ภาพยนตร์สั้น รางวัล ‘รัตน์ เปสตันยี’ ปี 2566

คนมองหนัง

ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปนั่งชมภาพยนตร์สั้นทุกเรื่องที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของสายการประกวด “รัตน์ เปสตันยี” (หนังสั้นที่ทำโดยบุคคลทั่วไป ไม่ใช่นักเรียน-นักศึกษา) ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 27 ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา

จึงอยากเขียนถึงผลงานที่ได้รับรางวัลในสายการประกวดดังกล่าวประจำปี 2566

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ภูมิกายา

“ภูมิกายา”

หนังสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสายรัตน์ เปสตันยี ในปีนี้ นี่เป็นผลงานการกำกับฯ ของ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ผู้ช่วยคนสำคัญของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ซึ่งเคยทำหนัง “สารคดี” ขนาดยาวเรื่อง “หมอนรถไฟ” เมื่อหลายปีก่อน

กว่าทศวรรษที่แล้ว สมพจน์คือขาประจำที่มักส่งผลงานในแนวทาง “หนังทดลอง” เข้าประกวดสายรัตน์ แต่มาคราวนี้ “ภูมิกายา” กลับกลายเป็น “หนังเล่าเรื่อง” ที่ดูสนุก เพลิดเพลิน และมีเหลี่ยมมุมชั้นเชิงให้ขบคิดตีความได้เยอะแยะมากมาย

หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรก “ภูมิกายา” เล่าเรื่องของตัวละครหลักเป็นชายวัยกลางคน ซึ่งเริ่มมีอาการป่วยไข้เจ็บปวดทางร่างกาย แม้เขาจะใช้ชีวิตกับหญิงคนรักรายใหม่ แต่ใจยังติดบ่วงอยู่กับคนรักเก่าที่เขาเคย “เกือบจะมีลูก” กับเธอ

ชายคนนี้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย คิดว่าถ้าตนเองมีลูก ลูกของเขาควรจะมีชื่อว่าอะไรดี แล้วชื่อของเยาวชนผู้นำม็อบการเมืองต้นทศวรรษ 2560 ก็วนเวียนเข้ามาในหัว (ราวกับว่าอนาคตของลูกเขาคงตีบตันไม่ต่างจากความใฝ่ฝันที่ถูกบอนไซของเยาวชนเหล่านั้น)

อีกด้านหนึ่ง ชายคนนี้ก็มีความเชื่อว่า อาการเจ็บปวดทางร่างกาย ณ ปัจจุบัน อาจเป็น “ผลกรรม” จากการที่เขาไม่ยอมให้ลูกของตัวเองกับคนรักเก่าได้ถือกำเนิดขึ้นมา

ในส่วนหลังของหนัง (ซึ่งมีความยาวน้อยกว่า) เล่าเรื่องของหญิงผู้เป็นคนรักเก่าของชายในครึ่งเรื่องแรก เธอเป็นนักวิชาการที่กำลังเขียนเปเปอร์เรื่องความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านสภาพภูมิศาสตร์ของเมือง และปัจจุบัน เธอมีคนรักใหม่เป็นชายต่างชาติ

สตรีรายนี้กำลังตั้งครรภ์ (หนใหม่) และเธอก็จินตนาการถึงชื่อของลูกที่จะถือกำเนิดขึ้นมาเป็นภาษาฝรั่งเศส

“ภูมิกายา” ฉายภาพให้เห็นสภาวะทับซ้อนระหว่างร่างกายมนุษย์กับเรือนกายของเมือง (ภูมิศาสตร์) ที่มีส่วนกำหนดตัวตน วิธีคิด และความใฝ่ฝัน ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้นๆ

หนังยังกล่าวถึงความย้อนแย้งระหว่างวิธีการมองโลก-วิธีทำความเข้าใจชีวิตที่ผิดแผกต่างกัน (ไสยศาสตร์-ศาสนากับสังคมศาสตร์ หรือชายกับหญิง), ความเหลื่อมซ้อนระหว่างเรื่องราวของปัจเจกบุคคล, ครอบครัว และการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน

แม้โครงสร้างหนังที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน จะทำให้นึกถึง “หนังยาวของอภิชาติพงศ์” อยู่นิดๆ แต่สมพจน์ก็จัดวางโครงสร้างสองส่วนนี้ให้มีทั้งลักษณะ “สมมาตร” และ “อสมมาตร” ได้อย่างทรงเสน่ห์

The Nightmare and a Dream

“The Nightmare and a Dream”

หนังสั้นแนวเล่าเรื่องแบบสัจนิยมโดย “ยอดชาย ครองพื้นพิมาน” (Saw Yot) ที่เล่าถึงชะตาชีวิตของผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศเมียนมา ได้อย่างเรียบง่าย ซื่อตรง จริงใจ ทว่า สามารถสร้างความสั่นสะเทือนทางอารมณ์ได้มหาศาล คือหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศสายรัตน์ประจำปี 2566

“The Nightmare and a Dream” เปิดเรื่องขึ้นมาแบบ “หนังเด็ก” ที่อ่อนเยาว์และงดงาม ท่ามกลางสภาวะยากเข็ญ คล้ายๆ “หนังอิหร่าน” เมื่อหลายทศวรรษก่อน

แล้วหนังก็ซัดคนดูด้วยการเปลี่ยนโทนเรื่องราวเข้าสู่สถานการณ์สู้รบ ที่มีคนต้องอพยพ พลัดพราก บาดเจ็บ และล้มตาย

ในห้วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ดู/บริโภคข่าวสารการสู้รบที่เมียนมา ด้วยสายตา “พระเจ้า” คือจับจ้องมองลงไปจากเบื้องบนว่าฝ่ายไหน (ที่พวกเรารู้สึกว่าล้วนไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรา) จะเป็นผู้ชนะ

หนังสั้นเรื่องนี้กลับพาเราย้อนกลับไปสัมผัส “ปัญหาพื้นฐาน” อีกมุมหนึ่งว่า ผลกระทบที่มนุษย์ธรรมดาๆ (หรือเด็กๆ ที่ยังซื่อใสบริสุทธิ์) มีโอกาสได้รับจากภัยสงครามนั้น มันรุนแรงและน่าโศกเศร้าได้ถึงระดับไหน?

Trip After

“Trip After”

ผลงานรองชนะเลิศอีกหนึ่งเรื่องโดย “อุกฤษณ์ สงวนให้” ซึ่งนำเสนอในรูปแบบคล้ายๆ vlog ที่สืบหาร่องรอยประวัติศาสตร์การฉายหนังกลางแปลงในภาคอีสาน อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการชวนเชื่อโดยรัฐบาลอเมริกัน ระหว่างการทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

นี่ไม่ใช่ผลงานเรื่องเดียวในสายรัตน์ที่มีลักษณะเป็น “ภาพยนตร์ทดลอง” ซึ่งทำงานกับ “จดหมายเหตุ” (archive) เพื่อนำมันมาใช้พิเคราะห์-วิพากษ์สังคมการเมืองจากยุคสงครามเย็นจนถึงบริบทปัจจุบัน

แต่ “Trip After” มีความโดดเด่นแตกต่าง ผ่านการนำพา “จดหมายเหตุ” ออกเดินทางไกล ที่จะมองว่าเป็นการ “ย้อนเดินทางกลับสู่จุดเดิมๆ” หรือเป็นการ “ออกเดินทางครั้งใหม่” ก็ได้

Content ทางกลับแฟลต

“Content ทางกลับแฟลต”

“หนังสั้น” ของ “บุศรา สอนเจริญทรัพย์” และ “อนันต์ เกษตรสินสมบัติ” ที่สะท้อนถึง “สปิริตเฉพาะ” ของเทศกาลภาพยนตร์สั้นได้เป็นอย่างดีและน่าประทับใจ กล่าวคือ มันเป็น “หนังบ้านๆ ของมือสมัครเล่น” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ออกมาเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังและมีอารมณ์ขันไปพร้อมๆ กัน

“Content ทางกลับแฟลต” ถูกนำเสนอเป็นคลิปแนวตั้งสไตล์ติ๊กต็อก ที่เล่าเรื่องราวการเดินเท้ากลับหอพักข้างโรงพยาบาลของเภสัชกรหญิงคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นทั้งผู้เล่าเรื่องและตากล้อง)

หนังพาผู้ชมแวะ “ชมนกชมไม้” อย่างเรื่อยเปื่อย ทว่า เพลิดเพลินและเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นระยะ ด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นไม้ ตู้ปลาสวยงาม ป้อมยาม หรือการทำคอนเทนต์ “แสงเงาตัวเอง” บนพื้นถนน ฯลฯ

ก่อนที่เรื่องชวนขนหัวลุกเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ผูกคอตายเพื่อสังเวยความรักต้องห้ามบนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งตรงละแวกหอพัก จะผุดขึ้นมาในกระแสสำนึกของเภสัชกรหญิง แล้วการหักมุมไปเป็น “หนังแนวฟาวด์ฟุตเทจสยองขวัญ” (found footage horror) อันพิศวงและชวนระทึกใจ ก็พลันบังเกิด!

การได้รางวัลชมเชยในสายรัตน์ของหนังเรื่องนี้ อาจถือเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดสำหรับเวทีการประกวดอื่น แต่ไม่ใช่ขนบที่ผิดแผกสำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์สั้น

ANG48

“ANG48”

“หนังทดลอง” ของ “จุฬญาณนนท์ ศิริผล” ที่นำเอานิยาย “คู่กรรม” นิทานปรัมปราพื้นบ้าน “สังข์ทอง” ประวัติศาสตร์ช่วง “สงครามโลกครั้งที่ 2” และเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลร่างกายของบุคคล (เพื่อใช้ผลิตซ้ำ-สร้างชีวิตใหม่ในสื่อภาพเคลื่อนไหว) มาร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างน่าทึ่ง มีอารมณ์ขัน และมีเอกลักษณ์

นี่คือผลงาน “ส่วนเสี้ยวหนึ่ง” ของโปรเจ็กต์ใหญ่มากที่จุฬญาณนนท์ลงมือทำมาอย่างต่อเนื่องต่างกรรมต่างวาระ ผ่านสื่อภาพยนตร์ นิทรรศการศิลปะ ตลอดจนการนำเสนอบทความวิชาการ

อย่างไรก็ดี งานเสี้ยวนี้มีคุณค่าในตัวเองสูงพอที่จะได้รับรางวัลชมเชยไปครอง

ลำนำหินขาว

“ลำนำหินขาว”

“หนังทดลอง” ของ “มนธิการ์ คำออน” ที่หยิบเอาตัวบทบางส่วนจากนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” โดย “วีรพร นิติประภา” มาเล่าขานซ้ำด้วยสำเนียงลาวชัยภูมิ

คนดูแต่ละรายอาจ “เข้าใจ” หรือ “อิน” กับหนังเรื่องนี้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนน่าจะเห็นตรงกัน ก็คือ “ลำนำหินขาว” ถือเป็น “งานคราฟต์” ที่ถูกผลิตขึ้นอย่างประณีต วิจิตรบรรจง สวยสะดุดตา เพลิดเพลินจำเริญใจ และน่าชื่นชม

แม้จะมีอิทธิพลจากงานของ “คนทำหนัง-ศิลปินรุ่นก่อนหน้า” ปรากฏขึ้นในหนังอย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่ผลงานของมนธิการ์ก็คู่ควรกับรางวัลชมเชยในสายรัตน์ เปสตันยี เช่นกัน •

 

| คนมองหนัง