโบราณของจีนเรียกพวก “เติร์ก” ว่า “ทูเจว๋” (Tujue, หรือที่นิยายกำลังภายในฉบับแปลไทยสะกดว่า ถูเจี๋ย) ซึ่งที่จริงก็คือคำที่ชาวจีนพยายามออกเสียงคำว่า “เติร์ก” นั่นแหละ

(ส่วน “อุยกูร์” [Uyghur] นั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ พวกเติร์กกลุ่มหนึ่ง ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเขตปกครองตัวเองซินเจียงอุยกูร์ โดยเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศจีนที่นับถือศาสนาอิสลามจะถูกชาวจีนนับว่าเป็นพวกอุยกูร์ เพราะจีนเรียกชนชาวมุสลิมว่า “หุย” แต่เฉพาะพวกอุยกูร์นั้น ชาวจีนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “หุยเหอ” หรือ “หุยเกอ” ตามที่ใช้กันในนิยายกำลังภายในฉบับแปลไทย มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ถัง [พ.ศ.1161-1450] แล้ว)

พวกทูเจว๋ยิ่งใหญ่ในทุ่งหญ้าทางทิศตะวันตกของชาวจีนมาตั้งแต่ก่อนสมัยตั้งราชวงศ์ถัง ต่อมาเมื่อเมื่อราวหลัง พ.ศ.1100 ราชวงศ์ถังถูกสถาปนาจนเป็นปึกแผ่น ทูเจว๋ก็แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ อีกคือ ทูเจว๋ตะวันตก ที่มีศูนย์กลางอยู่แถบๆ คีร์กีซสถานในเอเชียกลาง กับทูเจว๋ตะวันออก ซึ่งก็คือแถบเขตปกครองตัวเองซินเจียงอุยกูร์ในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยอีกเช่นกันนะครับที่จารึกออร์ฮอนจะถูกค้นพบในบริเวณเอเชียกลาง เพราะเป็นแหล่งมาตุภูมิดั้งเดิมที่พวกเติร์กกระจายตัวอยู่ตั้งแต่ ประเทศตุรกี เอเชียกลาง เรื่อยไปจนถึงเขตปกครองตัวเองซินเจียงอุยกูร์ ในประเทศจีน

แต่ดูเหมือนชาวคริสต์ในยุโรปจะไม่เห็นอย่างนั้นด้วย เพราะสำหรับชาวคริสต์แล้ว ถ้าพวกทูเจว๋จะมาจากที่ไหนที่นั้นก็ไม่ควรจะเป็นฟากฟ้า หรือแม้กระทั่งทางตะวันออก

เพราะในจินตนาการของพวกฝรั่ง ชาวเติร์กน่าจะมาจากนรกเสียมากกว่า

 

ทัพมองโกลที่มีชาวเติร์กร่วมรบ ได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมเอามากๆ ถึงขนาดที่ชาวคริสต์จับเอาชื่อ ก็อกเติร์ก ไปผูกกับเรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าด้วย ปีศาจจากนรกขุมล่างสุดที่ชื่อ ก็อก และมาก็อก พวกทูเจว๋ในทัพมองโกลเลยถูกลือว่า เป็นทัพของก็อกและมาก็อกมันที่มาช่วยพวกมองโกลรบมันเสียอย่างนั้น

ในบรรดาชาวเติร์กที่ถูกมองโกลเกณฑ์ไปรบยังมี พวก “ตาตาร์” (Tatar) อยู่ด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ชาวตาตาร์อยู่ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งก็ไม่ได้ไกลจากดินแดนของพวกเติร์กเท่าไหร่นัก ชื่อตาตาร์ พ้องเสียงกับชื่อนรกขุมล่างสุดที่ก็อก และมาก็อกอาศัยอยู่ คือ “ตาร์ตารุส” (Tartarus) ฝรั่งจึงจับเอาคำ “Tatar” ไปผูกเรื่องกับนรกขุม “Tartarus” กันจนทำให้ทัพของมองโกล ที่เต็มไปด้วยทหารเติร์กดูโหดร้ายยิ่งขึ้น

และแน่นอนครับว่า พวกฝรั่งเห็นคนเอเชียหน้าเหมือนกันไปหมด ในทัพของมองโกลใครพูดภาษาเติร์ก ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกปีศาจก็อกและมาก็อก จากทาร์ทารัสเหมือนกันทั้งหมด ใครที่เข้าร่วมกองทัพนี้ แล้วพูดเติร์กก็เลยได้รับเกียรตินั้นด้วยไปโดยปริยาย

ในภาพจำของชาวคริสต์ ฝรั่ง ชาติตะวันตก ชาวเติร์กแต่โบราณกาลจึงดูโหดร้ายเสียจนแทบจะไม่นับเป็นมนุษย์ แน่นอนว่า บรรพชนของพวกรัสเซีย และชนชาติอื่นๆ ละแวกนั้นก็มีภาพลักษณ์ของพวกเติร์กแบบนี้ฝังหัวไว้เช่นกัน

 

แต่สำหรับชาวไทยนั้น เดิมทีเดียวไม่ได้เรียกพวกตุรกีว่า “เติร์ก” แต่เรียกว่า “หรุ่ม” หลักฐานชัดเจนที่สุดเป็นคำโคลงที่เขียนขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 นี้เอง โคลงชุดนี้เรียกว่า โคลงภาพคนต่างภาษา สำนวนกรมหมื่นไกรสรวิชิต มีเขียนอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ หรือที่เรียกกันอย่างเคยปากมากกว่าว่าวัดโพธิ์ ซึ่งมีบาทหนึ่งระบุไว้ว่า “เรียกหรุ่มโต้ระกี่ อย่างไว้”

“โต้ระกี่” ในโคลงก็คือ “ตุรกี” นั่นแหละนะครับ

แต่ในโลกภาษาไทยไม่ได้เพิ่งมาเรียกชาวตุรกีว่า หรุ่ม ในสมัยกรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะมีหลักฐานว่าเรียกพวกตุรกีว่าชาวหรุ่มมานานแล้ว

ในบทมโหรีครั้งกรุงเก่ามีเพลงที่ชื่อว่า “อรุ่ม” (ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับคำสแลงสมัยใหม่อย่าง อรุ่มเจ๊าะ) แต่คนดนตรีไทยรู้กันดีว่าชื่อเพลงนี้ออกเสียงว่า “หรุ่ม” เฉยๆ ไม่มีเสียง ออ นำหน้า มโหรีเพลงนี้เป็นสำเนียงแขกปนฝรั่งแบบที่เรียกว่า โยสลัม

จะเห็นว่าแม้แต่สำเนียงเพลงอรุ่ม (หรุ่ม) ก็ยังเป็นแขกปนฝรั่ง เหมือนอย่างประเทศตุรกีที่ด้านทิศตะวันออกติดอยู่กับพวกแขกเปอร์เซีย คืออิหร่านในปัจจุบัน และอีกสารพัดชนชาวอาหรับที่อยู่ทางด้านใต้ ในขณะที่ทิศตะวันตกก็ติดอยู่กับทวีปยุโรป

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ “สำเนียงแขกปนฝรั่ง” จะถูกเรียกว่า “เพลงอรุ่ม”

 

เราไม่รู้ว่ามโหรีโบราณพวกนี้กำหนดอายุแน่นอนตรงกับสมัยไหนได้แน่? แต่ก็พอจะพูดแบบเหมารวมไว้ก่อนได้ว่าในสมัยอยุธยาปลายมีเพลงพวกนี้อยู่เต็มไปหมด ข้อมูลตรงนี้ตรงกันกับเอกสารสมัยพระนารายณ์ (ราว พ.ศ.2200) ที่บอกว่า มี “แขกอรวง” เข้ามาในแผ่นดินของพระองค์

คำว่า “อรวง” นี้มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องอิสลามในไทยอธิบายว่า มาจากคำว่า “al Roum” ซึ่ง Roum หรือ Rum คำนี้ก็คือคำที่เพี้ยนมาเป็นคำว่า “หรุ่ม” ในภาษาไทยนั่นแหละ

ชาวอาหรับเรียกดินแดนที่ชาวโรมันเคยครอบครองซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อนาโตเลีย (Anatolia หรือที่เรียกอีกชื่อนึงว่า Asia Minor ซึ่งก็คือศูนย์กลางวัฒนธรรมของตุรกี ตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน) ว่า “Rum” คือ “รูม”

และก็เพี้ยนมาเป็น “หรุ่ม” ในภาษาไทย

 

น่าสงสัยว่า คำที่ว่านี้จะเพี้ยนมาจากคำว่า “โรม” อีกทอด เพราะว่าในสมัยหนึ่งพวกโรมันเคยถือครองดินแดนส่วนใหญ่ของพื้นที่อนาโตเลีย ภายใต้ชื่อ จักรวรรดิไบแซนไทน์

แต่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1620-1850 “รัฐสุลต่านรูม” (Sultanate of Rum) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “จักรวรรดิเซลจุค” (Seljuk Empire)ได้รุกคืบเข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอนาโตเลียแทนไบแซนไทน์ ที่ช่วงขณะนั้นยังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (คือเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี) หรือพื้นที่ติดต่อกันทางฟากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ (ก่อนที่จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จะสูญสลายลงเมื่อปี พ.ศ.1996)

อันที่จริงแล้ว ดินแดนที่พวกอาหรับเรียกว่า รูม ส่วนใหญ่จึงหมายถึงรัฐสุลต่านเซลจุค (รูม) ที่ได้ครอบครองดินแดนที่พวกโรมันเคยถืออำนาจบาตรใหญ่อยู่

ถึงแม้ว่า “จักรวรรดิเซลจุค” ที่ชาวอาหรับเรียกว่า “รูม” จะสูญสลายไปก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1893 เสียอีก แต่จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทราบว่า เราได้คำว่า “หรุ่ม” ผ่านทางพวกอาหรับ (หรือเปอร์เซีย?) ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งว่าเราเรียกคนเหล่านี้ว่าหรุ่มมาก่อนปี พ.ศ.1893 แล้ว หรืออาจจะยังเรียกชื่อเดิมที่ติดมาจากปากของใครสักคนที่มาจากดินแดนแถบนั้น (ถึงแม้ว่ารัฐแห่งนั้นได้ล่มสลายไปแล้ว)

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหนคำว่าหรุ่มก็หมายถึง “ตุรกี” แน่ แถมยังต้องเป็นมุสลิมตุรกีอีกด้วย

ที่แน่นอนที่สุดก็คือ พวก “หรุ่ม” ในสายตาบรรพชนชาวสยามไม่มีภาพลักษณ์ที่โหดร้าย เหมือนชาว “เติร์ก” ในสายตาบรรพชนของพวกฝรั่ง ทั้งที่ก็หมายถึงชนกลุ่มเดียวกันนั่นเอง •