ฮุนเซน 2024 : โรดแม็ปสร้างชาติฉบับเตโซ!?

อภิญญา ตะวันออก

พอเปิดศักราชใหม่ สมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชาก็ทำให้ฉันอกสั่นขวัญแขวนแทนคนเขมร แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกซะหน่อย แต่ก็เป็นครั้งที่ฉันนึกภาพไม่ออกว่า ต่อไปจากนี้ จะทำอย่างไรดีหนอกับชีวิตที่อยู่เหลืออยู่ ที่กัมพูชา

ต้องขอเล่าว่า วัณณ์ โมลีวัณณ์ เป็นคนหนึ่งที่ทิ้งพนมเปญ-เมืองที่เขาสร้างขึ้นด้วยตัวเองมากมาย ในสถาปัตยกรรมยุค’60 สถาปนิกผู้สร้างเมืองหลวงกัมพูชา ทว่า กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับถิ่นอื่นมากกว่าพนมเปญที่ตนสร้างขึ้น โดยฉากสุดท้ายในลมหายใจของเขาคือเสียมเรียบ

พระบาทพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาเป็นอีกบุคคลที่ไม่ต่างจากโมลีวัณณ์ขุนพลคู่ใจ กล่าวคือ ตรุงไปเสด็จสวรรคตที่อื่นไม่ใช่มาตุภูมิของตน นั่นคือกรุงปักกิ่ง

พนมเปญคือทุกอย่างที่ทั้งสองคนสร้างขึ้นมาในยุค’60 ทุกวันนี้แทบไม่เหลือสิ่งซากใดให้จดจำ แล้วตอนนี้ มันก็กำลังระบาดไปถึงเมืองตากอากาศอย่าง “พนมโบกอร์” ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นเมืองแห่งอีลิต ที่มีแต่เจ้านายชั้นสูงพำนักอาศัย

ก่อนที่พระบาทนโรดม สีหนุ จะขึ้นครองราชย์/1941 พนมโบกอร์ก็เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์พระองค์ก่อนคือ พระบาทสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ผู้ซึ่งกล่าวกันว่าทรงล้มป่วยและตรอมพระทัยที่นี่-พนมโบกอร์ ในทันทีที่ทราบว่า พระตะบอง เสียมเรียบ และศรีโสภณ กลับไปขึ้นตรงกับสยามอีกครั้งหลังฝรั่งเศสแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

แล้วดูเถอะ ผ่านไปไม่กี่ทศวรรษในระบอบสมเด็จ ผู้ปกครองประเทศ ตอนนี้ พนมโบกอร์กำลังจะถูกเนรมิตให้กลายเป็นเมืองตากอากาศในฉบับฮุนเซน

ใดๆ นั้น อัญเจียฯ รู้สึกเหมือนกับว่า โลกใบนี้มีแต่ความว่างเปล่า เอาแน่ใดๆ ไม่ได้ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น พนมโบกอร์นั้น สุดแสนจะยิ่งใหญ่ในสายตาชาวเขมรและนักล่า

พนมโบกอร์ คือสิ่งที่พิสูจน์ของเหล่าผู้ครองนครเสมอมา ตั้งแต่นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสอินโดจีน ไปจนถึงเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ และสมบัติท้ายขณะนี้ที่ตกมาถึงมือคือ สมเด็จเดโชฮุน เซน!

cr : Toonist@rfa

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา/2023 เมื่อเป็นที่เด็ดขาดว่าสมเด็จฮุน เซน ได้ถ่ายผ่านการเมืองแก่ทายาทนายฮุน มาแนต และไม่เพียงทั้งตำแหน่งบรรดาศักดิ์, ผู้นำพรรคและนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ฮุน เซน ยังได้ลงนามมอบอสังหาริมทรัพย์ หรือ “อจลนาตร็อบ” ที่แพงที่สุดของสีหนุวิลล์และเกาะตรงข้าม แก่บรรดาศรีสะใภ้ ภรรยาของลูกชาย ในที่นี้มีลูกสาวคนโตด้วย

แต่ที่ไม่มีใครคาดคิด คือการที่เตโชเสน กล้ามอบที่ดินผืนงามราวกว่า 600 ไร่ของพนมโบกอร์ อันเคยเป็นวนอุทยานเก่าสมัยอินโดจีน และเป็นแหล่งป่าอุดมสมบูรณ์บนเขตภูเขาที่ยื่นออกไปชายฝั่งทะเล และเป็นเขตธรรมชาติแห่งเดียวของกัมพูชาที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก

สมบัติโดยรวมที่ว่านี้ ตั้งแต่ฝรั่งเศสถอนไปสมัยอินโดจีน พนมโบกอร์ก็ไม่เคยได้รับการพัฒนาโดยเอกชนรายใด เนื่องจากเป็น “อจลนาตร็อบ” ของกษัตริย์ และต่อมาสมเด็จฮุน เซน เองก็ดูจะมีอำนาจเหนือราชสำนักไปอีก!

ฮุน เซน เลยมอบเป็นสัมปทานแก่เอกชนเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแมชซิ่งกัมพูชาแห่งใหม่ของกำโปด นับเป็นสมบัติ “ผลัดกันชม” ของชนชั้นเจ้านายจริงๆ สำหรับพนมโบกอร์

อย่าว่าแต่ที่พักร้อนตากอากาศของอีลิตแขมร์เลย แม้แต่เมืองพระนครหรือ “องกอร์” ที่ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลกแล้ว เตโชเสนก็ “เซ็งลี้” ได้

สมกับวาทะ “ประเทศเล็ก แต่ใจใหญ่!” ตามที่สมเด็จฮุน เซน กล่าวตอนพิธีเปิดซีเกมส์ กรุงพนมเปญ แต่พอเห็นภาพดาวเทียมเท่านั้น เราในฐานะคนนอกก็ยังขวัญหายแทนชาวเขมรไม่ได้

เพราะตั้งอยู่หัวมุมริม “บาราย” ปราสาทนครวัดเลยทีเดียวที่มอบให้เอกชนดูแล และแถมเอกชนรายที่ได้สัปทานรายนั้น ยังมีสัญชาติจีนซึ่งมีส่วนร่วมบริหารสนามบินเสียมเรียบแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้การไม่นานมานี้

นับเป็น “ดีลพิเศษ” ที่โนสนโนแคร์ว่า ยูเนสโกอาจถอดมรดกโลกหรือไม่?

และความน่าอับอายที่ตามมาตั้งแต่ตุลาคม คือองค์กรอัปสราที่สมเด็จฮุน เซน ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารอุทยานประวัติศาสตร์ ได้กวาดต้อนเอาผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองพระนครทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่รัฐจัดให้ไปอยู่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตรซึ่งไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ บางครัวเรือนต้องประสบอุทกภัยล้มตายเสียหายในทรัพย์สิน

ซ้ำร้ายกว่านั้น รัฐบาลเขมรและองค์กรอัปสราอ้างว่าทำตามนโยบายของยูเนสโกที่ไม่ต้องการให้ประชาชนอาศัยในละแวกอุทยานทั้งหมด!

ประชาชนราวกว่า 10,000 ครัวเรือน จึงจำยอมรับเงินชดเชยไม่กี่พันบาทที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อีกสิ่งปลูกสร้าง ซ้ำพวกเขายังไม่มีสิทธิ์โยกย้ายทรัพย์สิน/อจลนาตร็อบใดๆ ที่เคยตั้งรกรากมาเป็นชั่วอายุคน ในเขตนครวัด-นครทม

และนี่คือ บันทึกการอพยพครั้งใหญ่ในการตั้งถิ่นฐานประชาชนร่วม 50,000 ชีวิตของเมืองเสียมเรียบ!

เป็นสิ่งที่ขึ้นตรงกับระบอบปกครองของฮุนเซน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนัก “เล่นแร่แปรทุบาย” ทรัพย์สินของแผ่นดินมากมาย แม้แต่ปราสาทนครวัด ก็ยังสามารถนำมาแปรเป็น “อจลนาตร็อบ” ในแบบฉบับของตน?

ถูกแล้ว นี่คือที่สุดของบรรดาผู้นำเขมรทั้งหมดที่มีในประวัติศาสตร์แคมโบเดียปัจจุบัน

และอาจนับได้ว่า อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน “ระบอบฮุนเซน” คือผู้พิชิตแห่งการโลกเมืองเขมรยุคใหม่ในทุกภาคส่วนของศตวรรษที่ 21

และเป็นวิถีการธำรงประเทศในแบบที่เรียกกันว่า “อาณานิคมยุคใหม่!”

cr : Toonist@rfa

และนี่คืออีกโครงการที่น่ามหัศจรรย์ ต่ออนาคตอุทยานประวัติศาสตร์แห่งยุคกลางที่เคยรุ่งเรืองอารยธรรมแห่งภูมิภาคนี้ ภายใต้การกำกับโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและรัฐบาลกัมพูชาและมหาอำนาจจีนที่เผยให้เห็นถึงการเข้ามามีส่วนบริหารนครเสียมเรียบตั้งแต่สนามบินและภาคท่องเที่ยวที่เกี่ยวกันเป็นแพ็กเกจตั้งแต่ปราสาทเขาพระวิหารลงมาถึงเหนือที่ราบทะเลสาบใหญ่

และที่ต้องวิตกเพิ่มขึ้นอีกเมื่อไม่แน่ใจว่า กัมพูชากำลังเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีโครงการขุดคลองแม่น้ำโขง “ฟูนันเตโช” เชื่อมต่อกับ ม.บาสักและอ่าวเรียมของกำโปด อันเป็นที่รู้กันว่ามีท่าเรือน้ำลึก

นี่คือจุดเชื่อมต่อ “ยุทธศาสตร์ทางทะเล” แห่งใหม่ของประธานสี จิ้นผิง กับระบอบสมเด็จ จนเวียดนามต้องร้องขอเขมรรอบนี้ให้ทบทวนโครงการฟูนันเตโช ที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบเส้นทางน้ำแม่โขงในอนาคตและวิถีชีวิตผู้คนรอบๆ แม่น้ำสายนี้

อย่างที่กล่าวว่า ผู้นำสมเด็จแห่งประเทศนี้กำลังสร้างนิยามใหม่ให้กัมพูชาอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และมีแนวโน้มว่าอิทธิพลในโครงการตั้งแต่เหนือจรดใต้, พระวิหาร-เสียมเรียบ-กำโปด กำลังจะส่งสัญญาณบางด้านแห่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าอกสั่นขวัญแขวนหรือเปล่า?

สำหรับ “ประเทศเล็กแต่แบะโดงทม” ของสมเด็จฮุน เซน ในฐานะผู้นำเขมรคนแรก ที่พร้อมจะเล่นเป็นตัวสำคัญในภูมิภาคแห่งนี้ ซ้ำมีความยิ่งใหญ่ ดูจะเหนือกว่าทุกระบอบที่ผ่านมา ไม่ว่าลอนนอล, เขมรแดง หรือแม้แต่ระบอบสีหนุ!

และอาจทะลุเหนือผู้นำทั้งหมดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!

 

สมเด็จฮุน เซน กำลังทะลุเป้าหมายนำพาประเทศไปสู่ความทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่ตนต้องการอย่างน่าทึ่งในความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ยิ่งอ้างในความพยายามเช่นนั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ความมั่นคั่งใน “อจลนาตร็อบ” ของเครือข่ายฮุน เซน ก็ยิ่งจะมากขึ้นไปด้วย ไม่ต่างจากทำให้ประเทศเป็นเหมือนอาณาจักรแห่งการลงทุนในทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทุนขาวหรือทุนดำ ทุนทางการทหารหรือทุนลับลวงพรางที่ผลต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านและขยับถึงภูมิภาค

และนี่คือลักษณะอันพิเศษของผู้นำเขมร ที่กระทำต่อประเทศและพลเมืองของตน จนถึงขั้นถูกเปรียบว่าไม่ต่างจากสมัยพลพต ยุคที่ยกย่องระบบ “นารวม” และมุ่งทำลาย “อจลนาตร็อบ” ส่วนบุคคลอย่างสุดโต่ง แต่ก็จบลงด้วยตราบาปของประวัติศาสตร์กัมพูชาที่ไม่น่าจดจำ?

แล้วระบอบที่ทำทุกอย่างอันตรงข้ามกับพลพตอย่างฮุน เซน เขาควรถูกจดจำในทางใด?

ขอ “แบะโดงทม” จงนำทางไป!?