นิกเกอิ เผย “เงินเฟ้อ” ในประเทศเอเชียสูงขึ้น เพราะ “ราคาอาหาร”

(Photo by Shammi MEHRA / AFP)

อัตราเงินเฟ้อในไทยในปี 2023 ที่ผ่านมา คาดกันว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 3.1-3.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถึงแม้จะดูดีกว่าอีกหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังคงเป็นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอยู่นั่นเอง

เคนทาโร่ ทาเคดะ กับ มิสะ ฮามะ แห่งนิกเกอิ เอเชีย ระบุเอาไว้ในรายงานเมื่อ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ยังคงแขวนตัวอยู่ในระดับสูงนั้นเป็นเพราะ “ราคาอาหาร” ที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาของ “ข้าว” ธัญพืชอาหารที่สำคัญที่สุดในเอเชีย

ข้าว ราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย

แรกสุดนั้นเป็นเพราะการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากภาวะภูมิอากาศสุดโต่งทั้งหลาย และเมื่อแพงขึ้นก็ยังไม่มีแนวโน้มจะลดราคาลงในระยะเวลาสั้นๆ เหตุผลก็เพราะบรรดาชาติผู้ปลูกและผลิตข้าวเพื่อการส่งออก ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเป็นลำดับแรก ไม่ยอมส่งออกข้าวอีกต่อไป

นิกเกอิระบุว่า ราคาอาหารโดยรวมแพงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในแต่ละประเทศในเอเชียสูงขึ้น

แต่ในสินค้ากลุ่มอาหารทั้งหมด ราคาข้าวที่สูงขึ้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของราคาที่แพงขึ้นของสินค้าอาหารทั้งหมด

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 เมื่อตอนที่ราคาข้าวสาลี กับข้าวโพด วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแป้ง แพงกระฉูดทั่วโลกเนื่องจากรัสเซียส่งทหารบุกยูเครน ตอนนั้นผลกระทบต่อเอเชียทั้งภูมิภาคยังจำกัดอยู่มาก เนื่องจากข้าวสาลีและข้าวโพดไม่ใช่อาหารหลักของที่นี่

สภาพดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มต้นปี 2023 ราคาสินค้าอาหารในเอเชียเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่ราคาข้าวสาลีในตลาดระหว่างประเทศเริ่มลดลง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่บริโภคข้าวมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการข้าวทั้งโลก

ปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ราคาข้าวขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี สูงกว่าราคาเมื่อเดือนมกราคมถึง 40 เปอร์เซ็นต์

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า ผลผลิตข้าวของทั้งโลกในฤดูกาลเพาะปลูก 2022-2023 รวมแล้วทั้งสิ้น 510 ล้านเมตริกตัน ประเทศผู้ผลิตมักเป็นประเทศผู้บริโภคสำคัญ ตัวอย่างเช่น จีน ชาติที่ปลูกข้าวได้มากที่สุดในโลก แต่ไม่เคยส่งออกข้าวสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญเลย

ราคาข้าวในตลาดโลกอ่อนไหวอย่างยิ่ง ขึ้นลงรวดเร็วและรุนแรง ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะในจำนวนข้าวที่ผลิตได้ในแต่ละปี มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะถูกส่งออก ผลลัพธ์ก็คือ ประเทศไหนที่ปลูกข้าวได้ไม่พอกินในแต่ละปี จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลก

 

ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่ออินเดีย ซึ่งส่งออกข้าวคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของข้าวที่ส่งออกทั้งหมด ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวโดยสิ้นเชิง เพื่อดึงให้ราคาภายในประเทศลดลง

อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนพฤศจิกายนในอินเดียยังคงอยู่ที่ 5.6 เปอร์เซ็นต์ สูงสวนเทรนด์ของโลก เพราะราคาสินค้าอาหารรวมทั้งข้าว พุ่งสูงขึ้น คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาทั้งหมด

การเริ่มของอินเดียทำให้หลายประเทศในภูมิภาคดำเนินการตามแบบอย่าง โทรุ นิชิฮามะ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบันวิจัย ไดอิชิ ไลฟ์ เชื่อว่า อินโดนีเซียที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในปี 2024 คงจำกัดหรือห้ามการส่งออกข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวที่ขายอยู่ในตลาดในประเทศให้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ทั้งหมดทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า 2024 อาจจะเป็นปีแห่งวิกฤตข้าว ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 เฟรดเดอริก นิวแมน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำเอชเอสบีซี ระบุว่า ความหวาดผวาต่อวิกฤตทำนองเดียวกันกับเมื่อ 15 ปีก่อนขึ้นอีก เป็นความทรงจำที่ฝังลึกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการโยนเงินทุนเพื่อเก็งกำไรลงไปในตลาด

สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า สภาพการณ์ทำนองเดียวกันเริ่มแสดงให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปี 2023 เมื่อธัญพืชอาหาร 7 ใน 8 ชนิดเริ่มพุ่งสูงเป็นติดจรวด

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญสำหรับชาติในเอเชีย เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของประชาชนที่นี่ เพราะคนในเอเชียส่วนใหญ่แล้วใช้จ่ายเพื่อซื้อหาอาหารคิดเป็นสัดส่วนสูง คืออยู่ระหว่าง 30-50 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายครัวเรือนทั้งหมด

พูดกันตามประสาชาวบ้านก็คือ เราจะเผชิญหน้าภาวะข้าวยากหมากแพงกันตั้งแต่ต้นปี 2024 กันเลยนั่นเอง