คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : คริสต์มาส – คริสต์สมภพ?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เทศกาลคริสต์มาสนั้นน่าสนใจ ตรงที่แม้ว่าอาจมีกำเนิดจากเทศกาลทางศาสนา แต่ปัจจุบันเทศกาลนี้คนนึกถึงอะไรที่มากกว่าศาสนา หรือถูกทำให้มีความหมายที่มีลักษณะ ฆราวาสวิสัย (Secular) มากๆ

คือไม่ว่าจะเป็นคริสตชนหรือไม่ก็อาจฉลองงานเทศกาลนี้ในความหมายอื่นๆ เช่น ถือเป็นโอกาสสิ้นปี เป็นการกลับบ้านเพื่ออยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นเทศกาลของเด็กๆ เป็นงานของความรักและการให้อภัย ฯลฯ

รัฐที่เป็นฆราวาสวิสัยจึงฉลองคริสต์มาสโดยไม่ดูประดักประเดิดนัก เพราะไม่ได้ไปเน้นตรงความหมายทางศาสนา

อีกทั้งการฉลองดังกล่าวก็เป็นงานพื้นเมือง ซึ่งหมายความว่า คริสต์ศาสนาช่วยสร้างเสริมความหมายอย่างใหม่แก่ประเพณีของฝรั่งที่มีอยู่ก่อน

เอาแค่ต้นคริสต์มาสและช่อโฮลี่หน้าบ้านฝรั่งก็ไม่ใช่ของจากคริสต์ศาสนา แต่เป็นของพื้นเมืองที่ถูกตีความใหม่ให้มีอะไรแบบคริสต์ศาสนาบ้าง เช่น ถือว่าความเขียวชอุ่มไม่ตายในหน้าหนาวของต้นสนดุจชีวิตนิรันดร์ของพระเยซู ฯลฯ

 

เวลาที่ผมพูดถึงศาสนาผีที่เป็นรากฐานของศาสนาในไทยและอุษาคเนย์ อันที่จริง ศาสนาผีเป็นศาสนาของคนทั่วโลก ไม่ว่าไทยจีนฝรั่งแขก

ฝรั่งถือผีก่อนจะรับนับถือคริสต์ศาสนา แต่คริสต์ศาสนาในยุโรปจัดการกับผีค่อนข้างรุนแรง เช่น นับเป็นพวกนอกรีตและทำลายด้วยประการต่างๆ

กระนั้นผีและศาสนาหลังผีก็ยังแฝงอยู่ในประเพณีคริสต์ศาสนา

ที่จริงนักประวัติศาสตร์ศาสนาทราบกันว่า ผู้ที่ก่อตั้งศาสนาคริสต์จริงๆ ไม่ใช่พระเยซู ซึ่งทรงมีสถานะเป็น “ธรรมาจารย์” ของศาสนายูดายผู้ตีความคำสอนของยิวให้อ่อนนุ่มละมุนขึ้น จาก “พระเจ้าผู้ทรงพระพิโรธ” ให้กลายเป็น “พระบิดาแห่งความรัก” จาก “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็น “หากเขาตบแก้มขวาของท่านให้หันแก้มซ้ายให้” แต่คือ นักบุญเปาโล หรือปอล ผู้ซึ่งทำให้ศาสนาคริสต์แตกต่างจากรากฐานเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ

ศาสนาคริสต์จึงก่อกำเนิดอย่างแท้จริงในอาณาจักรโรมัน ซึ่งบรรดาสาวกของพระเยซูล้วนหนีไปกบดานที่นั่น แต่กว่าจะเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับจากบ้านเมืองก็ล่วงไปถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สี่

 

แต่ก่อนคริสต์ศาสนาจะเข้ามา ชาวโรมันมีศาสนาของตัวเองอยู่ก่อน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ศาสนาของชาวกรีก-โรมัน อันมีลักษณะพหุเทวนิยม คือมีเทพเจ้ามากมาย ดังที่เรารู้จักกันในวรรณคดี เช่น ซุส-จูปิเตอร์, อโฟรไดต์-วีนัส, อพอลโล ฯลฯ พวกเขามีเทพซึ่งมีระบบครอบครัว มีการบูชายัญ เลี้ยงเหล้าองุ่นและเนื้อสัตว์

นอกจากศาสนานี้แล้ว ในอาณาจักรโรมันยังมีศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนามนี ศาสนามิถรา ฯลฯ แทรกกระจายอยู่ในหมู่ประชากรโรมันและประชากรจากที่อื่น

อันนี้แหละครับที่ผมเรียก “ศาสนาหลังผี” คือโดยไทม์ไลน์ ศาสนาผีมีมาก่อน จากนั้นก็เกิดศาสนาที่อาจเรียกว่า “ศาสนาโบราณ” (พวกศาสนาหลังผีนี่แหละ) เช่น ศาสนาของกรีกโรมัน ศาสนาของชาวอียิปต์ มิถรา มนี โซโรอัสเตอร์ ฯลฯ ศาสนาพวกนี้ส่วนมากค่อยๆ หายไปหลังเกิดศาสนาปัจจุบัน คือ คริสต์ศาสนา อิสลาม พุทธ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะผีหรือศาสนาโบราณ การหายไปเป็นฉากหน้า ที่จริงอาจแปรเปลี่ยนรูปปและความหมายแต่เข้าไปแทรกซึมอยู่ในศาสนาสมัยปัจจุบัน

ฉะนั้น จึงไม่มีศาสนาใดเลยที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ได้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับศาสนาที่มีอยู่ก่อน ไม่ว่าจะในแง่ปฏิเสธหรือในแง่รับเอาบางสิ่งมาก็ตาม

 

เมื่อชาวโรมันยอมรับนับถือศาสนาคริสต์แล้ว ก็เอาธรรมเนียมของโรมันมาเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนาซึ่งแม้จะมีรากฐานจากพวกยิว แต่ก็ทำให้ต่างออกไปมาก บางสิ่งที่ตรงกันชาวโรมันก็รับเอาโดยง่าย เช่น การบูชายัญที่แท่นพิธี หรือการเอาระบบครอบครัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทพในคริสต์ศาสนา คือมีพระบิดาและพระบุตร และยกพระแม่มารีย์ ให้เป็นดุจเทพมารดร (theotokos) ตามระบบเดิมของโรมัน

ศาสนาคริสต์ถึงมีนิกายใหญ่เป็น “โรมันคาทอลิก” คาทอลิก แปลว่าสากล คือใช้ระบบความเชื่อและศาสนพิธีเหมือนกันทั่วโลก แต่คำว่าโรมัน บ่งบอกว่า ใช้ “จารีต” ของโรมัน

แต่คริสต์ศาสนามิได้มีเพียงนิกายโรมันคาทอลิก และนิกาย “ปฏิรูป” (โปรแตสแตนต์) เท่านั้น ที่จริงยังมีนิกายอื่นๆ ที่มีความละม้ายโรมันคาทอลิกอีกมาก ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า จารีตตะวันออก เช่น ออโธดอกซ์ คอปติก (มีศูนย์กลางที่อียิปต์) ฯลฯ

 

ที่ลากมายาวเพื่อจะพูดถึงวันคริสต์มาสนี่แหละครับว่า ศาสนาจักรโรมันคาทอลิก ถือเอา 25 ธันวาคม เป็นเทศกาลคริสต์มาส

แต่คริสต์ศาสนาจารีตตะวันออก ถือเอาช่วงต้นเดือนมกราคม เป็นช่วงคริสต์มาส (ใช้คนละปฏิทินกับคาทอลิก)

และนักวิชาการด้านศาสนาบางส่วนสันนิษฐานว่า พระเยซูน่าจะ “สมภพ” หรือบังเกิดขึ้นในโลกจริงๆ ราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีและดาราศาสตร์ ไม่ตรงกันเลย

ผมเพิ่งอ่านข้อมูลจากเพจหนึ่งที่น่าสนใจ คือเพจประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาตะวันตก-ตะวันออก (ลองติดตามกันดูครับ) มีการยกข้อมูลจากฝ่ายมุสลิมที่กล่าวถึงการประสูติของพระเยซู (ในอิสลามเรียกพระเยซูว่านบีอีซา) ว่ามีหลักฐานในพระคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า พระแม่มารีย์ ประสูติพระเยซูในขณะที่ผลของอินทผาลัมล่วงหล่นจากต้น

ซึ่งน่าจะตีความได้ว่า ควรจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่ต้นอินทผาลัมสุกแล้วมากกว่า

ในฝ่ายคริสตจักรโรมันคาทอลิกเองก็ค้นคว้าจนได้ความว่า การถือเอาช่วง 25 ธันวาคม เป็นการฉลองคริสต์สมภพนั้น ก็เพราะชาวคริสต์ยุคต้นรับเอาธรรมเนียมของชาวโรมัน จากศาสนากรีกโรมันมาใช้

ชาวโรมันจะฉลอง “สุริยเทพ” ในวันที่ 25 ธันวาคม ชาวคริสต์ยุคต้นรับเทศกาลนี้มาฉลองคริสต์สมภพ แล้วตีความในภายหลังว่า พระเยซูก็ดุจสุริยเทพผู้ประทานแสงสว่างแก่โลก จึงฉลองดังนี้เรื่อยมา

นอกจากโรมันจะฉลองสุริยเทพแล้ว ผมเข้าใจว่าชาวบ้านยุโรปสมัยนั้น คงมีการฉลองเทศกาลฤดูหนาวหรืออะไรอื่นๆ ซึ่งเป็นของศาสนาผีชาวบ้านอีก แต่สุดท้ายก็ผสมรวมกับคริสต์ศาสนา

ส่วนที่เป็นการฉลองของชาวบ้านในความหมายนอกคริสต์ศาสนา ที่แม้จะเลือนไปแล้วแต่ยังคงรักษารูปแบบบางอย่างนี่แหละจึงทำให้คริสต์มาสไม่เป็นคริสต์ไปเสียทั้งหมด

อีกทั้งการทำให้คริสต์มาสมีความสำคัญในแง่ธุรกิจการค้าในระบบทุนนิยม ยิ่งทำให้ความหมายทางคริสต์ศาสนาเจือจางในการรับรู้ของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนนอกวงคริสต์ศาสนา

การฉลองคริสต์มาสจึงเป็นงานฉลองที่ใครจะฉลองก็ได้ โดยไม่ต้องมีสำนึกทางศาสนามาเกี่ยวข้อง เพราะมันถูกดึงออกมานอกขอบเขตทางศาสนามากพอสมควรแล้ว

 

ผมคิดว่าในงานเทศกาลแบบไทย ซึ่งเกินกว่า แปดสิบเปอร์เซ็นต์ยังมีสำนึกทางศาสนาอยู่มาก และที่ยิ่งแปลกไปกว่านั้น คือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเรา พยายามจะดึงเอางานเทศกาลที่ถูกลดสำนึกทางศาสนาหรือความหมายทางศาสนาโดยคนสมัยใหม่ ไปให้ความหมาย หรือชูสำนึกทางศาสนาให้เพิ่มขึ้นมาอีก

งานสนุกๆ ที่ความหมายและสำนึกทางศาสนากำลังลดลง กลับถูกมองว่าคุณค่ากำลังจะพินาศสูญสิ้น เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง จึงถูกกระตุ้นให้สำนึก “คุณค่า” ทางศาสนาขึ้นมาอีก ซึ่งผมไม่เห็นว่าจะประสบความสำเร็จอะไร

ที่อัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นคืองานที่ไม่ได้มีอะไรทางศาสนามาแต่ต้น เช่น ปีใหม่ ก็ถูกเพิ่มคุณค่าทางศาสนาเข้าไปด้วย เช่น การสวดมนต์ข้ามปี หรือทำบุญข้ามปีอะไรทำนองนั้น

ที่จริงเทศกาลอะไรจะมีความหมายทางศาสนาก็ได้นะครับ แต่ควรเป็นการเลือกเองเป็นการส่วนตัวของใครของมันไม่ใช่การโปรโมตโดยรัฐ ซึ่งพยายามทำให้ความหมายเช่นนี้กลบกลืนความหมายแบบอื่นๆ ทั้งหมด

 

อนุสนธิ์ที่ผมได้จากการกล่าวถึงคริสต์มาส คือน่าสนใจว่า ฝรั่งที่เขาไม่ได้นับถือศาสนายังฉลองคริสต์มาสในความหมายของตัวได้ โดยไม่มีรัฐหรือหน่วยงานทางวัฒนธรรมมากำกับความหมาย

และที่สำคัญ ชาวคริสต์ที่แม้จะฉลองคริสต์มาสด้วยความศรัทธาในพระเยซูเจ้า ก็ยังสามารถค้นคว้าและยอมรับความจริงได้ว่า พระเยซูจอาจไม่ได้ประสูติจริงในวันที่พวกเขาฉลองกัน

ผมลืมเล่าไปว่า เรื่องพระเยซูไม่ได้ประสูติกันในวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม นั้น ผมฟังครั้งแรกจากภราดาหนุ่มท่านหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันท่านบวชเป็นบาดหลวงไปแล้ว (บาดหลวง ผมเขียนงี้นะครับ เพราะท่านพระสารประเสริฐ และสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สันนิษฐานว่า มาจากคำ Prade ที่แปลว่าคุณพ่อ ไปเติมหลวงเอาข้างท้ายตามคุ้นชินชาวบ้าน ไม่ใช่ตีนใหญ่ตีนโตที่ไหน)

ฉะนั้น ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อมูลปกปิดอะไร ชาวคริสต์ทราบแล้วก็ยังสบายๆ เข้าคติ ต้องรู้ความจริง ส่วนเลือกเชื่อและปฏิบัตินั้นก็สุดแท้แต่จะทำ

เรื่องนี้เราควรเรียนรู้จากเขาอย่างยิ่งครับ

เว้นเสียแต่เราจะชินกับการไม่สนใจความจริง เพราะผู้ใหญ่ผู้โตโกหกกันบ่อยเหลือเกิน

โฮะโฮะโฮ่