ความนิยมรัฐบาลแพ้ก้าวไกล เพราะไม่ชัดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ความนิยมรัฐบาลแพ้ก้าวไกล

เพราะไม่ชัดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าประเทศไทยผ่านปี 2566 ในสภาพที่ความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลลดลงอย่างรวดเร็ว

หลักฐานคือผลสำรวจความเห็นประชาชนทุกโพลเหมือนกันหมดว่าคุณเศรษฐา ทวีสิน, คุณแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยไม่ใช่นักการเมืองอันดับหนึ่งในใจประชาชน

โดยปกติแล้วรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากประชาชน

เหตุผลคือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวแทนของเสียงข้างมากในสภาหรือในคูหาเลือกตั้ง

ใครที่เป็นตัวแทนเสียงข้างมากจึงเป็นคนที่มีประชาชนไว้วางใจสูงสุดโดยปริยาย

อาจมีคนแย้งว่าคุณเศรษฐาได้เสียงข้างมากในสภาจนมีสิทธิเป็นนายกฯ ตามหลัก “ประชาธิปไตยรัฐสภา”

แต่ก็ต้องยืนยันกลับไปว่าคนพูดแบบนี้โกหก เพราะเสียงข้างมากในสภาหมายถึงเสียงจากประชาชนหรือผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือก ไม่ใช่เสียงข้างมากจาก ส.ว.ที่ทหารกลุ่มรัฐประหารเลือกมา

คุณแพทองธารให้สัมภาษณ์สื่อแบบ “สื่อโฆษณา” (Corporate Content) ว่าคนไทยต้อง “มูฟออน” จากวาทกรรมการเมือง ถึงแม้คุณแพทองธารจะไม่พูดว่า “วาทกรรม” คืออะไร ใครที่ฟังคำสัมภาษณ์คงจับได้ว่าหมายถึงการหยุดพูดเรื่องตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

ตราบใดที่คุณแพทองธารยังเข้าใจว่าการข้ามขั้วคือวาทกรรม ตราบนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะไม่เข้าใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยโดยกำเนิดแล้วไม่ได้มาจาก “เสียงข้างมากในสภา” จนมีปัญหาเรื่องความไม่ยอมรับมาโดยตลอด เพราะมือของ ส.ว.ที่โหวตคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ไม่ใช่มือตัวแทนประชาชน

สำหรับคนที่อ้างว่าคุณเศรษฐาได้เป็นนายกฯ เพราะเสียง ส.ส.โหวตมากกว่าเสียงก้าวไกล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ส.ส.เสียงข้างมากโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ จนพิธาควรได้เป็นนายกฯ ไปแล้ว แต่คุณเศรษฐาได้เป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญคุณประยุทธ์เปิดทางให้ ส.ว.ในปีกของคุณประยุทธ์โหวตสกัดพิธา

 

คุณแพทองธารและองคาพยพของพรรคมีสิทธิอ้างว่าการถูกกล่าวหาตระบัดสัตย์เป็นแค่วาทกรรม

แต่ความเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนอย่างสมบูรณ์ทำให้ประชาชนมีเหตุจะไม่ไว้วางใจจนคุณเศรษฐา, คุณแพทองธาร และพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมต่ำกว่าคุณพิธา, พรรคก้าวไกล และคุณศิริกัญญา ตันสกุล

สำหรับคุณเศรษฐา คำถามคืออะไรทำให้ตำแหน่งนายกฯ ไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมให้คุณเศรษฐาเท่าคุณพิธาซึ่งไม่มีตำแหน่งอะไร

สำหรับคุณแพทองธาร คำถามคืออะไรทำให้คะแนนนิยมคุณแพทองธารลดต่ำไม่หยุด เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่คุมทหาร, คุมตำรวจ และคุมงบประมาณ

จริงอยู่ว่าความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลมีขึ้นและลงตามผลงานของรัฐบาลที่มีทั้งดีและเลว

แต่การที่รัฐบาลซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งมาแค่ 4 เดือน มีคะแนนนิยมแบบนี้ไม่ปกติ ไม่ต้องพูดว่าความนิยมที่ดิ่งเหวกันทั้งยวงแบบนี้เกิดทั้งระดับตัวบุคคลและพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อใดที่พรรคฝ่ายค้านคือพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 แต่ไม่ได้ตั้งรัฐบาล และเมื่อใดที่ประชาชนโหวตฝ่ายค้านเป็นนักการเมืองแห่งปีสูงที่สุดในทุกการสำรวจความเห็น เมื่อนั้นก็เท่ากับประชาชนหันหลังให้รัฐบาล, เพิกถอนความไว้วางใจต่อรัฐบาล และมองว่าคำพูดรัฐบาลเริ่มเชื่อถือไม่ได้เลย

 

ทางออกของรัฐบาลเพื่อกอบกู้คะแนนนิยมคือการผลักดันนโยบาย แต่ทั้งที่รัฐบาลเร่งทำนโยบายลดแหลกแจกแถมประเภท Quick Win จนถูกตีความว่าหมายถึงนโยบายทำลวกๆ ความนิยมของรัฐบาลกลับไม่กระเตื้องจนทั้งคนและพรรคพ่ายแพ้ให้กับพรรคที่ไม่ได้คุมเงินและอำนาจรัฐอย่างก้าวไกล

เฉพาะในเรื่องนี้ บทเรียนที่เพื่อไทยควรได้รับคือหมดยุคแล้วที่จะทำนโยบายลดแหลกแจกแถมเพื่อสร้างบุญคุณกับประชาชนจนได้คะแนนเสียงตอบแทน เพราะประชาชนยุคนี้มองว่าการลดค่าไฟค่าพลังงานคือหน้าที่ของรัฐบาล ประชาชนจึงไม่มีหนี้บุญคุณกับรัฐบาลที่ทำตามหน้าที่แม้แต่นิดเดียว

ถ้าเพื่อไทยต้องการฟื้นคะแนนผ่านนโยบาย นโยบายที่พรรคต้องผลักดันคือการ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” แบบที่พรรคก้าวไกลพูดจนได้คะแนนเสียงถล่มทลายและพรรคเพื่อไทยเอาไปพูดต่อ เพราะนโยบายแบบนี้แสดงถึงความริเริ่มของพรรคและความสำเร็จในการทำเรื่องใหม่ที่ยากจริงๆ

องคาพยพของพรรคเพื่อไทยจำนวนมากเชื่อว่าประชาชนสนใจปัญหาปากท้องมากกว่า “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” แบบพรรคก้าวไกล

แต่ถ้าดูคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ร่วงไม่เป็นท่าก็จะเห็นว่าความเข้าใจนี้ผิด หรือหากดูบทเรียนจากความพังของพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติก็ได้เช่นกัน

 

คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ คิดเหมือนพรรคเพื่อไทยว่าการแก้ปัญหาปากท้องจะสร้างคะแนนนิยม ทั้งคู่จึงหาเสียงเลือกตั้งโดยแก้ปัญหาหนี้, ที่ดิน ส.ป.ก., สร้างรถไฟฟ้า, แจกเงินผ่านบัตรคนจน ฯลฯ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวน ส.ส.ที่ต่ำกว่าเป้าอย่างย่อยยับจนทั้งคนและพรรคอวสานทางการเมือง

ถ้าเพื่อไทยหรือรัฐบาลไหนคิดจะโกยคะแนนเสียงด้วยนโยบายนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือการไม่ได้คะแนนอะไรเลยเหมือนกับที่ไม่มีใครจำได้ว่าคุณประยุทธ์ทำรถไฟฟ้าหลายสาย คุณประวิตรแก้ปัญหาที่ดิน หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แจกเงินผ่านนโยบายมิยาซาว่าให้ประชาชน

เส้นทางเดียวที่จะฟื้นฟูความนิยมของรัฐบาลชุดนี้หรือชุดไหนคือการทำนโยบายที่ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” แบบที่ก้าวไกลเรียกร้องกับทุกพรรคการเมือง แต่คำว่าโครงสร้างไม่ได้หมายถึงแค่เรื่อง 112 หรือปฏิรูปกองทัพ หากยังรวมถึงเรื่องอย่างบัตรทอง, สมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า ฯลฯ

ปัจจัยสำคัญสู่การทำนโยบาย “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” คือการผลักดันกฎหมายและงบประมาณ แต่ปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งผลักดันเรื่องเหล่านี้คือการต้องมี “เจตจำนงทางการเมือง” ที่แรงกล้าซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยยังไม่แสดงให้เห็นว่ามีเลย

ด้วยความจริงที่ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยรัฐพันลึกซึ่งควบคุมประเทศผ่านระบบราชการมานาน การผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมีธรรมชาติที่ต้องปะทะ “รัฐพันลึก” และ “รัฐราชการ” ตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการบริหารนโยบายนี้ที่ยิ่งต้องปะทะกับรัฐพันลึกและรัฐราชการโดยปริยาย

เพื่อไทยคิดเรื่องนี้อย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่ทุกคนรู้คือเพื่อไทยไม่มีท่าทีที่พร้อมจะริเริ่มผลักดันความเปลี่ยนแปลงอะไรซึ่งกระทบ “รัฐพันลึก” และ “รัฐราชการ” เมื่อเทียบกับจุดยืนที่เต็มไปด้วยความเกรงใจและการรับฟัง

ที่อาจกระทั่งหมายถึงการยอมจำนนหรือ “ซูเอี๋ย” กับรัฐพันลึกและรัฐราชการ

 

ในการอภิปรายงบประมาณปี 2567 ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หนึ่งในข้อหาที่รัฐบาลเพื่อไทยแก้ไม่ตกคืองบประมาณไม่สะท้อน “นโยบาย” จนเมื่อมองงบฯ ปี 2567 แล้วแทบไม่เห็นภาพว่าอะไรคือ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขมากที่สุดจนถูกกล่าวหาว่าจัดงบฯ ไม่ต่างกับคุณประยุทธ์เลย

คุณศิริกัญญาและคุณชัยธวัช ตุลาธน จากพรรคก้าวไกลอภิปรายได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลเศรษฐารื้องบฯ 2 รอบ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการจัดงบฯ แบบ “ลอกรัฐบาลประยุทธ์” จนงบฯ ส่วนที่คุณเศรษฐาริเริ่มเองแท้ๆ มีสัดส่วนแค่ 1 ใน 4 และไม่สามารถพูดได้ว่างบประมาณปี 2567 สะท้อนนโยบายอะไรที่สำคัญจริงๆ

ตราบใดที่การจัดทำงบประมาณไม่ได้สะท้อนนโยบายรัฐบาล ตราบนั้นนโยบายรัฐก็เสี่ยงต่อการเป็นแค่แผ่นกระดาษที่เป็นแค่คำแสดงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ต้องพูดว่านโยบายรัฐบางกรณีอาจห่วยจนเป็นแค่ที่รวมของแผนงานซึ่งไม่ได้แสดงการ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” อะไรเลย

คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และคุณเศรษฐาพูดถูกว่างบฯ ปี 2567 หลายเรื่องเป็นงบฯ ผูกพันจนเกิดปัญหาอย่างที่คุณชัยธวัชและคุณศิริกัญญาพูด แต่คำอธิบายแบบนี้เป็นได้แค่เชิงอรรถาธิบายปัญหาการจัดงบประมาณที่ก้าวไกลวิจารณ์ ไม่ใช่ทางออก และยิ่งไม่ได้เปลี่ยนทิศทางที่รัฐบาลขาดนโยบายหลักจนความนิยมพัง

พอเสียทีกับการสร้างโจทย์แบบเรียวแคบว่าคนต้องการให้รัฐบาลแก้ “ปัญหาปากท้อง” มากกว่า “ปัญหาเชิงโครงสร้าง”

เพราะถ้าไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ไม่มีทางที่รัฐบาลไหนจะสร้างความนิยมหรือเป็นที่จดจำได้เลย ต่อให้จะทำนโยบายลดแหลกแจกแถมแค่ไหนก็ตาม