จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 5-11 มกราคม 2567

 

• เทรนด์ (1)

รายงานภูมิทัศน์สื่อไทย (Thailand Media Landscape 2023-2024)

ซึ่งจัดทำโดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการด้านมีเดียอินเทลลิเจนซ์

พบสื่อไทยในปี 2567 มีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ Fragmentation

หรือความเคลื่อนไหวของสื่อ รูปแบบการเสพสื่อของผู้บริโภค และคอนเทนต์ที่มีการแบ่งกลุ่มแยกย่อยและเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งอัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) หรือเจ็น เอไอ (GEN AI)

นอกจากนี้ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่ดาหน้าเข้าสู่วงการจำนวนมากภายหลังสถานการณ์โควิด

ส่งผลให้สื่อเมนสตรีมและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องแข่งขันกันและทดลองทำคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภค

ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างนำเสนอคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสื่อที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ยูทูบ, อินสตาแกรม, เอ็กซ์ (X), ไลน์ (LINE) และติ๊กต็อก (TikTok)

ทำให้สื่อแต่ละสำนักมีความได้เปรียบในเรื่องของแพลตฟอร์มที่ไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น ปี 2567 จึงเป็นปีที่เรียกได้ว่า ทุกคนมีความพร้อมที่จะแข่งขัน

ส่วนโซเชียลมีเดียนั้น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถครองใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทย

ขณะที่ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในการสร้างรายได้

อย่างไรก็ดี การที่ติ๊กต็อกเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซและผลักดันให้กระแส Live-Commerce หรือการไลฟ์ขายของออนไลน์ถูกใจผู้ใช้งานติ๊กต็อกในไทยที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม

ส่วนอินฟลูเอนเซอร์และกลยุทธ์ Fandom Marketing ถือว่าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและแบรนด์ต่างๆ

โดยในฝั่งของแบรนด์นั้น นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อเข้าถึงและเชื่อมโยงกับผู้เสพสื่อ รวมทั้งกลยุทธ์การทำตลาดกับแฟนด้อมที่มีอำนาจในการซื้อและสนับสนุนเจ้าของด้อมสูง

ส่วนผู้บริโภคหลายกลุ่มเองก็ชอบติดตามข้อมูลข่าวสารจากอินฟลูเอนเซอร์

ท้ายที่สุด สื่อดั้งเดิมอย่างทีวีดิจิทัลก็ยังคงเป็นสื่อที่ได้รับความสนใจจากเอเจนซี่ และผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลเองก็ได้ใช้ความพยายามในการสร้างคอนเทนต์และต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยง หลังจากที่งบประมาณโฆษณาที่ได้รับยังคงทรงตัว

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด

 

โปรดอ่านอีเมล

ฉบับต่อไป

• เทรนด์ (2)

ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ

คาดว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากร 5 คน

ดังนั้น เราต้องมีการเตรียมสุขภาพเพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

และไม่ให้ตัวเราต้องเป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขมากเกินไปอีกด้วย

การดูแลสุขภาพในแบบเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอ

เทรนด์การดูแลสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และจะช่วยให้คนไทยมีอายุยืนยาวได้อย่างมีประสิทธภาพนั้น ได้แก่

1. Holistic health care หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

เทรนด์นี้กำลังเป็นที่สนใจของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยผู้คนกำลังมองหาวิธีการสร้างสมดุลให้กับทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งการรักษาหรือยาอีกต่อไป

2. การดูแลสุขภาพ และโภชนาการแบบรายบุคคล

เทรนด์หนึ่งที่เน้นไปที่การวางแผนโภชนาการที่ปรับให้เหมาะสมกับพันธุกรรม เพศ ชีวภาพ และเป้าหมายด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

3. การฝึกสติ และการสร้างสุขภาพจิตที่ดี

เน้นไปที่การฝึกสติ ลดความเครียด และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

กิจกรรมที่จะช่วยฝึกสติได้ เช่น การทำสมาธิ การทำโยคะ และการฝึกการหายใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก

4. การใช้อาหารเป็นยา

ปัจจุบันการแพทย์ได้วิจัยออกมาแล้วว่าอาหารหลายๆ ชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้

ฉะนั้น การกินอาหารจากธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารเคมี

จะช่วยเสริมสร้างให้ระบบการทำงานของร่ายกายมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่สมดุล และเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

5. การกินอาหารที่ทำมาจากพืช

การกินอาหาร plant-based คือ การกินอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร ถั่ว และธัญพืชที่ไม่ขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุด

มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มการได้รับวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ

ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย

6. การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สมดุล

ความไม่สมดุลของการทำงานในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ

การสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ และช่วยลดความรุนแรงของโรคลง

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าคณะนักวิจัยฯ

บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO

 

การแลเห็นแนวโน้มหรือเทรนด์

โดยเฉพาะ “สื่อ” และ “คน”

คงทำให้เราเตรียมตัว เตรียมใจ

รับมือได้อย่างเท่าทันในปี 2567 นี้ •