ปืนถูกปล้น 20 ปีแล้ว! ยังไม่มีคำตอบจากด้ามขวาน | ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วของเช้าวันที่ 5 มกราคม 2547 นั้น นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกประชุมด่วน ! เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาได้เกิดการบุกเข้าปล้นคลังแสงของ “ค่ายปิเหล็ง” ในจังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์อุกอาจเกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงในขณะนั้น เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ได้ลดระดับของการเป็นภัยคุกคามลงหมดแล้ว อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในทั่วทุกภาคของประเทศ ทุกฝ่ายเมื่อ 20 ปีที่แล้วจึงมองคล้ายกันว่า ประเทศไทยไม่มีสถานการณ์ความมั่นคงที่น่าเป็นห่วง แม้จะเกิดเหตุก่อการร้ายขนาดใหญ่กับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 มาก่อนแล้วก็ตาม

ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ยกระดับและขยายวงความขัดแย้ง จนมีสถานะเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของไทย อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดในวันนั้น ได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมา จนกลายเป็นปัญหา “สงครามยืดเยื้อ” ของสังคมไทยในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัดจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 20 ปีที่รัฐและสังคมไทยเผชิญกับปัญหาสงครามชุดใหม่ จึงทำให้มีคำถามหลายประการที่ถูกทิ้งค้างไว้ คำถามเหล่านี้ชวนให้เราต้องช่วยกันค้นหาคำตอบสำหรับการเดินทางสู่ปีที่ 21 ของสงครามภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของการยุติปัญหาความรุนแรงชุดนี้แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าหลังวันฉลองปีใหม่แล้ว ได้มีเหตุความรุนแรงตามมาทันที โดยเฉพาะกรณีการบุกยิงเจ้าหน้าที่ อส. อย่างอุกอาจขณะไปรับลูกที่โรงเรียน

ดังนั้น บทความจะขอนำเสนอคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ดังต่อไปนี้

 

1) การปล้นปืนเกิดมาครบ 20 ปีแล้ว เรามีคำตอบหรือไม่ว่าในวันนั้น “ใคร” ในเชิงตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้า หรือ “กลุ่มติดอาวุธ” ใดที่เปิดปฏิบัติการชุดนี้

2) ปฏิบัติการปล้นค่ายทหารเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร และปืนที่ถูกปล้นจะนำมาใช้ก่อเหตุรุนแรงในไทยเพียงประการเดียว หรือจะนำไปใช้ก่อเหตุในประเทศใกล้เคียงด้วย

3) ปืนที่ถูกปล้นในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นปืนเอ็ม-16 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 413 กระบอก จนถึงวันนี้กองทัพบกสามารถนำปืนที่ถูกปล้นกลับคืนมาได้แล้วเป็นจำนวนกี่กระบอก

4) รูปแบบของปฏิบัติการในวันนั้นเป็นเช่นไร และทำอย่างไรกลุ่มผู้ก่อเหตุจึงสามารถนำอาวุธปืนสงครามจำนวนมากเช่นนี้ออกไปจากค่ายทหารได้อย่างไร้ร่องรอย

5) ฝ่ายรัฐพอมีคำตอบหรือไม่ว่า ผู้ก่อเหตุในวันนั้นมีกำลังพลเท่าใดในการบุกปล้นค่ายทหาร และใช้คนจำนวนเท่าใดในการขนอาวุธ เพราะอาวุธปืนสงครามจำนวนถึง 413 กระบอกนั้น ไม่อาจขนออกด้วยการแบกหามได้โดยง่าย

6) หากเกิดเหตุเช่นนี้ในประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพและมีวุฒิภาวะ จะต้องเกิด “กระบวนการไต่สวนภายใน” ทั้งในระดับของกองทัพ และระดับของกระทรวงกลาโหม เพื่อรวบรวมข้อมูลไว้ใช้สำหรับเป็นบทเรียนในอนาคต ซึ่งไม่ชัดเจนว่ากระบวนการดังกล่าวได้เกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีการสรุป “บทเรียน” ในเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

7) ในวงรอบของความรุนแรง 20 ปีนี้ ฝ่ายรัฐจะสามารถวิเคราะห์ “แบบแผนการก่อเหตุ” ได้หรือไม่เพียงใด เพราะข้อมูลการวิเคราะห์น่าจะเป็นประโยชน์กับงานยุทธการในสนาม ดังจะเห็นได้ว่า ประมาณร้อยละ 43 ของความรุนแรงเกิดการใช้อาวุธยิง ประมาณร้อยละ 35 ใช้การวางระเบิด

8) การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้จนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน มียอดสูงเกินกว่า 5 แสนล้าน ยอดเงินงบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่เสมอ นอกจากนี้ “งบดับไฟใต้” ในปีงบประมาณ 2567 สูงกว่าปี 2566 เป็นจำนวน 450 ล้านบาท

9) ทำอย่างไรที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบจากงบประมาณจำนวนมหาศาล หรือจะควบคุมอย่างไรไม่ให้การแก้ปัญหาในภาคใต้เป็น “ทุ่งเศรษฐี” สำหรับบางคนและบางกลุ่ม หรือทำอย่างไรที่ฝ่ายความมั่นคงจะไม่ถูกวิจารณ์ว่า “เลี้ยงไข้” กับปัญหาที่เกิดขึ้น

10) การเจรจาที่เกิดนับตั้งแต่ยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จนถึงปัจจุบันนั้น เคยมีการทบทวนถึงประเด็นและปัญหาที่เกิดอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด คณะผู้เจรจาฝ่ายรัฐไทยมีความพร้อมและมีทักษะบนโต๊ะเจรจามากน้อยเพียงใด ใครจะเป็นผู้กำหนดกรอบและควบคุมทิศทางการเจรจา และถ้าผู้เจรจาบางคนกระทำการเกินขอบเขตแล้ว รัฐไทยต้องรับผิดชอบเพียงใดหรือไม่

11) ฝ่ายรัฐตอบได้หรือไม่ว่า ในรอบ 20 ปีผู้ก่อเหตุหลักเป็นใคร หรือเป็นขบวนการใด ใช่กลุ่ม “BRN” อย่างที่กล่าวถึงจริงหรือไม่ หรือคำถาม 20 ปีในทางทหารคือ ”ใครเป็นข้าศึก?” แล้วฝ่ายเราเคยมีกระบวนการทางยุทธศาสตร์ในการ “วิเคราะห์ข้าศึก” หรือไม่

12) ทำอย่างไรที่รัฐไทยจะรู้ว่า คู่เจรจาบนโต๊ะเป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” ที่คุยแล้วสามารถก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง เพื่อไม่ให้การเจรจากลายเป็น “ละครโรงใหญ่” สำหรับให้ผู้แสดงบางคนได้เสนอหน้าบนสื่อ และการเจรจาต้องไม่เป็น “เหมืองทอง” ของบางคนบางกลุ่ม

13) ทำอย่างไรที่ “ทุกอณู” ของฝ่ายรัฐจะยึดกุมทิศทาง “การเมืองนำการทหาร” และไม่ละเมิดด้วยการใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” ที่ทำให้เกิดภาวะ “เสียมวลชน” และอาจนำไปสู่วงจรของความรุนแรงแบบไม่จบ

14) รัฐไทยจะสามารถจัดทำ “กระบวนการทำลายการบ่มเพาะความรุนแรง” (deradicalization) ได้หรือไม่ เพราะการ “ถอดชนวน” ความรุนแรงเป็นหัวข้อสำคัญในการยุติปัญหาในรูปแบบเช่นนี้เสมอ

15) รัฐไทยจะกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ในปีที่ 21 ของสงครามชุดนี้อย่างไร และข้อพึงสังวรที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ภาคใต้จะต้องไม่ถูกกำหนดในแบบ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่มีปัญหาหลัก 4 ประการ คือ ไร้สาระทางยุทธศาสตร์ ไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทางทางยุทธศาสตร์ และสร้างปัญหาทางยุทธศาสตร์!