ผลงานประจักษ์ “คะแนนนิยมโค้งสุดท้าย ปี 2566” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

กะบังลมหดเกร็ง ทำงานไม่ปกติ กระเพาะอาหารเกิดระคายเคือง อาการแบบนี้เขาเรียกว่า “สะอึก” ต้องแก้โดยใช้นิ้วอุดหูแล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย หายใจในถุงกระดาษ กันตามๆ

เมื่อ “ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” หรือ “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาสโค้งสุดท้าย ปี 2566” ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม

กับคำถามที่ว่า “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ได้รับคำตอบว่า อันดับ 1 “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำม้วนเดียวจบ ร้อยละ 39.40 อันดับ 2 “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.35 อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้” อันดับ 4 “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 5.75 อันดับ 5 “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 2.40 อันดับ 6 “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.70

ถาม “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้” พบว่า “พรรคก้าวไกล” เข้าวิน อันดับ 1 นำโด่ง ร้อยละ 44.05 อันดับ 2 “พรรคเพื่อไทย” ร้อยละ 24.05 อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 “ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้” อันดับ 4 “พรรคประชาธิปัตย์” ร้อยละ 3.60 อันดับ 5 “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ร้อยละ 3.20

นำผลโพลที่สะท้อนผ่าน “นิด้าโพล” มาวิเคราะห์ตามหลักคณิตศาสตร์ ทั้ง 2 ภาคส่วน คือ “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี” กับ “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้” มาต่อขยายบรรยายสรรพคุณเพิ่ม

ปรากฏว่าน่าตกใจยิ่ง เมื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กับ “พรรคก้าวไกล” กระแสนิยมทิ้งห่างหลายช่วงตัว นำอันดับ 1 จากคำตอบที่ 1 ร้อยละ 39.40 กับคำตอบที่ 2 ร้อยละ 44.05 ยกมาเป็นตัวตั้ง แล้วรวบรวมอันดับที่ 2 ถึง 10 ตัดยอด อันดับที่ 3 ที่ “ยังหาใครที่เหมาะสมไม่ได้” ออก ยังแพ้กันขาดท้าย หายห่วง

ยิ่งน่าประหลาดใจ หากเอาผลคะแนนของศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 มาโฟกัสร่วม เอาสัดส่วน ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อมากางดูหน้าเสื่อ พบว่า “พรรคก้าวไกล” ได้รับเลือกตั้ง 14,438,851 เสียง “เพื่อไทย” ได้ 10,962,522 เสียง “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ 4,766,408 เสียง “ภูมิใจไทย” ได้ 1,138,202 เสียง “ประชาธิปัตย์” ได้ 929,349 เสียง

เอาฐานคะแนนของศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พบว่า “พรรคสีส้ม” แม้จะเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 รวมยอดแล้ว 151 ที่นั่ง แต่ “เพื่อไทย” อันดับ 2 หายใจรดต้นคอ 141 ที่นั่งจาก 2 ระบบ เขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ยกสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของ “รวมไทยสร้างชาติ” มาสบทบแค่พรรคเดียว ก็เพียงพอต่อการเฉือนหวิว “พิธา-ก้าวไกล” ไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ผลจาก “นิด้าโพล” ล็อตล่าสุด รับศักราช 2567 ปีมะโรง หรือ “งูใหญ่” เกิดสภาพแลนด์สไลด์ “พิธา-ก้าวไกล” กลับมีเสน่ห์หวือหวาดีกว่าเดิม ทุกพรรครวมข้าวต้มมัดเข้าด้วยกันแล้ว ยังพ่ายป่าราบ ไม่เห็นฝุ่น

 

สอดคล้องกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อชะแว้บตามไปดูการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่เพิ่งจบลงหมาดๆ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่มีสัดส่วน 7 คน ปรากฏว่ากลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าที่ “พรรคก้าวไกล” ส่งเข้าประกวดในนาม “คณะก้าวหน้า” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ สามารถคว้าพุงปลามันไปได้มากถึง 6 ที่นั่ง ประกอบด้วย “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี-ชลิต รัษฐปานะ-ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน-ศิววงศ์ สุขทวี-นลัทพร ไกรฤษ์-ลักษมี สุวรรณภักดี” สร้างความฮือฮาได้มากพอสมควรเช่นเดียวกัน

“พิธา-ก้าวไกล”กระแสนิยมพุ่งพรวดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เพราะตั้งแต่ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งตั้งลำ ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และ ส.ส.ก้าวไกล เหมือนเหล็กยิ่งทุบยิ่งคม ถูกรุมกินโต๊ะ มีแต่ข่าว “เชิงลบ” คุกคามทางเพศ จนต้องขับออกจากพรรค นอกจากนั้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องเป็นราว

ขณะเดียวกัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.มาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีที่ถูกร้อง ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี ระหว่างอยู่ในกระบวนการไต่สวน ตามโปรแกรมศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ชะตา “นายพิธา” ในวันที่ 24 มกราคม 2567 คอการเมืองพากันลุ้นระทึก ว่าจะรอดหรือไม่รอด ถ้ารอด ก็สามารถกลับสู่สภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ต่อไป

หายใจเข้าหายใจออกไปอีกไม่กี่อึดใจ วันที่ 31 มกราคมปีเดียวกัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่พรรคก้าวไกลถูกร้อง ว่า เสนอนโยบายจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียง เข้าข่ายความผิดฐานใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งล่าสุด “นายพิธา” กับ “นายชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ ได้เดินทางไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาส่งท้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันดังกล่าว

คดีหลัง หากศาลวินิจฉัยว่า “การกระทำเข้าข่าย” จบที่ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำที่เข้าข่ายเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยังไม่ถึงเอวังคือ “ยุบพรรค” แต่ก้าวถัดไป เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว จะต้องมีนักร้องยื่นยุบพรรค ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคคนละ 10 ปี

กรณีที่ว่า หาก “นายพิธา” รอดในคดีหุ้นไอทีวี ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ดุจเดิม “พรรคก้าวไกล” ยังไม่ถูกยุบในตอนนี้ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยก่อน หากเข้าข่าย ต้องมีนักร้องยื่นยุบพรรค และเว้นวรรคกรรมการบริหารพรรค เวลาอีกยาวไกล

ต้นปีงูใหญ่ สภาผู้แทนราษฎรมีหมุดหมายสำคัญอยู่ในหลายกรรมหลายวาระ จอเข้าสู่การพิจารณา ไม่ว่าจะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี-ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าด้วยกระบวนการตรวจสอบทั้งรูปลักษณ์ของการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมตินายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรืออภิปรายโดยไม่ลงมติ

ซึ่งผลงานด้านนิติบัญญัติ ว่าด้วยการตรวจสอบพรรคก้าวไกลเคยโชว์ผลงานเชิงประจักษ์ไว้มากมาย จากสภาชุดที่แล้ว สร้างดาวประดับวงการเมืองได้หลายคน ได้ฤกษ์ได้เวลาโชว์ฟอร์มอีกคำรบ

จะไม่ยิ่งไปกันใหญ่หรือ