คุยกับทูต | ฟาน จี๊ ทัญ เตรียมอำลาไทย หลังสามปีที่ผูกพัน สานสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม (จบ)

บทบาทในฐานะเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

“พูดโดยรวม ไม่มีความท้าทายใดๆ เกิดขึ้นกับผมในประเทศไทย นอกจากรู้สึกโชคดีมากที่ได้มาอยู่ที่นี่และยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี อาจมีปัญหาบางอย่างซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามให้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต”

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทยเล่าถึงประสบการณ์ในงานที่หลากหลายอย่างน่าสนใจ

“เนื่องจากประเทศของเราทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ทำให้การใช้ชีวิตของผมง่ายขึ้นมาก สามปีที่ผ่านมาตั้งแต่ที่ผมมาประเทศไทยในฐานะเอกอัครราชทูต จึงนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับผมและครอบครัว เพราะผมได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทยตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ”

“ความท้าทายบางอย่างอาจเกิดขึ้นเมื่อเอกอัครราชทูตต้องหาทางแก้ไขเรื่องต่างๆ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติบางประการ ในกรณีของผมบอกได้เลยว่าเป็นความยากลำบากสำหรับเราเพียงใดที่จะบรรลุเป้าหมายในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับสูงสุดในปี 2020-2021”

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

การรับราชการทางการทูตเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ได้เป็นตัวกำหนดปัจจุบันอย่างไร

“แนวทางการเป็นทูตของผมไม่เหมือนข้าราชการอาวุโสกระทรวงต่างประเทศที่ผ่านๆ มา เพราะก่อนหน้าที่จะมาประเทศไทย ผมทำงานเป็นเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้นายกรัฐมนตรี”

“เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ผมมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักการทูต ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับไอดอลนักการทูตที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีความชื่นชมนักการทูตและนักการเมืองที่โดดเด่นของเวียดนามเป็นพิเศษที่ได้ไปเจรจาข้อตกลงสันติภาพเจนีวา (Geneva Peace Agreement) ในทศวรรษ 1950 และข้อตกลงสันติภาพปารีส (Paris Peace Agreement) ในทศวรรษ 1970 เพื่อยุติสงครามความขัดแย้งอันยาวนานในเวียดนามและนำสันติภาพมาสู่ชาวเวียดนาม”

“ผมเข้าร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศเวียดนามในทันทีหลังสำเร็จการศึกษาจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมอสโก ในฤดูร้อนปี 1988 ขณะยังหนุ่มอายุ 25 ปี ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ได้ไปทำงานในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคอาเซียน นักเจรจาการค้า หัวหน้าผู้ประสานงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลระหว่างเวียดนามและต่างประเทศ ไปจนถึงอธิบดีและเลขาธิการในสำนักนายกรัฐมนตรี และนอกจากงานบริการสาธารณะของรัฐแล้ว ผมยังมีโอกาสทำงานเป็นนักกลยุทธ์ระดับองค์กรฝ่ายบริหารปฏิบัติการพิเศษ (SOE) และเป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.”

“ด้านการศึกษา ผมจบด้านการทูตและกิจการระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ และรัสเซีย ได้รับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถาบันการทูตเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam) การที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตและศึกษาวัฒนธรรมทั้งตะวันออกและตะวันตก จึงช่วยสร้างและยกระดับวิถีชีวิตของผมในฐานะเป็นนักระหว่างชาติ (Internationalist) และนักการทูต”

“โดยสรุป การได้รับประสบการณ์ที่ดีทั้งในด้านการบริการทางการทูตและบริการสาธารณะ รวมทั้งประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจและองค์กรระหว่างประเทศ จึงเป็นส่วนที่ทำให้ผมมีพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูต”

กิจกรรมการพักผ่อนของนักการทูต

“ผมอยู่กับครอบครัวที่กรุงเทพฯ เมื่อใดก็ตามที่พอมีเวลาว่าง ก็อยากจะใช้เวลากับครอบครัว หากพูดถึงงานอดิเรก เราก็มีเหมือนกัน และนั่นคือการเดินทาง จุดอ่อนของเราคืออาหารไทย เมื่อใดก็ตามที่โอกาสอำนวย เราจะเดินทางไปด้วยกันนอกเมือง หรือต่างจังหวัด”

“มาถึงเรื่องกีฬา ตอนนี้ผมยังคงเล่นฟุตบอลกับเพื่อนร่วมทีม และบางครั้งก็เล่นกับบรรดาเพื่อนๆ นักการทูตที่ประจำในกรุงเทพฯ ส่วนกีฬากอล์ฟ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ผมมีความสนุกสนาน คลายเครียด ช่วยเติมพลังให้กับร่างกายและจิตใจ”

“ผมมีความสุขมากที่ได้ไปเที่ยวเมืองไทยเกือบ 40 จังหวัดแล้ว ได้เรียนรู้มากมายจากการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และคนท้องถิ่น แถมบางจังหวัดผมมีโอกาสได้ไปเยือนมากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสถานทูตเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกว่า เช่น อุดรธานี ซึ่งผมไปมากกว่า 10 ครั้ง จังหวัดนี้มีชุมชนเวียดนามที่ใหญ่และเข้มแข็งมาก และเราก็มีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับหน่วยงานของรัฐส่วนท้องถิ่น”

“สำหรับระยะเวลาที่ยังเหลือในระหว่างที่ผมดำรงตำแหน่งนี้ในประเทศไทย ก็อยากจะไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ อีกโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้”

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

สิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดเมื่อนึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน

“ความภูมิใจของผมคือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติเรา ชาวเวียดนามมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติของตนในการต่อต้านการครอบงำของต่างชาติ จนบรรลุอิสรภาพ เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศของเราโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก”

“หลัง 78 ปีแห่งอิสรภาพ และ 37 ปีของการปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ยเหม่ย (Doi Moi Reform) เวียดนามได้เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีพลวัตในภูมิภาค”

“ชาวเวียดนามมีจิตวิญญาณแห่งความรักชาติที่หยั่งรากลึก และมีความรักอย่างแรงกล้าต่อสันติภาพ อิสรภาพ และเสรีภาพ พวกเขายึดมั่นในประเพณี ทำงานหนัก และสร้างสรรค์ทั้งในการสร้างและพัฒนาประเทศ วัฒนธรรมอันมั่งคั่งของเวียดนามเน้นที่ความผูกพันในชุมชนและครอบครัว ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเอกลักษณ์ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานของเวียดนาม ซึ่งรวมถึงประเพณี พิธีกรรม คติชน และภาษา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สำคัญ”

“ในโอกาสนี้ ผมขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ขอขอบคุณสำนักพระราชวัง รัฐบาลไทย รัฐสภา กระทรวง จังหวัด และองค์กรต่างๆ ที่ผมได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย”

“นอกจากนี้ ผมขอสื่อสารถึงเพื่อนร่วมงาน เพื่อนชาวไทย เพื่อนชุมชนชาวเวียดนาม ชาวเวียดนามพลัดถิ่น และเพื่อนของชาวเวียดนามในประเทศไทยทุกๆ คน ผมขอส่งความปรารถนาดีและขอบคุณอย่างจริงใจในความเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนแก่สถานทูตของเราในกรุงเทพฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผมจะทำให้ดีที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม เพื่อทะนุถนอมมิตรภาพ ความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกัน ให้ประชาชนของเราได้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นต่อไป” •

นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin