จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (2) ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (2)

ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

 

เยลี่ว์ฉู่ไฉได้รับการศึกษาที่ดีจนมีความรู้หลายด้าน เช่น ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โหราศาสตร์ ศาสนาพุทธกับลัทธิเต้า และการแพทย์ เป็นต้น

แต่เนื่องจากในเวลาต่อมาราชวงศ์เหลียวถูกชาวหนี่ว์เจินตีจนล่มสลาย และตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จินของหนี่ว์เจิน ปู่และบิดาของเยลี่ว์ฉู่ไฉจึงรับราชการในราชสำนักจิน

ดังนั้น เยลี่ว์ฉู่ไฉจึงเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการรับใช้จินดังปู่และบิดาของตนเช่นกัน

ตอนที่ทัพมองโกลบุกประชิดพรมแดนของจินใน ค.ศ.1215 เยลี่ว์ฉู่ไฉกำลังประจำการอยู่ที่เมืองเอียน (เป่ยจิงในปัจจุบัน) และเมื่อเมืองนี้ถูกทัพมองโกลตีแตก เขาจึงถูกควบคุมตัวมาเฝ้าเจงกิสข่าน

เวลานั้นเจิงกิสข่านคิดที่จะนำความแค้นที่ชาวคีตันมีต่อจินมาเป็นเครื่องมือ พระองค์จึงเสนอให้เยลี่ว์ฉู่ไฉได้เป็นขุนนาง หากเขายอมร่วมมือกับทัพมองโกลเข้าปราบปรามพวกจินที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อแก้แค้นที่จินซึ่งเป็นชาวหนี่ว์เจินได้ตีและปกครองชาวคีตัน

แต่เยลี่ว์ฉู่ไฉก็ได้ตอบไปว่า “ปู่แลบิดาของข้าพระองค์ต่างเป็นขุนนางของจิน การแก้แค้นจักให้เริ่มเจรจาจากจุดใดฤๅ” คำตอบโต้ด้วยการย้อนถามกลับไปตรงๆ ของเขานี้เป็นที่ชื่นชมของเจงกิสข่าน พระองค์จึงให้เขามาช่วงใช้ใกล้ชิด

และทรงเรียกเขาว่า เจ้าหนวดยาว

คำว่า เจ้าหนวดยาว นี้ภาษามองโกลคือ อูร์ตู ซาคาล (Urtu Saqal) จีนออกเสียงว่า อู๋ถูส่าเหอหลี่ ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะเยลี่ว์ฉู่ไฉมีรูปร่างผอมสูงและมีหนวดยาวลงมาถึงเอว

 

เมื่อสิ้นเจงกิสข่านและโอโกไดก้าวขึ้นมาเป็นข่านสืบต่อ ช่วงนี้เองที่เยลี่ว์ฉู่ไฉได้ใช้จีนานุวัตรกับการปกครองของมองโกล โดยเขาได้สร้างราชพิธีต่างๆ ในราชสำนักขึ้นมา แล้วให้วงศานุวงศ์และเหล่าเสนามาตย์แสดงความเคารพระหว่างกันตามยศศักดิ์

จากนั้นก็ตั้งระบบขุนนางไปประจำตามเมืองต่างๆ ที่มองโกลพิชิตมาได้ โดยแยกกิจการทหารกับพลเรือนออกจากกัน ให้ยุติการเปลี่ยนดินแดนของชาวจีนไปเป็นที่ดินปศุสัตว์ จัดระบบภาษีที่ดินการเกษตรขึ้นที่เมืองเอียนและเมืองอื่นๆ

นำหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อมาใช้ในการปกครอง จัดตั้งศาลบรรพชน สร้างที่พักอาศัย โรงเรียน จัดให้มีการสอบบัณฑิต ดึงผู้หลีกเร้นสันโดษให้ออกมาสู่สังคม เยี่ยมเยียนผู้สูงวัยที่ยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์ก่อน

ยกย่องผู้มีความรู้ความสามารถที่มีศีลธรรม เกลี้ยกล่อมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงตัวไหม กดดันผู้เกียจคร้าน ลดโทษหนักให้เป็นเบา ลดหย่อนภาษี ให้ผู้คนนิยมในชื่อเสียงและเกียรติยศ

ปรับลดข้าราชการที่เกินความจำเป็น ปลดขุนนางที่เหี้ยมโหด ช่วยผู้ยากไร้ และส่งเสริมความกตัญญู ยกเลิกฆ่าล้างเมืองราษฎรในเมืองที่มองโกลบุกเข้าตีและยึดมาได้ที่ถือปฏิบัติกันมานาน

นอกจากนี้ เยลี่ว์ฉู่ไฉยังจัดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ยังผลให้ชนชั้นสูงมองโกลค่อยๆ ทิ้งชีวิตเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ดั้งเดิมของตน แล้วหันมาใช้ชีวิตภายใต้หลักคำสอนลัทธิขงจื่อ

การทำเช่นนี้ส่งผลให้วัฒนธรรมการเกษตรแบบที่ราบภาคกลางของชาวจีนได้รับการรักษาเอาไว้ และกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่การปกครองของกุบไลข่านในเวลาต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เยลี่ว์ฉู่ไฉปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่นั้น โอโกไดข่านกลับทรงดื่มสุราอย่างหนัก จนวันหนึ่งในขณะที่ทรงออกล่าสัตว์และดื่มต่อเนื่องยาวนาน พระองค์ก็สวรรคตหลังจากที่ทรงล้มป่วยเพียงไม่กี่วันในเดือนธันวาคม ค.ศ.1241

ในประเพณีของชาวมองโกลนั้น เมื่อหัวหน้าครอบครัวสิ้นชีพไปแล้ว ผู้เป็นภรรยาม่ายจะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวแทนหากบุตรชายคนโตยังเยาว์วัย รอจนเมื่อบุตรชายโตขึ้นจึงมอบหน้าที่กลับคืนไป

ในกรณีของโอโกไดก็ถือปฏิบัติเช่นนี้ คือเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วมเหสีม่ายของพระองค์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากเวลานั้น กูยูก (G?y?g, ค.ศ.1206-1248) ซึ่งเป็นรัชทายาทยังทรงพระเยาว์

มเหสีม่ายพระองค์นี้มีพระนามว่า โตเรเกน (T?regene, มรณะ ค.ศ.1246) ฝ่ายจีนเรียกพระนางว่า ราชชนนีองค์ที่หก (ลิ่วฮว๋างโฮ่ว)

โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเยลี่ว์ฉู่ไฉก็คือว่า ระหว่างที่โอโกไดยังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ทรงชักชวนพ่อค้ามุสลิมคนหนึ่งที่มีชื่อว่า อับด์ อัล-ราห์มัน (Abd al-Rahman) ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบภาษีขึ้นมาใหม่

ระบบนี้จะใช้กับเกษตรกรและนายเงินชาวจีนใต้ปกครองด้วยอัตราที่สูงขึ้น ระบบนี้จึงยังความล่มจมและเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือของจีนที่ใช้วิธีที่เปิดให้มีการประมูลภาษี

ซึ่งสำหรับพ่อค้าที่มุ่งให้เกิดกำไรสูงสุดแล้วทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ การสร้างระบบที่ขูดรีดชาวจีนใต้ปกครองผู้เคราะห์ร้าย

จากเหตุดังกล่าว ก่อนสิ้นยุคโอโกไดไม่กี่ปี อิทธิพลที่เคยมีของเยลี่ว์ฉู่ไฉจึงค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับการปฏิรูปของเขา

แม้เขาจะยังคงตำแหน่งมหาอำมาตย์ดังเดิม แต่งานในหน้าที่ของเขากลับกลายเป็นโหรประจำราชสำนัก ซึ่งเขาก็ทำอยู่ได้ไม่นาน

 

บทบาทความสำคัญของเขามาสูญสิ้นอย่างถึงที่สุดก็ใน ค.ศ.1241 แม้เมื่อโอโกไดทรงยอมถอนนโยบายการเงินที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก และตัดสินพระทัยปลดอับด์ อัล-ราห์มัน ออกไปจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

เพราะเมื่อพระองค์ทรงฟื้นฟูระบบภาษีขึ้นมาใหม่ก็หาได้เรียกใช้เขา แต่กลับเรียกใช้พ่อค้ามุสลิมอีกคนที่ชื่อ มาห์หมัด ยาลาวัค (Mahmud Yalavach) ซึ่งเป็นชาวเติร์ก แต่ก็ทรงรู้ดีว่าช่วยอะไรได้ไม่มาก

เพราะมาห์หมัด ยาลาวัค ได้ใช้มาตรการที่ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในราชสำนัก และต่อต้านระบบรายได้จากที่ดินศักดินา แต่กลับไม่สามารถลดความรุนแรงของการฉ้อราษฎร์บังหลวงลงไปได้ มาห์หมัด ยาลาวัค ยังคงดำเนินนโยบายของเขาแม้สิ้นโอโกไดไปแล้ว

ส่วนมเหสีม่ายโตเรเกนซึ่งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการนั้น กล่าวกันว่า พระองค์ไม่โปรดเยลี่ว์ฉู่ไฉ