ถือฤกษ์ดีท่องเที่ยวไทย 2567 หวังปีงูใหญ่ ‘ไม่ซ้ำรอยเดิม’ รัฐ-เอกชนประสานเสียงยังเดินต่อไหว

ประเทศไทยวางตำแหน่งให้ภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2508 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 2 แสนคนเท่านั้น ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนปี 2516 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1 ล้านคนเป็นครั้งแรก

โดยหากนับด้วยปีที่ลงท้ายด้วยเลข 1 ได้แก่ ปี 2541 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 8.3 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 0.28 ล้านล้านบาท

ปี 2551 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14.6 ล้านคน มีรายได้ 0.57 ล้านล้านบาท และปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38.3 ล้านคน มีรายได้ 2.01 ล้านล้านบาท

ก่อนที่ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้แตะ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้รวมจากการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทำให้ปี 2566 เมื่อโควิดคลายตัว หลายประเทศปลดล็อกดาวน์ กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดที่เป็นฐานลูกค้าของไทย อย่างจีน ก็อนุญาตให้ชาวจีนออกเดินทางไปต่างประเทศได้

สปอตไลต์แห่งความหวังจากทั่วทุกมุมก็ฉายแสงมายังภาคการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

 

สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงต้นปี 2566 อยู่ในระดับ 5-8 ล้านคน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.25-2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวมก่อนเกิดโควิดเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 30 ล้านคน

แต่จากข้อมูลคาดว่า ตลอดปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยได้ประมาณ 27.63 ล้านคน

สาเหตุที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยยังไม่สามารถกลับมาสดใสได้อย่างเต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไทยมีเหตุการณ์เชิงลบปรากฏในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็เกิดภาพข่าวนักท่องเที่ยวถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ร้านอาหารนายแบบผู้ชายล่อลวงขโมยไต หรือราคาที่เที่ยวไทยปรับขึ้นมาในระดับที่แพงจนสู้ไม่ไหว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูตัวเอง

ก่อนจะมาเจอผลกระทบจากภาพยนตร์ เนื้อหาของภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง พูดถึงคดีอาชญากรรมในอาเซียน

โดยเรื่องแรก Lost in The Star ชื่อภาษาไทยคือ เมียผมหายในหมู่ดาว สร้างรายได้กว่า 3,500 ล้านหยวน

เรื่องที่สองคือ No More Bets สร้างรายได้กว่า 3,700 ล้านหยวน ถือเป็นผลจากหนังที่สวนทางกับรอบแรก เพราะไทยเคยได้รับอานิสงส์เชิงบวกที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนนิยมเข้ามาเที่ยวไทยแบบก้าวกระโดด คือ ภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand

ผลกระทบรุนแรงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อประเทศไทยเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น กรณีกราดยิงที่ห้างพารากอน ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมือง ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความปลอดภัย อย่างตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ทำให้แม้มีการอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้าไทยและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาลท่อเที่ยว (ไฮซีซั่น) ทั้งการให้วีซ่าฟรี หรือยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทย (Visa Exemption) พำนักในไทยสูงสุด 30 วัน

จีน คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน นักท่องเที่ยวรัสเซีย ได้สิทธิพำนักในไทยสูงสุด 90 วัน จากเดิม 30 วัน

นักท่องเที่ยวมาเลเซียได้สิทธิยกเว้นยื่นแบบ ตม.6 ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ที่เป็นยาแรงอัดฉีดให้ภาคการท่องเที่ยวไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่พอเกิดเหตุกราดยิงขึ้น ยาแรงก็ดูเหมือนเอาไม่อยู่ สะท้อนจากข้อมูลตัวเลขท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเกิดเหตุกราดยิง แต่พอเกิดเหตุแล้วก็ทิ้งตัวลง

 

เมื่อมีข่าวเชิงลบที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามในเรื่องความปลอดภัยของไทยอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งเครื่องแก้ไขปัญหาให้ทัน

โดย ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นตามเป้าหมายที่ให้ไว้คือ การสร้างรายได้รวมจากตลาดต่างชาติและไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ทำให้ความปลอดภัยเป็นสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต้องมีความเชื่อมั่น แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จะมีการเดินหน้าฟื้นคืนความเชื่อมั่นกลับมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผลกระทบที่หากมีก็จะต้องอยู่ในระยะสั้นมากที่สุด

ตามนโยบายควิกวิน (Quick Win) ของรัฐบาล ททท.ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวจาก 3 ล้านล้านบาท เป็น 3.5 ล้านล้านบาท

โดยมอบหมายให้ ททท.เร่งเพิ่มรายได้จากฝั่งตลาดต่างประเทศอีก 5 แสนล้านบาท ด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวและวันพำนักในประเทศไทยนานขึ้น

และเมื่อรัฐบาลมอบเป้าหมายใหม่ มองว่าจำเป็นต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย เนื่องจากตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก ประเทศคู่แข่งต่างทุ่มงบประมาณทำการตลาดเพื่ออัดแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดโปรโมชั่นร่วมกับภาคเอกชน

ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาด้านซัพพลาย สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว

 

เป้าหมายในปี 2567 ในกรณีดีที่สุด (Best Case Scenario) จะต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35 ล้านคน เท่ากับว่าจะต้องฟื้นฟูตลาดเพิ่มขึ้นประมาณ 8 ล้านคน ภายใต้ข้อจำกัดของเส้นทางบินบางตลาดมีปริมาณที่นั่งผู้โดยสาร (Capacity) ใกล้เคียงกับภาวะปกติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาดแล้ว

โดยเงื่อนไขข้อนี้มองว่า ท่องเที่ยวไทยยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดความหวัง ด้วยเป้าหมายในปีหน้าที่ตั้งไว้ว่าจะดึงชาวจีนเข้ามาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 4.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับตลอดปีนี้ซึ่งน่าจะได้ 3.5 ล้านคน

ทิศทางการทำตลาดจีนของ ททท. จะเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ หลังเห็นพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป นิยมเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) เป็นกลุ่มขนาดเล็กชัดมาก ขณะเดียวกัน ททท.จะรุกทำตลาดกลุ่มนักเดินทางไมซ์ (การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) มากขึ้น และเล็งดึงเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ในจีนยกมาจัดที่ประเทศไทย เพื่อให้เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Entertainment) เป็นตัวนำการเดินทางของตลาดจีน

รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกเกือบ 4 ล้านคนที่ต้องเบ่งเพิ่มจากตลาดความหวังอื่นๆ ยังมีช่องว่างสร้างการเติบโตในตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งปี 2567 มีความเป็นไปได้เห็นตัวเลขทะลุ 2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปีนี้ที่น่าจะไปถึง 1.5 ล้านคน จากโอกาสในการเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน และขนาดตลาดกลุ่มกำลังซื้อสูงซึ่งปัจจุบันมีประชากรอินเดียกว่า 300-400 ล้านคนเป็นเศรษฐีเงินล้าน (Million Dollar)

ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรป ก่อนหน้านี้ ททท.ตั้งเป้าดึงเข้ามาเที่ยวไทย 7.7-7.8 ล้านคน แต่จะเพิ่มไปเป็น 8.5-9 ล้านคน เท่ากับว่าขยับเพิ่มได้อีก 1 ล้านคน

ส่วนที่เหลือซึ่งต้องเบ่งยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 2 ล้านคน จากตลาดความหวังในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย และ สปป.ลาว รวมถึงเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี

 

สอดคล้องกับ ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่ระบุว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล ยังคงไปได้ดี

เหตุการณ์เชิงลบในด้านความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวผ่านไปบ้างแล้ว

ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดอย่างเรือล่มในหลายจังหวัด และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูญหายไปนั้น ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ควบคุมได้ยาก เพราะสาเหตุมาจากธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์

บรรยากาศจึงดูดีอยู่ ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก รวมถึงแนวโน้มปี 2567 จะต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจร่วมด้วย

โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งสื่อสาร เพื่อทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด

อาทิ การตั้งศูนย์ปฏิบัติการสื่อสารเชิงรุกกับข่าวที่กระจายเร็วในปัจจุบัน