วงเวียนชีวิต ในวันปีใหม่ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

วงเวียนชีวิต ในวันปีใหม่

วันที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้ เป็นวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2567 ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นศักราชใหม่หมาดๆ

ผมใคร่ขออนุญาตท่านผู้อ่านใช้พื้นที่นี้บันทึกความรู้สึกของผมเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ปีนี้สักหน่อย

อนุญาตนะครับ

เรื่องแรกคือ แต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่ผมเรียนจบและเริ่มทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง กิจวัตรในช่วงปีใหม่อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นของสำคัญมาก คือการแวะเวียนนำของขวัญแม้จะเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม ไปกราบขอพรผู้หลักผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ตามบ้านของท่านที่อยู่คนละมุมเมือง โดยผมผ่อนเวลาให้กระจายไป ไม่รวมอยู่ในวันเดียว

ทั้งนี้ ผมสร้างหลักเกณฑ์ของผมขึ้นมาในการคัดเลือกว่าผมจะไปกราบขอพรใครบ้างโดยถือหลักว่า ถ้าเป็นชั้นลุงป้าน้าอาก็ต้องเป็นพี่น้องกับพ่อแม่ของผม

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องเป็นครูที่มีพระคุณเป็นพิเศษ เช่น เป็นผู้เขียนหนังสือแนะนำรับรองให้ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งๆ ที่คะแนนภาษาอังกฤษของผมอ่อนแอเหลือทน มหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ยังรับผมเข้าเรียนเพราะเชื่อฟังน้ำหนักคำรับรองจากท่านเป็นสำคัญ

ผู้ใหญ่อีกประเภทหนึ่งที่ผมได้เคยไปกราบขอพรปีใหม่ คือคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนที่สนิทเป็นพิเศษ เพราะชีวิตวัยรุ่นสมัยนั้นไม่มีที่ไปเที่ยวเตร่เฮฮามากนัก บ่อยครั้งผมจึงไปเที่ยวกับเพื่อนและพ่อแม่ของเพื่อน

การไปเที่ยวแบบนี้ประหยัดสตางค์มากครับ เพราะไปในฐานะเพื่อนลูก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่เก็บสตางค์เรา

ตอนเป็นเด็กกินของฟรี นอนฟรีมามากแล้ว เมื่อทำงานมีเงินเดือนได้ก็ควรโผล่หน้าไปให้ท่านเห็นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งก็ยังดี

ผมถือหลักปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมาตั้งแต่เป็นเด็กและเติบโตเป็นผู้ใหญ่มาตามลำดับ มาถึงการเถลิงศกปีนี้ ใจหายครับ

ญาติผู้ใหญ่ชั้นลุงป้าน้าอาของผมเหลืออยู่เพียงแค่คนเดียว คือคุณน้าที่เป็นน้องสาวของแม่ และเวลานี้อายุเก้าสิบเศษแล้ว ผมก็ได้แต่ตั้งความหวังว่าขอให้ท่านอายุยืนสัก 120 ปีก็แล้วกัน

ส่วนท่านผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ของผมหรือเป็นพ่อแม่ของเพื่อนนั้น เวลานี้ไม่เหลือใครเลยครับ แม้มีอาจารย์ท่านหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านก็อายุมากและสุขภาพไม่เอื้ออำนวยเสียแล้วที่จะรับแขกเหรื่อ เป็นอันว่าต้องงดไปด้วยความจำเป็น

วันหยุดราชการช่วงเทศกาลปีใหม่สี่วันนี้ ผมจึงมีกิจต้องไปกราบสวัสดีปีใหม่คุณน้าคนเดียวของผมแค่หนึ่งครั้ง

นอกนั้นก็ตั้งตนอยู่โดยชอบที่บ้าน

 

เรื่องมันโอละพ่อแล้วครับ แต่เดิมผมเป็นเด็กต้องแวะไปกราบขอพรท่านผู้ใหญ่ เวลานี้ผมกลายเป็นผู้ใหญ่ต้องนั่งรอให้พรเด็กที่มาสวัสดีปีใหม่อยู่กับบ้าน

วัฏจักรหรือวงเวียนของชีวิตมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

นอกจากการไปอวยพรคนอื่นหรือนั่งอยู่กับบ้านรอให้คนอื่นมาอวยพรแล้ว สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งตามกาลสมัยและอยากจะบันทึกไว้ให้ปรากฏก็คือ การไปลงนามถวายพระพรในวังหลวงหรือพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติสำหรับข้าราชการจำนวนมาก รวมตลอดถึงประชาชนหลายท่านก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ด้วย

เมื่อครั้งที่ผมยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ถึงวันที่ 1 มกราคม ผมจะไปบ้านคุณย่าที่ถนนจรัสเมืองพร้อมกับพ่อแม่ของผมตั้งแต่เช้า สายหน่อยก็จะพบคุณลุงพี่ชายคนใหญ่ของพ่อแต่งเครื่องแบบข้าราชการที่เรียกว่าปกติขาวกลับมาถึงบ้าน

คุณลุงท่านนี้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวง ถึงวันขึ้นปีใหม่อย่างนี้ ท่านต้องเข้าไปในวังหลวงตั้งแต่เช้าเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงบาตรเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นปีใหม่ที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ข้าราชการผู้ใหญ่ทุกกระทรวงต่างมีโต๊ะตั้งของตักบาตรของตัวเองเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล

ธรรมเนียมนี้เลิกไปเสียแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

เมื่อผมเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นมาบ้าง ในเวลาเทศกาลปีใหม่จึงไม่ต้องไปตักบาตรในพระบรมมหาราชวัง เพียงแค่แต่งชุดปกติขาวไปลงนามถวายพระพรในวังหลวงเท่านั้น

สำหรับปีนี้ ถึงแม้ว่าผมเป็นคนนอกราชการแล้วก็ตาม แต่ด้วยความคุ้นเคยของตัวเองก็ยังรู้สึกว่าตราบเท่าที่ยังมีกำลังวังชาเดินเหินได้ก็จะไปลงนามถวายพระพรที่วังหลวงตามเคย

การจราจรสำหรับปีนี้แปลกเปลี่ยนไปหน่อยครับ เพราะรถติดเหลือเกิน ผมทราบข่าวตั้งแต่เมื่อวันวานซึ่งเป็นวันสิ้นปีแล้วว่า ผู้คนจำนวนมากไปวัดพระแก้ว ไปศาลหลักเมืองและสถานที่สำคัญโดยรอบสนามหลวง

ผู้คนจำนวนที่ว่านี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะพวกเราคนไทยด้วยกันเองนะครับ ยังรวมความไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพิ่มจำนวนสถิติเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยสูงสุดในรอบหนึ่งปี

ทุกคนมาแล้วก็ต้องไปวัดพระแก้วสิน่า

และอย่าลืมประชากรแฝงอีกจำนวนหนึ่งคือคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย ที่เห็นได้ชัดเจนคือชาวพม่าครับ วันนี้ผมเห็นคนนุ่งโสร่งเดินไปมาอยู่แถวนั้นจำนวนไม่น้อยเลย

เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางจราจร วันนี้ผมจึงให้รถไปส่งอยู่ตรงเพียงแค่หัวมุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับวัดมหาธาตุฯ จากนั้นผมก็เดินเท้าเข้าไปตามถนนหน้าพระธาตุ ผ่านหน้าตึกถาวรวัตถุไป และได้ทดลองใช้อุโมงค์ลอดถนนหน้าพระลานเป็นครั้งแรก

อุโมงค์ที่ว่านี้พาผมลอดใต้ดินจากฝั่งสนามหลวงแล้วไปโผล่อีกด้านหนึ่งริมกำแพงพระบรมมหาราชวังใกล้กันกับป้อมขัณฑ์เขื่อนเพชร

เมื่อลงบันไดเลื่อนไปถึงใต้ดินแล้ว บ้านนอกเข้ากรุงอย่างผมก็ตื่นเต้นเป็นอันมากเพราะบริเวณใต้ดินนั้นเป็นห้องโถงขนาดใหญ่มีทางเดินแยกไปหลายมุม มีป้ายบอกทางชัดเจนว่าขึ้นทางออกหมายเลขอะไรแล้วจะไปโผล่ตรงไหน มีห้องน้ำให้บริการพร้อมมูล และที่ถูกใจมากที่สุดคือแอร์เย็นครับ

เย็นสบายจนอยากจะนอนหลับสักงีบหนึ่งแล้วค่อยโผล่ขึ้นไปข้างบน

เสียแต่ว่าเกรงใจเครื่องแบบปกติขาวที่ตัวเองสวมอยู่จึงกัดฟันเดินขึ้นไปข้างบนจนได้ครับ

 

เสร็จจากการลงนามถวายพระพรในช่วงเช้าแล้ว ผมกลับมาพักทำนุบำรุงร่างกายอยู่ที่บ้านพักใหญ่ จนบ่ายแก่แล้วถึงออกจากบ้านอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ได้รับเชิญให้ไปพูด ในงานฉลอง 338 ปีวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ (ซึ่งเมื่อเช้านี้ก็เพิ่งเดินผ่านหน้าวัดมาหยกๆ)

ก่อนไปถึงวัดมหาธาตุฯ ผมยังได้ลดเลี้ยวไปกราบพระพุทธสิหิงค์ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ชื่นอกชื่นใจตัวเองเสียวาระหนึ่งก่อน

ที่วัดมหาธาตุฯ ผมได้รับความกรุณาเป็นพิเศษให้ได้พูดในพระอุโบสถ เกิดมาไม่เคยนึกเคยฝันเลยครับว่าจะได้พูดในพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ เบื้องหน้าพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ

พูดเสร็จแล้วคนแก่ยังไม่หมดแรง ผมจึงไปหาอะไรกินมื้อเย็นแถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแล้วเดินข้ามถนนไปกราบพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศนเทพวราราม

เป็นอันว่าวันนี้ช่วงบ่ายผมได้กราบพระสำคัญสามองค์ด้วยกัน ตั้งแต่พระพุทธสิหิงค์ พระศรีสรรเพชญ์ และพระศรีศากยมุนี

ตรงนี้เป็นข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งของผมว่า ในเทศกาลสำคัญเช่นปีใหม่อย่างนี้ มีคนเข้าวัดไปไหว้พระมากเป็นพิเศษ ผู้ที่ไปไหว้พระนั้นมีทุกวัยครับ ตั้งแต่กระย่องกระแย่งไปแบบผม ไปจนถึงเด็กตัวเล็กตัวน้อยที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มหรือจูงมา ถ้าปรากฏการณ์อย่างนี้ยังมีอยู่เรื่อยไป ผมคิดว่าเราคงไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องการนับถือศาสนาพุทธของคนไทยให้มากนัก

นอกจากการไปกราบพระขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว เวลาที่ผมไปถึงวัดสุทัศน์นั้นกำลังมีสวดมนต์พอดี ผู้คนหลายร้อยพร้อมกันสวดมนต์ด้วยความพร้อมเพรียงโดยมีหนังสือสวดมนต์ที่วัดจัดเตรียมไว้ให้แจกเป็นคู่มือ

 

ผมเป็นคนที่มีอาชีพเสริมหรืองานอดิเรกอย่างหนึ่งคือไปเที่ยวพูดตามงานต่างๆ ด้วยหัวข้อที่ตัวเองพอพูดได้พูดไหว แบบแผนการพูดของผมกำหนดไว้กับตัวเองว่า หลังจากพูดอะไรมายาวยืดแล้ว ตอนจบต้องมีการ “ทิ้งท้าย” อะไรสักหน่อยพอให้คนฟังได้ข้อคิด

การเขียนหนังสือผมก็ใช้หลักเดียวกันครับ

เรื่องของการไปอวยพรปีใหม่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การไปลงนามถวายพระพร การไปไหว้พระในวัดวาอารามต่างๆ สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมปฏิบัติเพราะผมเห็นผู้ใหญ่รุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นลุงรุ่นน้าของผมทำมาก่อน วันนี้เป็นเวลาที่ผมเป็นผู้ปฏิบัติเอง สิ่งที่ผมทำก็เป็นสิ่งที่รุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลานหรือลูกศิษย์ของผมได้เห็น ส่วนเขาจะปฏิบัติสืบทอดต่อไปหรือไม่นั้นเราไปบังคับเขาไม่ได้

เรื่องของความเชื่อ เรื่องของประเพณี จะธำรงคงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะด้วยการบังคับ หากแต่อยู่ได้เพราะผู้ใหญ่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กเห็นแล้วว่าทำแล้วมีความสุขกายสุขใจ มีความอิ่มเอิบสบายใจ

ย่อหน้าข้างบนนี้ ถ้าอ่านวนไปวนมาหลายรอบหน่อย บางทีเราอาจจะแก้ปัญหาหลายเรื่องที่หนักอกหนักใจอยู่เวลานี้ได้บ้างกระมังครับ

โปรดลองตรึกตรองดู