ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “Let them eat cake” ไม่ได้ออกมาจากพระโอษฐ์ ของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เล่าต่อๆ กันมาโดยที่ไม่รู้ใครเป็นคนเล่าว่า เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจในประเทศฝรั่งเศสกำลังดำดิ่ง ในความสั่นสะเทือนระดับ 10 ริกเตอร์ สวนกระแสกับชีวิตชิกๆ ฟรุ้งฟริ้ง ฟุ้งเฟ้อ ของคนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศส ณ ขณะจิตนั้นสิ้นดี พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ในโทษฐานพระชายาของท่านผู้นำประเทศขณะนั้นอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็บ้วนพระสุรเสียงดังโครมออกมาว่า “Let them eat cake”

แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าพระนางจะบ้วนวลีอะไรอย่างนั้นออกมาจริงๆ ก็คงจะเป็นภาษาฝรั่งเศสนะครับ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เพราะพระนางทรงเป็นชนชาวฝรั่งเศสอย่างเต็มขั้น ดังนั้น ที่จริงแล้ว คำพากย์ soundtrack ในภาษาฝรั่งเศสจึงอ้างกันว่า พระนางตรัสว่า “Qu”ils mangent de la brioche” ต่างหาก

และนั่นก็หมายความด้วยว่า พระนางไม่เคยไล่ใครให้ใครไปกินอะไรที่เรียกว่า “เค้ก” (cake) เลย แต่เป็น “ขนมปังบริยอช” (brioche) ต่างหากที่พระนางทรงกระทำความดั่งการแจก มิชลิน สตาร์ ให้กับเจ้าอาหารชนิดนี้ต่อไพร่ฟ้าประชา=ในประเทศของพระนาง ไปลองจัดหามาชิมดู (และจะชิกๆ คูลๆ เพิ่มขึ้นอีกมากถ้าได้เซลฟี่ด้วย)

 

ขนมปังบริยอช ที่ว่าก็คือ ขนมปังสัญชาติฝรั่งเศสประเภทหนึ่ง ที่อุดมไปด้วยเนยสดเป็นส่วนผสมสำคัญ เนื้อขนมปังนุ่ม เปลือกขนมปังจะไม่หนามาก มีรสชาติออกไปทางหวานเล็กน้อยแต่พองาม แถมยังนำไปปรุงแต่งรสชาติเพิ่มเติมได้อีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการนำไปชุบไข่ ราดน้ำไซรัป กินคู่กับสตรอว์เบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งกินมันเปล่าๆ ลุ่นๆ ก็อร่อยดี

แต่ขนมปังชนิดนี้ก็ยังมีหลายเกรดอีกนะครับ เกรดระดับขนมปังบริยอชชั้นพรีเมียมจะอุดมไปด้วยเนยสดในอัตราส่วนถึง 70% ของปริมาณแป้งที่ใช้ ผลที่ตามมาก็คือ ขนมปังที่อบออกมาแล้วจะนุ่มนิ่มจนแทบจะละลายไปในปาก เพราะมีส่วนผสมของไขมันมาก ที่สำคัญคือกลิ่นของเจ้าขนมปังนี่มันจะหอมชวนชิมเป็นที่สุด

ในขณะที่ขนมปังบริยอชในเกรดรองๆ ลงมานั้นจะมีหลายสูตร ที่ดีหน่อยจะผสมเนยสดในอัตราส่วน 50% ของปริมาณแป้ง แต่ที่พบโดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนของเนยสดอยู่เพียง 20% เท่านั้น

และก็แน่นอนด้วยว่า ไม่ว่าจะมีการผสมเนยสดลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีฝรั่งที่ไหนเขาเรียกเจ้าขนมปังชนิดนี้ว่า เค้ก เสียหน่อย เพราะว่าเพียงแค่มองจากรูปลักษณ์ภายนอก เจ้าขนมปังบริยอชที่ว่านี่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นดี กับอะไรที่เรียกว่าเค้ก โดยไม่จำเป็นต้องเคยได้ลิ้มชิมรสกันแล้ว

 

แต่ถ้าจะให้ผมเดา ขนมปังบริยอชที่ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ หมายถึง ก็คงจะเป็นขนมปังบริยอช เกรดพรีเมียม ที่แทบจะละลายตั้งแต่ยังไม่ได้กลืนลงไปในคอ

ดังนั้น พอมีการทำ subtitle เป็นภาษาอังกฤษ ความนุ่มเนียนของเนื้อเจ้าขนมปังบริยอช จึงถูกเปรียบเทียบกับเนื้อเค้ก มากกว่าที่จะเทียบกับขนมปังเย็นๆ เนื้อแข็งๆ (แน่นอนว่า ที่บอกเนื้อแข็งนั้น ก็เป็นเมื่อเปรียบเทียบกันกับเนื้อแป้งฟูๆ ของเค้ก)

และเรื่องมันก็คงจะเก๋ๆ เท่านี้แหละครับ ถ้าตอนนั้นเศรษฐกิจในประเทศของพระนางไม่ดำดิ่ง จนสั่นสะเทือนระดับ 10 ริกเตอร์ อย่างที่ผมว่าไว้ตั้งแต่แรก

ประเทศฝรั่งเศส ณ นาทีนั้น ชาวนา ชนชั้นแรงงาน และอีกสารพัดผู้คนที่ไม่ใช่คนชั้นสูง กำลังตกอยู่ในภาวะอดอยากปากแห้ง จนว่ากันว่าไม่มีแม้แต่ “ขนมปัง” (ซึ่งก็คืออาหารหลัก ทำนองเดียวกับ “ข้าว” ของเรา) จะใช้ประทังชีวิต

และก็ร้ายแรงพอที่จะต่อยอดให้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส และล้มล้างราชวงศ์ เมื่อปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332)

คำแนะนำของพระนางจึงออกจะเป็นเรื่องที่ผิดที่ผิดทาง ในแทบจะทันทีตั้งแต่ที่หลุดออกมาจากพระโอษฐ์ เพราะนี่แทบไม่ต่างกับการประชดประชันออกไปว่า

“ถ้าไม่มีข้าวเจ้าจะกินก็ไปหาข้าวไรซ์เบอร์รี่กินแทนซะสิ!”

 

แต่เรื่องประหลาดก็คือ การที่ถึงแม้จะมีการปฏิวัติวัฒนธรรม และโค่นล้มราชวงศ์ด้วยความโกรธแค้น ที่บรรดาเชื้อพระวงศ์รีดนาทาเร้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกันอย่างไกลจนสุดกู่ แต่กลับไม่มีหลักฐานการนำถ้อยคำดังกล่าวของพระนางมาโจมตี ในหมู่ฝ่ายตรงข้ามของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้กระทั่งโดยนักประวัติศาสตร์ฝ่ายโปรสถาบันในยุคนั้นเลยแม้แต่นิด

อันที่จริงแล้ว เราก็ไม่มีหลักฐานเลยด้วยซ้ำไปว่า พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ พระองค์นี้เคยตรัสเอาไว้อย่างนั้น

การที่พระนางไม่เคยถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยความเหล่านี้ก็ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนชั้นดี ถึงความบริสุทธิ์ไร้มลทินในข้อกล่าวหานี้ของพระนาง

แถมยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่า ในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์หลังฝรั่งเศสผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม เมื่อปี 1789 ไปแล้วถึง 26 ปี ได้กล่าวอ้างว่า เจ้าของคำพูดดังกล่าวคือ พระนางมารี เธเรส (Marie-Th?r?se) ผู้เป็นพระชายาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีอายุอยู่ก่อนพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ราว 100 ปีต่างหาก

แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อถือ ข้อความในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 อีกเช่นกัน แต่มักจะเชื่อกันว่า เจ้าของประโยคเจ้าปัญหานี้ คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของโลก ที่มีชื่อว่า ฌ็อง-ฌาร์กส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ต่างหาก

 

ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ “คำสารภาพ” (Confessions) ของรุสโซ พูดถึงการที่เขาอยากได้ขนมปังสักก้อน มากินแกล้มกับไวน์ที่เขาขโมยมา แต่เขาคิดว่าเขาแต่งตัวหรูหราเกินกว่าจะเข้าไปในร้านเบเกอรี่ธรรมดาๆ สุดท้ายเขาก็เลยคิดถึงคำของ “เจ้าหญิง” พระองค์หนึ่งที่ตรัสกับชาวบ้านที่ไม่มีขนมปังจะใช้ประทังชีวิตว่า

“Let them eat brioche”

แน่นอนว่าก็คือขนมปังบริยอชแบบเดียวกันกับที่ถูกจับยัดว่า เป็นคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ นั่นแหละนะครับ

ไม่มีใครทราบว่า เจ้าหญิงพระองค์นั้นของรุสโซเป็นใคร? แต่ตอนที่คำสารภาพ ของเขาเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ มีพระชนมายุเพียง 9 พระชันษา ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ผู้อ้างว่าเจ้าหญิงพระองค์นั้นคือ พระนางมารี-เธเรส ก็มีพระชนมายุเพียง 14 พระชันษาเท่านั้น

และก็ไม่มีใครทราบว่า เจ้าหญิงพระองค์นั้นของรุสโซเป็นใคร? แต่เธอคนนั้นย่อมไม่ใช่ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ อย่างที่ตกเป็น “จำเลย” ควบตำแหน่ง “แพะ” ของสังคมในชั้นหลัง

เผลอๆ หนึ่งในประโยคสุดแสนจะคลาสสิคนี้ ก็อาจจะไม่เคยผ่านออกจากปากของเชื้อพระวงศ์พระองค์ไหนในฝรั่งเศสมาก่อน ที่ตัวรุสโซจะเขียนมันลงไปในอะไรที่เรียกว่า “คำสารภาพ” ของเขาเลยก็ได้