PISA ไม่ใช่พิซซ่า ปัญหา ‘ท้าวแสนปม’ ที่แก้ไม่ง่าย

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

PISA ไม่ใช่พิซซ่า

ปัญหา ‘ท้าวแสนปม’ ที่แก้ไม่ง่าย

 

เมื่อประมาณสองเดือนมาแล้วเห็นจะได้ มีข่าวสำคัญในแวดวงการศึกษาว่าคะแนนการประเมินผลการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยในระบบที่เปรียบเทียบกันกับนานาประเทศที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ประเทศของเราได้คะแนนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใส่ใจและปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเสียที

ในฐานะที่กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วผมเคยรับราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ในหน้าที่สำคัญที่เรียกว่า เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการวางแผนนโยบายการศึกษาของบ้านเมืองเรา

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมอยู่ในฐานะที่เป็นจำเลยคนหนึ่งก็ว่าได้

ทั้งก่อนและหลังที่ผมทำหน้าที่ดังกล่าว ผมเคยบอกกับตัวเองว่า ปัญหาด้านการศึกษาบ้านเรานั้นมีสภาพเหมือนท้าวแสนปม ซึ่งเด็กสมัยนี้ก็ไม่เคยเรียนรู้เสียแล้วว่าท้าวแสนปมหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ฟังดูเพียงนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า สภาพปัญหาด้านการศึกษาของไทยเรานั้นผูกเป็นเงื่อนเป็นปมอุตลุดนุงนังไปหมด

ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเดียวโดดๆ ที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ ทุกอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกันไปหมด

ลองขานกันดูไหมครับ เราน่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องคิดต้องทำ

ขึ้นต้นตั้งแต่เรื่องของครู คุณภาพของครู หลักสูตร ปรัชญาของหลักสูตรที่เราจะเน้นให้เด็กไทยมีความคิดวิเคราะห์หรือจะเน้นการท่องจำ ต้นทุนในการศึกษาทั้งส่วนที่เป็นของรัฐและส่วนที่เป็นของผู้ปกครองหรือผู้เรียน โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ฯลฯ

วันนี้มาเปิดอกคุยกันสักเรื่องหนึ่งไหมครับ

 

เอาเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนและเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือเรื่อง โอกาสทางการศึกษา

ลองเปรียบเทียบระหว่างเด็กสองคน

“เด็กคนแรก” เกิดในกรุงเทพฯ ท่ามกลางความรักทะนุถนอมและความพร้อมของครอบครัว

คุณพ่อคุณแม่ทำงานภาคเอกชน สองคนรวมกันเงินเดือนหลายแสน มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียว

ลูกเกิดและเติบโตมาด้วยสุขภาวะที่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการ หลักโภชนาการ เรียกว่ากินดีอยู่ดีมาตั้งแต่เกิด

เมื่อต้องเข้าโรงเรียน จากสติปัญญาของเด็กเองหรือเพราะคุณพ่อคุณแม่ฝากฝังจ่ายเงินพิเศษ หรือทั้งสองอย่างผสมกันก็แล้วแต่ เด็กคนนี้ก็ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ติดอันดับต้นของประเทศ

มีครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา มีห้อง lab มีสระว่ายน้ำ จะไปโรงเรียนกลับจากโรงเรียนก็มีรถคันเท่าบ้านคอยรับส่ง

ถ้าเด็กมีความสนใจพิเศษอยากเล่นกีฬาหรือเล่นดนตรี ทางบ้านก็พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสีย ถ้าทำได้ดีอยากเข้าโปรแกรมพิเศษประเภทนักกีฬาดีเด่นหรือนักดนตรีดีเลิศ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างไร

โรงเรียนที่ว่านั้น ถ้าเป็นโรงเรียนที่เรียกว่าโรงเรียนอินเตอร์ได้ก็ดีนะ ลูกจะได้พูดภาษาฝรั่งคล่องเป็นน้ำ วิธีคิดวิธีเรียนก็ไม่เหมือนโรงเรียนตามหัวเมืองของเรา

จบแล้วจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในหลักสูตรนานาชาติ หรือจะไปเรียนต่ออุดมศึกษาที่ต่างประเทศคุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมจะควักกระเป๋าสตางค์จ่าย

ในสังคมที่ลูกได้รับการศึกษาแบบนี้ ลูกก็จะมีเพื่อนที่มาจากกลุ่มสังคมแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหนก็ไม่มีปัญหา เพราะเด็กก็เก่ง คุณพ่อคุณแม่ก็เก่งไม่แพ้กัน ฮา!

เวลามีแฟนก็เลือกที่เรียนโรงเรียนเดียวกันหรือโรงเรียนระดับเดียวกันนะลูก หลานเกิดมาจะได้สวยหรือหล่อ ฉลาดไม่แพ้พ่อแม่

 

ส่วน “เด็กคนที่สอง” เกิดในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดห่างไกล คุณพ่อคุณแม่ทำนาและรับจ้างอิสระ ซึ่งแปลว่ามีหนี้มหาศาล อย่าว่าแต่ละเดือนจะชักหน้าไม่ถึงหลังเลย มื้อหน้ายังไม่รู้ว่าจะมีอะไรกินเสียด้วยซ้ำ

อาหารอย่างดีวิเศษที่หาได้คือบะหมี่สำเร็จรูป นอกจากนั้นก็หาอะไรกินตามท้องไร่ท้องนา พี่น้องหรือก็มีตั้งสี่คน ได้อะไรมาก็ต้องหารสี่ตลอด

โภชนาการแปลว่าอะไรไม่รู้จัก

โรงเรียนที่เด็กเข้าเรียนอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณสองกิโลเมตร ทั้งขาไปขากลับต้องเดินเท้าหรือขี่จักรยานไปเอง โรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่งถึงประถมหก มีนักเรียนรวมสามสิบห้าคน มีครูสองคน แบ่งเป็นผู้อำนวยการหนึ่งคน และครูผู้น้อยด้อยวาสนาอีกหนึ่งคน ครูทั้งสองคนต้องแบ่งกันสอนทุกวิชาที่มีอยู่ในโลก

เมื่อเรามองโลกในแง่ดี เด็กน้อยหอยสังข์คนนี้เอาตัวรอดมาจากยาเสพติดที่มีอยู่รอบหมู่บ้านได้ก็เก่งแล้ว เพราะเพื่อนอีกจำนวนมากเอาตัวไม่รอด พอจบชั้นประถมปีที่หก คราวนี้เรียนโรงเรียนใกล้บ้านไม่ได้แล้ว ต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนขยายโอกาสซึ่งมีการสอนถึงชั้นมัธยมปีที่สาม ทางราชการท่านบอกว่าเรียนฟรี

แต่คำว่า เรียนฟรี นี่ไม่ได้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงทุกอย่างในชีวิตนะ จะบอกให้

เด็กที่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกันอยู่ห่างไกลมากจากคำว่าเรียนพิเศษ ซึ่งอันที่จริงถ้าการเรียนในชั้นเรียนปกติมีคุณภาพเพียงพอและพอฟัดพอเหวี่ยงกันทั้งประเทศ ก็ไม่รู้จะไปเรียนพิเศษทำไมเหมือนกัน

เด็กจำนวนนี้มีกี่คนที่จะรอดผ่านตะแกรงแห่งความยากจนและขาดโอกาสไปจนถึงการเรียนชั้นอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา

เมื่อถึงวัยทำงานจะมีกี่คนที่มีโอกาสได้งานทำที่จ่ายค่าตอบแทนเพียงพอต่อการยังชีพและสามารถตั้งครอบครัวที่มีคุณภาพขึ้นอีกหนึ่งครอบครัว

สุดท้ายแล้ววงจรแห่งการขาดโอกาสในทุกเรื่องรวมถึงโอกาสในด้านการศึกษาก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

ผิดถูกอย่างไรผมก็ไม่ทราบได้ แต่ผมได้เคยคุยกับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนี้หลายคนร่วมกัน เสียงข้างมากในวงสนทนาแห่งนั้นบอกว่า สำหรับเด็กคนที่หนึ่งและเด็กประเภทเดียวกันซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เราไม่ต้องไปตอแยกับเขาหรอก พ่อแม่และครอบครัวพร้อมจะตอแยและทำทุกอย่างทุกประการเพื่อส่งเสริมโอกาสในชีวิตของเด็กที่มีโอกาสอันมหาศาลเหล่านั้นแล้วให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก

แต่ประเด็นที่เราควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการดูแล “เด็กคนที่สอง” และเพื่อนฝูงของเขาผู้อยู่ในฐานะเดียวกันที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ให้เขาได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกของชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยิ่งเมื่อคำนึงต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า โลกของเราทุกวันนี้เป็นโลกที่การแข่งขันกันเพื่อเอาชีวิตรอดไม่ได้เป็นการแข่งขันเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ต้องมองไปไกลถึงภูมิภาคอื่น เอาแค่เพียงในอาเซียนนี้ แต่เดิมเรานึกถึงสิงคโปร์ประเทศเดียวก็หนักหนาแล้ว

ตอนนี้เวียดนามหายใจรดต้นคอเราหรือเดินไปข้างหน้าแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน

 

พร้อมกันกับที่ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของเราเป็นเรื่องใหญ่และต้องถือเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง สถานการณ์จำนวนเด็กใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดน้อยถอยลง ก็เป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกและอยู่คู่ขนานกันอย่างแท้จริง

สมัยหนึ่งเราเคยมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณหนึ่งล้านคน แล้วจำนวนได้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อสองสามปีก่อนตัวเลขอยู่ที่แปดแสน ปีนี้น่าจะลดต่ำลงไปอีก

ในขณะที่คนแก่อายุยืนอย่างผมมีเพิ่มมากขึ้น ในรอบปีที่ผ่านมาการได้เห็นว่าคนจัดงานฉลองอายุครบ 100 ปี กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว

นั่นหมายความว่าต่อไปโดยสัดส่วนจำนวนประชากร เราจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นแต่คนที่อยู่ในวัยทำงานมีน้อยลง การจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดเก็บภาษีจากคนวัยทำงานมาเพื่อดูแลผู้อยู่ในวัยอาวุโสน่าจะเป็นเรื่องยากลำบากอยู่ไม่ใช่น้อย

ถ้าเรามีคนจำนวนน้อย และไม่ใช่เรื่องที่จะเพิ่มจำนวนคนกันได้ง่ายๆ เรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งคือ การเพิ่มคุณภาพของคนจำนวนน้อยให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

เปรียบกับการขายสินค้าเห็นจะพอได้ครับ ถ้าเราขายสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ ยังไม่ผ่านการแปรรูป ขายเป็นตันได้เงินเป็นหมื่น ที่ไหนเลยจะสู้กันได้กับการขายสินค้าชิ้นเล็กที่เป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นที่ต้องการของโลก ชิ้นเท่าปลายก้อยน้ำหนักนิดเดียวราคาอาจจะเป็นแสนเป็นล้านก็ได้

 

แน่นอนว่าวิธีการเพิ่มคุณภาพคนในประเทศทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้ผลแน่นอนคือการจัดการศึกษา

นี่ก็เห็นใจผู้ที่รับผิดชอบในงานด้านนี้ของประเทศนะครับ พอเห็นคะแนน PISA ออกมานิดน้อยอย่างนี้ หลายคนก็คาดหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะสามารถเข็นคะแนนดังกล่าวให้สูงขึ้นได้ภายในปีหน้าและปีโน้น

เรียกว่าอยากเห็นผลกันทันตาเลยทีเดียว

แต่เราต้องไม่ลืมว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ถ้าเราเริ่มเอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือ “เด็กคนที่สอง” ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเสียแต่บัดนี้ อีกห้าปี แปดปี หรือสิบปี คะแนนเราอาจจะดีขึ้นมาได้บ้าง

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บรมครูด้านการศึกษาท่านเคยเขียนโคลงสี่สุภาพอธิบายไว้และถอดความได้ว่า ผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้กว่าจะออกดอกให้เห็นงดงามได้ต้องใช้เวลานานฉันใด ครูซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษากับเด็กนักเรียนก็ต้องใช้ความอดทนกับการรอผลสำเร็จของการศึกษาด้วยเวลาที่ยาวนานฉันนั้น

หวังว่าเราจะช่วยกันคิดด้วยความรอบคอบและตีโจทย์แตกว่า เด็กคนที่สองควรได้รับโอกาสอะไรบ้างและอย่างไร

คำตอบแบบปลอบใจตัวเองว่า เรามีระบบฟรีอยู่แล้ว เรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่แล้ว เรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่แล้ว และอีกสารพัดคำปลอบใจ

ถามจริงๆ เถิดว่า เราเต็มอิ่มและมีความสุขกับคำตอบเช่นนั้นแล้วใช่ไหมครับ

ท่านใดคิดคำตอบได้ไม่ต้องส่งคำตอบมาที่ผมนะครับ

ขอให้ทุกท่านตอบไว้ในใจของตนเอง และช่วยกันคนละไม้คนละมือให้คำตอบนั้นเป็นจริงขึ้นมาเสียที

คะแนน PISA ที่ไม่ใช่พิซซ่าอาหารอิตาเลียน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่น่าสนใจยิ่งจะได้มีความหมายมากกว่าการเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชั่วครู่ชั่วยามเสียที

พิซซ่าจงเจริญ!