คณะทหารหนุ่ม (72)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

คณะทหารหนุ่ม (72)

 

สภาผู้แทนราษฎร

ความหวังที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนนี้จึงขึ้นอยู่กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2524 ว่าจะผ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 นี้หรือไม่ ซึ่งเชื่อได้ว่าคงผ่าน

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับ 8 ผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้รายงานตัวต่อทางราชการหรือไม่ อย่างไร

ตามกลไกแห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ฝ่ายบริหารสามารถออกกฎหมายในลักษณะ “พระราชกำหนด” ได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนโดยมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไป แต่จะต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป

นอกจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรยังมีอำนาจที่จะ “แก้ไขเพิ่มเติม” พระราชกำหนดนั้นเพื่อให้เป็นพระราชบัญญัติที่มีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์อีกด้วย

 

13 พฤษภาคม 2524

ดร.บุญชนะ อัตถากร ซึ่งยังอยู่ที่กรุงลอนดอน ได้บันทึกความเคลื่อนไหวในไทย หลังพระราชกำหนดนิรโทษกรรม 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 มีผลบังคับใช้ ยกเว้น 8 ผู้ต้องหาที่ไม่รายงานตัวซึ่งรวมถึง ดร.บุญชนะ อัตถากร ด้วย ดังนี้

“1. คุณไตรรงค์ (สุวรรณคีรี) โฆษกของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า บุคคล 8 คนที่ไม่อยู่ในข่าย

นิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ที่ประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 นั้น ถ้ามอบตัวในขณะนี้ ทางรัฐบาลก็จะให้ความกรุณาผ่อนผันให้ได้รับนิรโทษกรรมได้ แต่ทักษิณา (บุตรสาว ดร.บุญชนะ/บัญชร) บอกว่าคำพูดนี้คงจะเอาเป็นที่เชื่อถือยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงไม่ควรกลับไปในขณะนี้ จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเป็นที่แน่นอนหรือมีกฎหมายออกมาเสียก่อน

2. คุณเดโช (บุตรเขย ดร.บุญชนะ/บัญชร) ได้เล่าให้ฟังว่า คุณคึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้ให้สัมภาษณ์ว่า ก็เมื่อจะนิรโทษกรรมบุคคลที่กระทำการยึดอำนาจทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ควรจะไปยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นคุณสัณห์หรือคุณบุญชนะก็ตาม บรรยากาศในหมู่สมาชิกรัฐสภาขณะนี้เห็นว่าควรจะยกโทษหรือนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่มีส่วนในการปฏิวัติแท้งเหล่านี้ และควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ แนวโน้มในขณะนี้จึงเป็นว่าทางสภาจะมีผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมในการปฏิวัติแท้ง เมื่อ 1 เมษายน 2524 ทุกคน ในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่รับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อ 5 พฤษภาคม 2524 นั้นด้วย การประชุมร่วมทั้ง 2 สภาในวันพฤหัสบดีที่ 14 นี้คงจะยังไม่มี แต่คงจะมีในวันที่ 21 เดือนหน้า

3. ข้าพเจ้าได้เล่าให้เดโชฟังว่าเมื่อวานนี้ บูรพา (บุตรชาย ดร.บุญชนะ/บัญชร) ได้พูดกับ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ทางโทรศัพท์ คุณทวีเห็นในหลักการว่าจะต้องนิรโทษให้แก่ทุกคนโดยไม่ยกเว้น ได้พูดกับสมาชิกสภาหลายคนแล้วเห็นว่าคงจะต้องรับรองพระราชกำหนดนิรโทษกรรมไปก่อนแล้วจึงมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลทั้ง 8 ในภายหลัง

ความเห็นของคุณทวีนี้ดูก็จะแตกต่างกันเฉพาะในเรื่องการเสนอกฎหมายเท่านั้น แต่หลักการที่จะให้นิรโทษกรรมแก่ทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นนั้นตรงกันทุกคน

4. คุณเดโชบอกด้วยว่าได้พบและนำจดหมายของข้าพเจ้าไปให้คุณสมภพ โหตระกิตย์ ด้วย

แล้วเขาบอกว่าได้คิดและหาทางให้มีการยกเว้นโทษกับบุคคลทั้ง 8 ที่ พ.ร.ก.ไม่คลุมถึงอยู่แล้ว ข้าพเจ้าจึงควรรอจังหวะนั้นก่อน ระหว่างนี้ควรอยู่ในอังกฤษต่อไปก่อนและควรระวังเรื่องสุขภาพให้ดี

5. เมื่อเช้าวานนี้ ข้าพเจ้าได้จดหมายถึงรัฐมนตรี มีชัย ฤชุพันธุ์ ให้ทราบความคิดของข้าพเจ้าว่า ถ้ารัฐบาลคิดจะยกเว้นโทษแก่บุคคลทั้ง 8 อีกก็น่าจะเสนอเป็นพระราชบัญญัติกำหนดเงื่อนไขให้บุคคลทั้ง 8 ปฏิบัติก็น่าจะทำได้ ข้อนี้ก็ดูจะใกล้เคียงกับความคิดตามข้อ 1 ที่ว่าควรจะออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอีกฉบับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ถึงกับจะไม่รับพระราชกำหนดนั้นเสียเลย

7. คุณเดโชบอกด้วยว่า ขณะนี้รองนายกฯ ประมาณ อดิเรกสาร ไปราชการที่ญี่ปุ่น และว่า พวกปฏิวัติแท้งที่ถูกปล่อยตัวจากที่คุมขังตาม พ.ร.ก.นั้นได้รวมตัวกันขอเข้าเฝ้าฯ ในหลวง แต่ในหลวงยังไม่โปรดให้เข้าเฝ้าฯ

8. ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2524 คุณสุวิทย์ ยอดมณี และคุณจิ๋มมาลอนดอนตั้งแต่ 9 พฤษภาคม 2524 ได้โทรศัพท์มาและภายหลังได้ไปคุยกันที่โรงแรม Athenium บอกข้าพเจ้าว่าก่อนเดินทางได้ไปในงานรับรองแห่งหนึ่ง ได้พบกับคุณเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า พรรคจะเสนอ พ.ร.บ.ให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ปฏิวัติ 1 เมษายนทั้งหมด ทราบว่าพรรคกิจสังคมก็มีความคิดอย่างเดียวกัน คุณสุวิทย์ได้พบกับรัฐมนตรีมีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วย คุณมีชัยเป็นผู้ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับนั้น เขาได้พูดกับนายกฯ เปรมว่า ควรจะนิรโทษให้ทั้งหมด แต่นายกฯ เปรมบอกว่าเห็นด้วย แต่ให้เอาเท่านั้นไปก่อน

ข้อนี้สอดคล้องกับที่ทักษิณาและคุณเดโชบอกมา จึงเชื่อว่าแนวโน้มนิรโทษให้แก่ทุกคนที่เข้าร่วมปฏิวัติแท้งคงจะเป็นเรื่องจริงอยู่ที่เวลาเท่านั้น”

เห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่มีความโน้มเอียงให้นิรโทษกรรมต่อผู้ก่อการทั้งหมด รวมทั้ง 8 คนที่ยังไม่รายงานตัวด้วย แต่ติดขัดที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งแสดงความเห็นต่อข้อเสนอของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้นิรโทษกรรมทั้งหมดว่า “เห็นด้วย แต่ให้เอาเท่านั้นไปก่อน”

ดร.บุญชนะ อัตถากร ได้เขียนบันทึกไว้อีกเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2524 ว่าขณะที่ทางประเทศไทยมีการแสดงความคิดเห็นในกรณีพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ซึ่งต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบรัฐสภาเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2524 แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ได้รายงานตัวต่อทางราชการ

 

อนึ่ง ดร.บุญชนะ อัตถากร ได้เข้ารายงานตัวต่อสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2524 หลังทราบว่ามีคำสั่งจากรัฐบาลให้ไปรายงานตัว

บันทึกมีใจความดังนี้…

“ระหว่างข้าพเจ้าอยู่ที่อังกฤษได้ขอความเห็นไปยังกรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาบางท่านเกี่ยวกับผลของพระราชกำหนดนิรโทษกรรม พ.ศ.2524 ได้รับคำตอบดังต่อไปนี้

ความเห็นคนที่ 1…

ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมถึงผู้ที่มิได้รายงานตัว 8 คนด้วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นการนิรโทษกรรมจากกรณีที่เกิดขึ้นกรณีเดียวกัน เมื่อถือว่าการกระทำเกี่ยวกับกรณีนั้นไม่เป็นความผิดก็ต้องถือว่าการกระทำของผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นทุกคนไม่เป็นความผิดด้วย

การเลือกถือว่าคนที่มีพฤติการณ์อย่างนั้นไม่เป็นความผิด อย่างนี้เป็นความผิด น่าจะไม่ชอบด้วยหลักความยุติธรรม ถ้าเป็นเรื่องการออกกฎหมายให้อภัยโทษแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจเลือกให้อภัยได้

ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2524 หลังจากพระราชกำหนดได้ประกาศใช้แล้ว 5 วัน ปรากฏว่ามีบุคคลหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นทำนองเดียวกันนี้ เช่น คนสำคัญของกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนวันพระราชกำหนด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกบางคน รวมทั้งท่านอดีตนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ด้วย

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2524 ก็มีข่าวว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อสภา มีข้อความรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะได้รายงานตัวหรือไม่ก็ตาม จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2524 ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแสดงความคิดเห็นสนับสนุนรัฐบาลให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้รายงานตัวเท่านั้น

ฉะนั้น จึงมั่นใจว่าในที่สุดคงจะมีการนิรโทษกรรมรวมถึงผู้ที่ไม่ได้รายงานตัวด้วย”

 

“ความเห็นคนที่ 2…

การที่ผู้เกี่ยวข้องบางคนได้รายงานตัวต่อสถานทูตที่ลอนดอนจะอยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชกำหนดนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจอย่างไร ถ้าสมมุติว่าผู้รายงานตัวต่อสถานทูตประสงค์จะกลับเข้าประเทศไทยในขณะนี้ (14 พฤษภาคม 2524) ก็ควรจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า และเมื่อเข้าไปถึงควรจะถูกควบคุมตัวไว้เพื่อให้ถ้อยคำอยู่ระยะหนึ่งประมาณ 1-2 วัน และหลังจากนั้นคงจะให้ประกันตัวไปได้ เพราะบุคคลอื่นส่วนมากเมื่อก่อนวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ก็ได้อนุญาตให้ประกันตัวไปแล้ว ดังนั้น กรณีนี้คงจะไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ให้ประกัน

หลังจากนั้นก็คงต้องมีการตีความกันว่า การรายงานตัวที่สถานทูตจะใช้ได้เพียงใดซึ่งการกลับเข้ามาในประเทศของบุคคลนั้นก็ย่อมจะแสดงความบริสุทธิ์ใจของผู้นั้นได้

เมื่อคำนึงถึงในทางการเมืองว่าการนิรโทษกรรมบุคคลจำนวนหนึ่งไปแล้วสำหรับการกระทำอันหนึ่ง การจะมาฟ้องลงโทษบุคคลเพียงอีกคนหนึ่งที่รายงานตัวทางสถานทูตและกลับเข้ามาในประเทศไทย น่าจะเป็นการฝืนความรู้สึกทั่วๆ ไปอยู่มาก ข้าพเจ้าคิดว่าโอกาสที่จะไม่ดำเนินคดีไม่ว่าจะเพราะเหตุใดน่าจะมีมาก

อีกทางหนึ่งก็คงจะต้องให้การเมืองเปลี่ยนแปลง ให้มีการนิรโทษกรรมแก่การกระทำสำหรับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นจะมีขึ้นเมื่อใดยังไม่อาจกำหนดเวลาได้”

ในที่สุด ในวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2524 รัฐบาลโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้มีผลครอบคลุมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รายงานตัวต่อทางราชการทั้ง 8 ด้วย

สภาได้ประชุมร่วมแล้วมีมติเห็นชอบ 288 ต่อ 4 เสียง