มองผ่านสื่ออเมริกัน สิ้นสุด 40 ปี แห่งความรุ่งเรืองของจีน?

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ย้อนกลับไปเมื่อฉบับ 21 สิงหาคม 2566 พาดหัวข่าวว่า

China’s 40-Year Boom Is Over,
Raising Fears of Extended Slump

สิ้นสุดความรุ่งเรือง 40 ปีของจีน
เริ่มต้นความหวาดหวั่นในความตกต่ำที่กำลังแผ่ขยาย

พร้อมพาดหัวรองว่า
ระบบเศรษฐกิจที่นำพาประเทศจีนจากความยากจนสู่สถานะยิ่งใหญ่ได้ล่มสลายแล้ว

เป็นเวลานับทศวรรษที่จีนได้ขยายอำนาจเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในบรรดาโรงงาน, ตึกระฟ้าและถนนหนทาง รูปแบบประกายเจิดจรัสของช่วงเวลาแห่งการเจริญเติบโตที่นำพาจีนหลุดพ้นจากความยากจน ไปสู่ผู้ส่งออกที่ยิ่งใหญ่ส่งสินค้าทั่วโลกนั้น

ณ บัดนี้ รูปแบบนั้นได้ล่มสลายแล้ว

เกิดอะไรขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นในจีนได้หมดสิ้นลง ประเทศจมดิ่งลงในกองหนี้สิน และกำลังหลุดออกจากวงจรการผลิตต่างๆ

หลายส่วนของประเทศจีนกำลังอยู่กับความเศร้าหมองของบรรดาสะพานและสนามบินที่สร้างแล้วไม่ได่ใช้ (under-used) อพาร์ตเมนต์หลายล้านยูนิตที่ว่างเปล่า ผลตอบแทนการลงทุนลดดิ่งลงเหว

สัญญาณปัญหาเศรษฐกิจที่เศร้าหมองของจีนส่งมาจากทั่วท้องถิ่น รวมทั้งมณฑล Yunnan ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์สร้างสถานกักกันโควิด-19 ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 3 สนาม

อย่างไรก็ตาม จีนได้ยุตินโยบาย “zero-COVID” แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน และเช่นเดียวกับที่โลกได้เคลื่อนออกจากช่วงแพร่ระบาดแล้ว

ในส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ก็กำลังทำในสิ่งเดียวกัน ด้วยการลงทุนส่วนท้องถิ่นที่อ่อนแอและการส่งออกที่ลดลง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแถลงว่ามีโอกาสเพียงเล็กน้อยด้วยการกู้ยืมต่อเนื่องและก่อสร้างต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจีนได้เข้าสู่ยุคการเติบโตที่เชื่องช้าแล้ว อนาคตจะเป็นอย่างไร

 

The International Monetary Fund – IMF วิเคราะห์ GDP ของจีนว่าจะเติบโตต่ำกว่า 4% ในปี 2567 ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจุดสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ

สถาบัน Capital Economist แห่งลอนดอน ให้ตัวเลขการเติบโตของจีนว่าจะลดต่ำลงสู่ 3% จาก 5% ในปี 2562 และจะหล่นลงไป 2% ในปี 2573

การ boom ของจีนอยู่ภายใต้การสนับสนุนการลงทุนที่ไม่ปกติของท้องถิ่นทางด้านสาธารณูปโภค (infrastructure) และhard assets ซึ่งมากถึง 44% ของ GDP แต่ละปี ถัวเฉลี่ยจากปี 2551 ถึงปี 2564 เปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของโลกที่เฉลี่ย 25% และแค่ 20% ในสหรัฐ

จากสถิติของ World Bank บอกว่า จีนลงทุนสร้างทางหลวงมหาศาล หลายหมื่นล้านไมล์ (ten of thousands of miles of highways), สนามบินหลายร้อยแห่ง, และสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลักฐานของการสร้าง overbuilding ได้ปรากฏออกมาชัดเจน คือ ประมาณ 1 ใน 5 ของอพารต์เมนต์ในท้องถิ่น (urban China) หรืออย่างน้อยที่สุด 130 ล้านยูนิตถูกประมาณว่าไม่มีการจับจองในปี 2561

จากการศึกษาของ China’s Southwestern University of Finance and Economic ยกตัวอย่างว่า Guizhuo หนึ่งในมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีน มี GDP ต่อหัวต่ำกว่า $7,200 ในปีที่แล้วได้ลงทุนสร้างสะพานมากกว่า 1,700 สะพานและสร้างสนามบิน 11 สนาม มากกว่าจำนวนสนามบินในเมืองใหญ่ 4 อันดับแรกของจีน

มณฑลนี้ได้รับการประมาณว่ามีหนี้สิน 388 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2522 และเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ได้ร้องขอรัฐบาลกลางให้ส่งความช่วยเหลือด้านการเงินมาให้

 

ย้อนไปต้นปี 2543 จู หลงจี ปฏิรูปการเก็บภาษีทั้งประเทศ กำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องส่งรายได้ภาษีให้รัฐบาลกลางครึ่งหนึ่ง แล้วรัฐบาลกลางจะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นเป็นกรณีๆ ไป

รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีต้นทุนคือที่ดินมาพัฒนา รัฐบาลท้องถิ่นทุกแห่งจะตั้ง Local Government Financing Vehicle – LGFV ของตนเอง เพื่อออกหุ้นกู้, พันธบัตร ขายให้ประชาชน เอาเงินมาให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กู้ไปสร้างบ้าน อาคาร คอนโดฯ

มีผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนถีบตัวสูงขึ้น 2 ทศวรรษ

แล้วก็ถึงจุดผกผัน ปัญหาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรากฏ ปี 2008 ลามไปถึงปัญหาการเงิน รัฐบาลกลางต้องแก้ไขปัญหาโดยอัดเงินก้อนใหญ่ให้รัฐบาลท้องถิ่น

ถึงขณะนี้ อสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะแต่ละมณฑลต่างเร่งสร้างขึ้นมา กลายเป็นตึกร้างหลายร้อยล้านยูนิต บางแห่งก็สร้างไม่เสร็จ

มีคนที่กู้ธนาคารไปซื้อบ้าน แล้วบ้านสร้างไม่เสร็จ ไปฟ้องศาล ศาลไม่รับฟ้อง บอกว่าให้ไปประนีประนอมกัน

แต่จะประนีประนอมกับใคร ในเมื่อทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่มีพนักงานเหลือสักคนเดียว

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุด 15 อันดับของจีน “ล้ม” ทั้งหมด บางบริษัท CEO หายตัวไป ไม่รู้โดนรัฐบาล “เก็บตัว” หรือหนีออกนอกประเทศ

การล้มของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เกิดเฉพาะในจีน แต่ลามไปต่างประเทศด้วย เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุดของจีน ชื่อ Country Garden เป็นบริษัทอันดับ 206 ใน 500 อันดับของโลกจากนิตยสาร Fortune บริษัทนี้เป็นเจ้าของโครงการตึกสูงในจีน 187 โครงการ และมีโครงการยักษ์ในมาเลเซีย

 

รายงานของ The Wall Street Journal เรื่อง Huge Ghost City Hunts Troubles Chinese Developer – เมือง (ผี) ร้างสร้างปัญหาให้นักพัฒนาจีน เล่าว่าวิกฤตการเงินของ Country Garden ครึ่งปีแรก 2566 ขาดทุน 6 พันล้านดอลลาร์ และกำลังเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

Country Garden ไม่ได้มีโครงการในจีนอย่างเดียว หากมีโครงการต่างประเทศใหญ่สุดในมาเลเซีย รัฐยะโฮร์ (Johor) ฝั่งตรงข้ามสิงคโปร์ มูลค่าโครงการ 100 พันล้านดอลลาร์ ชื่อโครงการ Forest City, Country Garden ลงทุน 60% บริษัทของรัฐยะโฮร์ลงทุน 40% สร้างตามคอนเซ็ปต์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road)” ของจีน

หลังจากที่ Country Garden ก่อสร้างมาได้เกือบ 10 ปี สภาพของ Forest City แทบจะเป็นเมืองร้าง รายงานของ WSJ บอกว่า โครงการ Forest City ที่คาดว่าจะมีผู้อยู่อาศัน 700,000 คน เกิดร้างผู้คน สะท้อนสิ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งกระชากภาคก่อสร้างที่เคยรุ่งเรืองของจีนให้ร่วงหล่นลงมา คือการกู้ยืมเงินที่สูง, การก่อสร้างที่มากเกินไป ผสมกับภาวะความโชคร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างของจีนที่เมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มีแต่ตึกร้างที่สีหนุวิลล์

โครงการนอกประเทศจีนทุกแห่ง หวังขายให้คนจีนที่มีเงินมาซื้อคอนโดฯ ริมทะเลนอกเมืองจีน ที่มีราคาถูกกว่าคอนโดฯ ริมทะเลนอกเซี่ยงไฮ้ แต่ด้วยนโยบายห้ามคนจีนนำเงินออกนอกประเทศเกินคนละ 50,000 ดอลลาร์ และการมาถึงของโรคระบาด COVID-19 ทำให้ล้มเหลวทุกโครงการ

กล่าวให้ชัดเจน จีนกำลังวิกฤตหนัก การ “ล้ม” ของภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังลามสู่ภาคการเงิน รัฐบาลท้องถิ่นเป็นหนี้หนักมาก LGFV ทุกแห่งเต็มไปด้วยหนี้เสียจำนวนมหาศาลที่ไม่ปรากฏในงบดุลของประเทศ เพราะ LGFV ไม่ใช่ธนาคาร ไม่อยู่ในความควบคุมของแบงก์ชาติจีน หนี้เสียมหาศาลเป็นเงาดำมืดทะมึนปกคลุมภาคการเงินจีน

จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ให้ LGFV

 

ผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมคือ เดือนกันยายน 2566 เงินหยวนร่วงต่ำสุดในรอบ 16 ปี นี่จะไม่ใช่ครั้งแรก ยังจะมีครั้งต่อไปในอีกไม่นานนัก

แบงก์ชาติจีนต้องเข้ามาคุมการเงิน พยายามควบคุมอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ข้อเท็จจริงคือ เศรษฐกิจการเงินจีนอยู่ในรูปออนไลน์เยอะมาก คนมีอำนาจเหนือเงินสด และเมื่อชำระกันเป็นเงินดิจิทัล จึงอยู่ในความควบคุมของรัฐ

ทำให้คนภายนอกมองเห็นปัญหาน้อยมาก

The Wall Street Journal ฉบับ 10 สิงหาคม 2566 พาดหัวว่า

China’s Deflation Deepens Global Risks

“อัตราเงินฝืดในจีน สร้างความเสี่ยงมากขึ้นให้กับทั้งโลก”

พร้อมเสริมว่า เนื่องจากการลดลงในราคาสินค้าอย่างไม่ปกติ ตามด้วยสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน

ราคาสินค้าอุปโภคในจีนเคลื่อนสู่สภาพเงินฝืดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี มีผลให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่เขตอันตราย เป็นภาพเงามืดน่ากลัว เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้สูญเสียแรงขับเคลื่อนมาจากปัญหาภายใน ได้แก่ การส่งออกที่ลดต่ำลงชนิดอัตราเร่ง, อัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงสุดเท่าที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะตกต่ำสุดสุด

WSJ บอกว่าตอนนี้ประเทศจีนกำลังระทมทุกข์กับภาวะราคาสินค้าทุกชนิดตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) เช่น เหล็กและถ่านหิน สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักต่างๆ และของใช้ในบ้าน ล้วนแต่ราคาตกต่ำลง

ซึ่งเป็นสิ่งสวนทางกับชาวโลก

จุดอันตรายของจีนคือ ถ้าสินค้ายังราคาตกต่ำต่อไปเรื่อยๆ จะเข้าไปแทรกแซงอุปสงค์ ทำให้ยอดหนี้เบ่งบานขึ้น จนทำให้ “เศรษฐกิจติดกับ” แก้ไขกระตุ้นได้ยากขึ้น

อัตราหนี้ของจีนสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (gross domestic product – GDP) ถึง 3 เท่าในปี 2565 ตัวเลขนี้สูงกว่าในสหรัฐ

ราคาสินค้าตกต่ำในจีน จะทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ทั่วทุกหนแห่งในโลก เพราะสินค้าส่งออกจากจีนจะราคาถูกกว่า สร้างกระแส “สินค้าจีนราคาถูก” ที่จะทำร้ายการแข่งขันระหว่างประเทศ สร้างการตกงานเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ

ตัวเลขการว่างงานในจีนที่กำลังรุมเร้า เช่น บัณฑิตจบใหม่ในเซี่ยงไฮ้ ได้งานทำแค่ 30%

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเห็นคลิปโฮมเลสในจีนเป็นเด็กสาว 2 คน ปัญหาการว่างงานในคนหนุ่มสาวจีนเริ่มมีมากขึ้น มากขึ้น

 

The Wall Street Journal ฉบับ 6 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวว่า

เวลาของจีนในการแก้หนี้ท้องถิ่นกำลังจะหมดไป
(Clock Is Ticking On China’s Efforts To Stem Local Debt)

จีนกำลังปลดลูกระเบิดการเงินที่จะทำลายสถาบันการเงินทั้งหมด

หัวเมืองและจังหวัดต่างๆ (Cities and Provinces) มีหนี้สะสมจำนวนมากมายที่ซ่อนเร้นไว้นานปี ที่ไม่มีการตรวจสอบการกู้ยืมหรือการใช้จ่ายใดๆ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund – IMF) และ Wall Street Banks ประมาณว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ปรากฏในงบดุลรัฐบาลก้อนนี้อยู่ที่ 7 ล้านล้านเหรียญ ถึง 11 ล้านล้านเหรียญ ($7 trillion to $11 trillion)

ประกอบด้วยพันธบัตร (corporate bonds) ที่ออกโดย Local Government Financing Vehicle – LGFV สถาบันการเงินท้องถิ่นหลายพันแห่ง เงินเหล่านี้ยืมไปสร้างถนน สะพาน สาธาณูปโภคอื่นๆ และอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นเงินทุนเพื่อการใช้จ่ายต่างๆ

ไม่มีใครรู้ว่า ยอดรวมหนี้ทั้งหมดเป็นเท่าไร แต่เป็นที่รู้แจ้งชัดเจนมาร่วมปีแล้วว่า ยอดหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นยังหาตัวเลขได้ไม่แน่นอน

เศรษฐกิจจีนเติบโตเชื่องช้ามาก และประเทศกำลังเผชิญภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งทำให้รัฐบาลท้องถิ่นประสบความยากลำบากที่จะหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยและชำระเงินต้น

WSJ ฉบับนี้ยังรายงานต่อไปว่า วันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 Moody สถาบันจัดอันดับได้ลดเกรด outlook ของเครดิตเรตติ้งจีน

จาก stable ลงมาเป็น negative หรือจากมั่นคง ลงมาเป็นติดลบ

Moody อธิบายว่า เกิดจากความตึงเครียดทางการเงินของสถาบันการเงินท้องถิ่นและรัฐบาลท้องถิ่น จะเรียกร้องให้ “ปักกิ่ง” ต้องให้ความช่วยเหลือพวกเขา

และนั่นจะทำให้เศรษฐกิจจีนลดต่ำลง (slowing) อย่างน่ากลัว

สอดคล้องกับข่าว สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ปราศรัยในที่ประชุมคณะกรรมการการเมือง หรือโปลิตปูโร แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อ 8 ธันวาคม 2566 ว่า

“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต…”

 

มีข่าวชิ้นเล็กๆ อีกข่าวที่เสริมสร้างบอกเล่าถึงการล่มสลายของเศรษฐกิจจีนได้เป็นอย่างดี คือ

กลางเดือนธันวาคม 2566 Fox News เสนอภาพข่าวผู้หลบหนีเข้าเมืองสหรัฐว่า สัปดาห์ที่แล้วมีผู้หลบหนีเข้าเมืองทางด่านชายแดนด้านใต้จำนวน 144,000 คน

พร้อมบรรยายภาพข่าว Migrants คนจีนหลายสิบคนหลบหนีเข้าเมืองทางด่าน San Diego รัฐแคลิฟอร์เนีย

ข่าวบอกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ มีคนจีนหลบหนีเข้าสหรัฐผ่านทางประเทศเม็กซิโก 22,000 คน มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึง 13 เท่า

ไกลขนาดไหน ลำบากแสนสาหัสเพียงใด ก็ขอฟันฝ่าหนีจากเศรษฐกิจจีนแสนยากลำบาก เข้ามาอเมริกาให้จงได้