ยุทธการ 22 สิงหา ‘คมช.’ ร้องเพลง อำลา บทใหม่ สมัคร สุนทรเวช

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี อันถือได้ว่าเป็น “คณะรัฐมนตรี สมัคร 1” ประกาศขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551

ความแจ่มชัดในเรื่อง “โครงสร้าง” แห่ง “อำนาจ” ก็ “เผยแสดง”

นั่นย่อมเห็นได้จากตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” เริ่มจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นี่คือสามีของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

ตามมาด้วย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ตามมาด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นี่ย่อมเป็นสัดส่วนของ “พรรคพลังประชาชน” โดยตรง

 

พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็เรียงตามลำดับไหล่จากพรรคชาติไทยไปยังพรรคมหาชน และปิดท้ายด้วยพรรคเพื่อแผ่นดิน

นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทย

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคมหาชน

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจากพรรคเพื่อแผ่นดิน

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการคนหนึ่ง นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร จากพรรคชาติไทย ขณะที่อีกคนหนึ่ง นายธีระชัย แสนแก้ว จากพรรคพลังประชาชน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ จากพรรคชาติไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ จากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เด่นชัดยิ่งว่าพรรคชาติไทยปักหลักที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาปักหลักที่กระทรวงพลังงาน พรรคเพื่อแผ่นดินปักหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรม

พรรคประชาราช นางอุไรวรรณ เทียนทอง กระทรวงแรงงาน พรรคมัชฌิมาธิปไตย นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านหลัก กระทรวงหลักเป็นของพรรคพลังประชาชน

 

นั่นเห็นได้จาก นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยมี นายสุพล ฟองงาม นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ จากพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่น่าจับตามองคือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี จากพรรคพลังประชาชน นายอนุรักษ์ จุรีมาศ จากพรรคชาติไทย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

นอกเหนือจาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล อันถือว่าเป็นมือกฎหมายได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเป็นของ นายจักรภพ เพ็ญแข

 

สายตาของสังคม สายตาในทางการเมืองทอดไปยังบทบาทของ นายสมัคร สุนทรเวช อย่างไม่ต้องสงสัย

ไม่ว่า “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

ขณะเดียวกัน การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็มีความสำคัญ

แต่ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษยังเป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์

ร่ำลือกันว่าบทบาทของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ มีเป็นอย่างสูงจากความเป็นคนใจถึง พึ่งได้

เชื่อกันว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” ท่อใหญ่ในห้วงแห่งการเลือกตั้งไหลมาจาก นายสันติ พร้อมพัฒน์ แฟ็กชั่นอันมีฐานที่มั่นอยู่เพชรบูรณ์ แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมฉายจับอย่างจดจ่อเป็นพิเศษ

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

อันเคยเป็นของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อันเคยเป็นของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีตำแหน่งใดๆ ใน “คณะรัฐมนตรี” มาก่อน

และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลอันมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเอง เท่ากับเป็น “กระดานหก” ในทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้ที่ยืนของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ มีความแข็งแกร่งตราบทุกวันนี้

 

ขณะที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีประกาศขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ อีก 1 วันต่อมาคือวันที่ 6 กุมภาพันธ์

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ในฐานะ “คมช.” ก็แถลงยุติบทบาท

ประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ส.ส.และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

“คมช.ยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างบนพื้นฐานความถูกต้อง มีกฎหมายรองรับและเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ

ยอมรับว่าภาพรวมยังไม่สามารถทำให้เกิดผลสูงสุดตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ทุกประการเพราะหลายปัญหาจำเป็นต้องใช้เวลา กลไกทั้งกฎหมายและองค์กรรัฐ ตลอดจนความร่วมมือจากหลายฝ่ายทำให้ไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาสั้น

คมช.จะหมดภาระหน้าที่ไปตามรัฐธรรมนูญ กลับไปเป็นกองทัพของชาติและประชาชน”

 

ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปตามวัฏจักรแห่งอำนาจ ดำรงอยู่ในลักษณะอันสรุปได้ว่าเป็น “สมบัติผลัดกันชม”

นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า “คมช.” เกิดขึ้นบนภาคธุระอะไรในทางการเมือง

โดยพื้นฐานย่อมเป็นการโค่นล้มและกวาดล้างอำนาจทางการเมืองที่วางรากฐานอยู่กับพรรคไทยรักไทย

นั่นคือ ปรปักษ์ในทางการเมืองที่จะต้องจัดการ

ขบวนการจัดการต่อพรรคไทยรักไทยและต่อ นายทักษิณ ชินวัตร จึงถูกวางแผนมาอย่างแยบยล

เริ่มต้นจากกระบวนการในภาคประชาชน ภาคการเมือง

เห็นได้จากบทบาทของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เห็นได้จากการเข้าไปหนุนเสริมกึ่งเปิดเผย กึ่งลับของบางพรรคการเมือง

เมื่อได้จังหวะอันเหมาะสม “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) จึงขยับ

นั่นก็คือ รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อันมีรากฐานมาจาก “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ”

นายกรัฐมนตรีจึงเป็น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

 

ไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในระดับ นายทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถอ่านการเมืองออก

อ่านทะลุจาก “ทำเนียบรัฐบาล” ไปยัง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

นายทักษิณ ชินวัตร สามารถหวนคืนสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบด้วยอำนาจของรัฐประหาร

เครื่องมือใหม่ย่อมผาดโผนผ่าน “พรรคพลังประชารัฐ”

เครื่องมือใหม่นี้ย่อมอยู่ในการบริหารจัดการจากผู้มากประสบการณ์ระดับ นายสมัคร สุนทรเวช ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

รวมถึง นายเนวิน ชิดชอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี