‘ที่สุดแห่งปี 2566’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ที่สุดแห่งปี 2566’

 

ฉบับรายการ ‘The Politics’

หมายเหตุ ทีมงานรายการ “The Politics” ที่ออกอากาศทุกเวลา 18.30 น. วันจันทร์-ศุกร์ ทางช่องยูทูบมติชนทีวี จัดอันดับ “ที่สุดแห่งปี 2566” ในความคิดเห็นของตนเอง โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

เหตุการณ์การเมืองแห่งปี

หนึ่ง พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ไม่มีเกจิหรือผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองคนไหน ซึ่งมองว่าพรรคการเมืองพรรคนี้จะได้ ส.ส.มากที่สุด ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม

แต่ท้ายสุด ก้าวไกลก็ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะจุดยืนชัดเจนทางการเมือง บวกด้วยกระแสการขึ้นเวทีดีเบตและคาราวานปราศรัยหาเสียงอันร้อนแรง

สอง อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางกลับไทย หลังจากมีเรื่องเล่าข่าวลือมาพักใหญ่ แถมกรณีหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยตัวจริงเดินทางกลับมาถึงบ้าน พร้อมเงื่อนไขการต้องโทษที่ผ่อนคลายลงไปอย่างมหาศาล ยังเกิดขึ้นพร้อมการจัดตั้ง “รัฐบาลสลายขั้ว” เสียด้วย

นี่คือการปิดฉาก “สงครามสีเสื้อ” จากปลายทศวรรษ 2540 ถึงตลอดทศวรรษ 2550 (ซึ่งนำไปสู่ “ความขัดแย้งชุดใหม่”) และต้องจับตามองว่าเมื่อทักษิณได้รับอิสรภาพเต็มตัวแล้ว ทิศทางการเมืองไทยจะผันแปรไปเช่นไร

จะเห็นได้ว่าทั้งสองเหตุการณ์สำคัญนั้นมีความยึดโยงกัน ดังที่หลายคนมองว่า เพราะพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอย่างพลิกล็อก แผงอำนาจขั้วอนุรักษนิยมจึงต้องหันมาใช้กลยุทธ์-ทางเลือกสุดท้าย คือ การยอมจับมือกับเพื่อไทย-ทักษิณ

คีย์แมนการเมืองแห่งปี

หมายถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (ในกรณีนี้คือการจัดตั้ง “รัฐบาลสลายขั้วหลังเลือกตั้ง”) โดยไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ผิด” หรือ “ถูก”

ผู้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกฯ และองคมนตรี ที่แม้จะนำพรรครวมไทยสร้างชาติแพ้เลือกตั้งยับเยิน ทว่า กลับแก้เกมด้วยการหันไปจับมือร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับทางฝั่งเพื่อไทย

สามารถกล่าวได้ว่า เป็นเพราะประยุทธ์และนักการเมืองในเครือข่ายของเขา “รัฐบาลสลายขั้ว” ชุดปัจจุบัน จึงถือกำเนิดขึ้นได้ (มิใช่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อย่างที่คาดหมายกันระหว่างเลือกตั้ง)

ยิ่งกว่านั้น การเกิดขึ้นของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ยังกลายเป็น “ทางลงจากหลังเสือ” ที่ราบรื่น งดงาม โรยด้วยกลีบกุหลาบของ “คุณลุงคนเล็กแห่งคณะ 3 ป.”

วาทะแห่งปี

“มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” สโลแกนที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประยุกต์-หยิบยืมมาจากเนื้อหาในคอลัมน์ของสื่อสิ่งพิมพ์เจ้าหนึ่ง ก่อนจะใช้มันบนเวทีดีเบต และกลายสภาพเป็น “วาทะสำคัญแห่งยุคสมัย” ที่พาพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ชนะการเลือกตั้ง

นี่คือการประกาศจุดยืนอันชัดเจนของก้าวไกล และเป็นการสร้างแรงกดดันให้ “อดีตพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตย” อย่างเพื่อไทย ต้องฝืนเล่นเกมเดียวกันในระหว่างการหาเสียง

แล้วต้องยอม “กลับคำ” เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” หลังแพ้เลือกตั้ง

 

ดาวร่วงแห่งปี

คนแรก “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ด้วยบทบาททางการเมืองที่หายไปจากสารบบ อาจเพราะอายุมากขึ้น และสุขภาพแย่ลง แต่ที่อาการหนักกว่านั้นคือ แนวคิดของ “สารวัตรเหลิม” ดูจะไม่ค่อยลงรอยกับต้นสังกัดอย่างเพื่อไทยสักเท่าไหร่ แถมลูกชายคนโต “วัน อยู่บำรุง” ก็พ่ายเลือกตั้งอย่างบอบช้ำ

ขณะเดียวกัน แม้เฉลิมยังมีสถานะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทว่า เขาก็ไม่มีตัวตนชัดเจนในสภา เช่นเดียวกับอำนาจบารมีที่ถดถอยลงไปเยอะ

คนที่สอง “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตผู้มากบารมีในพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังการเลือกตั้ง 2566 แม้เจ้าตัวจะยังมีสถานะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ก็คล้ายกลายเป็น “ส่วนเกิน” ใน “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่”

ในเชิงการเมือง ชื่อ “ชวน” ดูไม่เข้มขลังเหมือนเก่า เมื่อคนส่วนใหญ่ในเครือข่ายของนายหัวต่างพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ก่อนจะมาปราชัยอย่างสิ้นเชิงในเกมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

 

ดาวรุ่งแห่งปี

คนแรก “กัณวีร์ สืบแสง” ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม หลังการเลือกตั้ง 2566 (ก่อนที่ “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จะตามมาสมทบ) นักการเมืองหน้าใหม่คนนี้โดดเด่นด้วยบุคลิกการพูดจา มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (ปัญหาสิทธิมนุษยชนและชายแดนใต้) และมีจุดยืนเปิดเผยตรงไปตรงมาทางการเมือง

แม้หลายเสียงจะปรามาสว่า กัณวีร์และเป็นธรรมได้ ส.ส.มาแบบฟลุกๆ เพราะการจับสลากได้เบอร์ต้นๆ ในช่วงหาเสียง แต่เมื่อได้โอกาสเข้ามาทำงานในสภา กัณวีร์กลับใช้โอกาสนั้นอย่างคุ้มค่า ไม่พยายามหาแสงแบบไร้สาระ และไม่ยอมแปรหนึ่งเสียงของตัวเองให้กลายเป็นสินค้าราคาแพงทางการเมือง

คนที่สอง “ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์” หรือ “ทนายแจม” ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ และหน้าใหม่ทางการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้งในเขตสายไหม ที่ว่ากันว่า “หินมาก” และมีเจ้าของพื้นที่ถึงสองคน

เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ทนายแจมก็มีบทบาทการอภิปรายที่โดดเด่น โดยวางฐานอยู่บนความสนใจและความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสตรีและเด็ก ของตนเอง นับว่าไม่จมหายไปกับ “กระแสเบื่อการเมือง” หลังเลือกตั้ง เหมือนนักการเมืองหน้าใหม่ๆ อีกหลายคน

 

คู่ปรับแห่งปี

ยกให้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” กับ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สองคีย์แมนเกมสภาของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย แม้ทั้งคู่ไม่มีซีนปะทะคารม-อารมณ์กันตรงๆ แต่ทุกๆ การตอบโต้กันระหว่างสองพรรคในสภาผู้แทนราษฎร สองคนนี้มักมีบทบาทอยู่ตรงฉากหลังเสมอ

วิโรจน์ถือเป็นตัวชน ตัวประท้วง และกุนซือด้านการอภิปรายให้นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ในก้าวไกล ขณะที่วิสุทธิ์ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.พะเยาประสบการณ์สูง ที่คราวนี้ขยับมาเป็นบัญชีรายชื่อ คอยคุมเกมบอกบทให้นักการเมืองเพื่อไทยรุ่นใหม่ดำเนินกลยุทธ์ “ประท้วงก้าวไกล” แบบไม่ต้องลุกขึ้นอภิปรายเอง

ว่ากันว่า ที่วิโรจน์พลาดท่า “เสียใบแดง” โดยหลุดคำว่า “สันดาน” ใส่ “พัฒนา สัพโส” ระหว่างการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น คนที่เรียกใบแดงจากอดีตแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. มิใช่ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย แต่เป็นแท็กติกของวิสุทธิ์ ที่สร้างความหงุดหงิดใจให้วิโรจน์ได้บ่อยๆ ต่างหาก

 

บุคคลทรงคุณค่าแห่งปี

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชน-นักคิด-นักวิชาการอาวุโส ที่มีงานเขียนและบทสัมภาษณ์กับเครือมติชนมาโดยตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตลงในปี 2566

หลังการสูญเสียอาจารย์นิธิ มีหลายฝ่ายหลายองค์กรที่จัดกิจกรรมรำลึกถึงปัญญาชนผู้นี้อย่างต่อเนื่อง

นี่คือการยืนยันถึงคุณค่าของอาจารย์ เช่นเดียวกับข้อคิด-ความรู้ที่ลึกซึ้งคมคาย ที่ยังนำมาใช้วิเคราะห์หรือครุ่นคิดเดี่ยวกับสังคมการเมืองไทยได้ แม้จะไม่มีคนชื่อ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” อีกแล้ว

 

บุคคลแห่งปี

“อานนท์ นำภา” คือทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ขยับขยายบทบาทการต่อสู้มาสู่การเป็นผู้ปราศรัยหลักบนเวทีม็อบต้นทศวรรษ 2560

เขายอมใช้อิสรภาพของตนเองเข้าแลก เพื่อฉายปัญหาใหญ่มากของสังคมการเมืองไทย ทั้งๆ ที่ยังมีครอบครัวและลูกเล็กๆ รอคอยพ่ออยู่นอกเรือนจำ

นอกจากนี้ อานนท์เป็นนักวิจารณ์การเมืองที่แข็งขัน เขากล้าวิพากษ์ทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลอย่างซื่อสัตย์

ถือเป็นเสียงอิสระของนักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยที่น่ารับฟัง

 

เหตุการณ์ทางสังคมแห่งปี

“คดีกำนันนก” และ “คดีแป้ง นาโหนด” นี่ไม่ใช่แค่กรณีการก่ออาชญากรรมธรรมดา แต่เกี่ยวพันกับปัญหาส่วย ระบบอุปถัมภ์ ระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม

ซึ่งมัดรวมเข้าเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” อันเรื้อรังเน่าเฟะ ที่ไม่เคยถูกแก้ไขเยียวยาของสังคมไทย