สิ่งได้พบและได้ยิน ในการอภิปรายงบประมาณ…เพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น? | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม พ.ศ.2567 อาจเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการอนุมัติงบประมาณที่รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นการปกติทุกปี

แต่กลับมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลว่า เป็นงบประมาณที่ตอบโจทย์นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลหรือไม่

และยังสะท้อนให้เห็นความพร้อมและการเอาจริงเอาจังของพรรคก้าวไกลในการวิเคราะห์ วิจารณ์และเสนอแนะการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล

จนกลายเป็นคำกล่าวว่า การอภิปรายงบประมาณครั้งนี้มีสาระมากกว่าโวหาร แตกต่างจากการประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณในอดีต

 

เพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น ?

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ได้จัดทำในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2566

แต่ด้วยเหตุของการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 จึงไม่สามารถนำร่างดังกล่าวเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนฯ ได้

และเมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 หลังการเลือกตั้ง การเมืองไทยก็ยังมีปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลตามกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญโดยไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

จนเมื่อได้นายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี กว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ก็ล่วงไปถึงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566

รัฐบาลเพื่อไทยตัดสินใจให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดยมีมติในการประชุม ครม.นัดแรก ให้เพิ่มกรอบงบประมาณขึ้นอีก 180,000 ล้านบาท เป็น 3.48 ล้านล้านบาท

โดยมีที่มาของรายได้สองส่วนคือ กู้เพิ่ม 100,000 ล้านบาท และจากการประมาณการรายได้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท

และมีคำสั่งให้ทุกส่วนราชการและทุกหน่วยรับงบประมาณไปจัดทำคำของบประมาณขึ้นมาใหม่ โดยขยับปฏิทินงบประมาณออกไปอีก 3 เดือน

จุดมุ่งหมายของการจัดทำงบประมาณใหม่แลกกับงบประมาณที่ทอดเวลาล่าช้าไปอีก 3 เดือน คือ การได้จัดทำงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคที่ใช้ในการหาเสียง

และที่สำคัญสามารถจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาใช้ในโครงการเรือธง ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเงินราว 500,000 ล้านบาท

ดังที่คำกล่าวของนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2566 ไว้ว่า

“โครงการนี้จะใช้งบประมาณเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้มีตัวเลือกให้กับรัฐบาลหลายทางเลือกแต่จะใช้ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการเกลี่ยงบประมาณ และปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567โดยเบื้องต้นทางเลือกแรกที่รัฐบาลจะใช้คือการเกลี่ยงบประมาณและปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น หลังจากได้งบประมาณที่เป็นไขมันส่วนเกินแล้ว จะนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณ ก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น”

การที่ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ซึ่งผ่านการลงมติวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2567 โดยไม่มีรายการใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแม้แต่บาทเดียว

และการที่รัฐบาลได้หันเหไปใช้แนวทางการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ย่อมแปลความหมายได้ชัดเจนว่า 3 เดือนที่เสียไปนั้น รัฐบาลไม่สามารถจัดการงบประมาณได้ตามที่ต้องการ

และกลายเป็น 3 เดือนที่ค่อนข้างเสียเปล่า แทนที่งบประมาณแผ่นดินโดยเฉพาะในสัดส่วนงบฯ ลงทุนที่มีกว่า 700,000 ล้านบาทจะสามารถไปใช้ให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ ก็ล่าช้าออกไป

และมีแนวโน้มอาจไม่สามารถใช้ได้ทันสิ้นปีงบประมาณ คือวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567 เนื่องจากจะเหลือเวลาเพียง 5 เดือนหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณ มีผลใช้บังคับในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2567

 

ก้าวไกล
ทำการบ้านได้ดีเกินคาด

การให้เอกสารงบประมาณ จำนวน 2 หีบ รวม 37 เล่ม มีความยาวเกือบ 20,000 หน้า แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเย็นวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นวันก่อนหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่เพียง 2 วัน และเปิดมาวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2567 ก็เป็นวันอภิปรายงบประมาณวันแรก เป็นการบ้านที่โหดร้ายมาก เพราะให้เวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์และตรงกับเทศกาลวันหยุดปีใหม่

สิ่งที่พรรคก้าวไกลดำเนินการและเป็นแบบอย่างของการวิเคราะห์งบประมาณที่น่าเป็นกรณีศึกษา คือ การระดมอาสาสมัคร แปลงไฟล์ข้อมูลที่เป็นรูปภาพ (PDF. File) ให้กลายเป็นไฟล์ข้อมูลตัวเลข ที่เรียกว่า CSV. File (Comma Separated Value) หรือที่เรารู้จักกันดี ในชื่อไฟล์ Excel

เมื่อเป็นไฟล์ Excel ก็สามารถจับมาบวก ลบ คูณหาร จัดกลุ่ม แยกประเภทได้โดยง่าย

การนำเสนอในการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายค้านจึงอุดม ร่ำรวย ด้วยข้อมูลในการวิเคราะห์ที่คนทั่วไปยากจะสามารถแสวงหาได้ด้วยตนเอง

และเนื้อหาส่วนมากถูกอภิปรายโดย ส.ส.หน้าใหม่ ในสภา จนเป็นที่ชื่นชมว่าเป็น ส.ส.ที่มีคุณภาพ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระดังกล่าวจึงเป็นการเปิดมิติของการอภิปรายงบประมาณใหม่ ที่แน่นไปด้วยข้อมูล จนสื่อมวลชนบางคนให้สมญาว่า เป็นการอภิปรายที่ “สาระนำโวหาร”

และกลายเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลและหน่วยของบประมาณทั้งหลายว่า มีการจับจ้องในรายการรายละเอียดของคำขอตั้งงบประมาณว่าจะเป็นการใช้เงินแผ่นดินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้จริงหรือไม่

 

สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ

กว่าที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 จะมีผลใช้บังคับ ต้องผ่านวาระสองและวาระสามของสภาผู้แทนฯ และผ่านการลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภา โดยกำหนดการที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย คือวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567 ดังนั้น กว่า พ.ร.บ.งบประมาณจะมีผลใช้บังคับก็น่าจะเป็นปลายเดือนเมษายน หรือต้นพฤษภาคม พ.ศ.2567 หรือเหลือเวลาในการใช้เงิน จากพฤษภาคม ถึงสิ้นเดือนกันยายน เพียงแค่ 5 เดือน

งบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทนั้น ไม่มีปัญหาในส่วนงบรายการประจำ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ เพราะเป็นรายการที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่ในรายการงบฯ ลงทุนที่มีสัดส่วน ร้อยละ 20.6 ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงิน 717,722.2 ล้านบาท เป็นรายการที่ต้องกังวลว่าจะมาสามารถใช้จ่ายได้ทัน หรืออย่างน้อยที่สุด ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและขอผูกพันงบประมาณข้ามปีให้ทันวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณหรือไม่

ทั้งนี้เพราะในรายการงบฯ ลงทุน เป็นเรื่องในหมวดรายจ่ายครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีกฎหมายบังคับให้มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะ (Spec.) การออกประกาศเชิญชวน การเปรียบราคา การพิจารณาคัดเลือก ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการไม่น้อย

ขนาดงบประมาณที่สามารถใช้ได้ตามวงรอบงบประมาณปกติ ยังต้องล่วงเข้าไตรมาส 3 ไตรมาส 4 หรือใช้เวลามากกว่า 6 เดือนกว่าจะลงนามทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่อกันได้

งบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ.2567 จึงเป็นพิสูจน์ฝีมือของผู้บริหารประเทศ ว่าจะสามารถเร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการต่างๆ ให้สามารถใช้งบฯ ลงทุน หรืออย่างน้อยมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณหรือไม่

ยังไม่ต้องฝันเรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะอัดฉีดเงิน 500,000 ล้านลงไปในระบบเศรษฐกิจ เอาแค่ 700,000 ล้านที่เป็นงบฯ ลงทุนเห็นๆ อยู่ และใช้ได้แน่นอนไม่ผิดกฎหมาย

เร่งรัดให้ใช้ให้ทันก่อน จะนับถือครับ