จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (จบ)

 

รัฐราชการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization) เกี่ยวกับชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษาว่าเป็นหมู่บ้านในอุดมคติที่หยุดนิ่ง เอาแต่ “ผลิตซ้ำซึ่งวาทกรรมอันเป็นรากฐานของโครงสร้างสังคม” ต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ตามถ้อยคำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ฯ, น.86-88)

ขณะที่สังคมเศรษฐกิจไทยพลิกเปลี่ยนไปไม่หยุดยั้งในสภาพ individualization without individualism หรือนัยหนึ่งสังคมไทยแตกตัวกระจัดกระจายแยกย่อยไปเป็นหน่วยปัจเจกบุคคลมากขึ้น เรื่อยๆ ทว่า กลับปราศจากการยึดมั่นเคารพหลักการปัจเจกนิยมทางการเมือง

ก็แล อำนาจนำ (hegemony) ทางการเมืองวัฒนธรรมของรัฐที่ขัดฝืนกับความเป็นจริงทางสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนับวันย่อมยิ่งก่อความตึงเครียดขัดแย้งปริแยก อ่อนเปลี้ยร่อยหรอความหมายที่จะยึดกุมความคิดจิตใจของผู้คนเอาไว้…เพราะมันไม่ make sense กับสภาพชีวิตและประสบการณ์จริงของเขาทุกเมื่อเชื่อวันขึ้นทุกที

จึงเปิดช่องให้โครงสร้างความรู้สึกใหม่ที่อาจดิบเถื่อน กึ่งสุกกึ่งดิบ พลุ่งพล่าน ไม่เป็นระบบ แต่จริงใจและจริงจัง ระเบิดเถิดเทิงเปรี้ยงออกมาอย่างทื่อตรงในรูปศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ในเวทีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งวาทกรรมและสัญลักษณ์ อะนาล็อกและดิจิทัล

ยอดวิวรวมเพลงประเทศกูมีของวง RAP AGAINST DICTATORSHIP ใน Youtube ขึ้นถึง 111 ล้านวิวในรอบ 5 ปี & หมุดราษฎร 20 กันยายน 2563

ไม่ว่าเพลง “ประเทศกูมี” ของวง RAP AGAINST DICTATORSHIP (เริ่มเผยแพร่ทาง Youtube ปี 2561) จนดังระเบิดเถิดเทิงไปทั่วโลก มียอดวิวสูงถึง 111 ล้านครั้งในรอบ 5 ปี และส่งผลให้ศิลปินของวงต้องคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญามาตรา 116 (https://thestandard.co/rap-against-dictatorship-got-arrested-at-samutprakarn-police-station/)

หรือพิธีกรรมฝัง หมุดคณะราษฎร 2563 ในการชุมนุมประท้วง #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรที่ท้องสนามหลวงซึ่งจัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 (https://www.sanook.com/campus/1402099/) และส่งผลให้แกนนำการชุมนุมต้องคดีความทางการเมืองมากมายหลายข้อหาตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นต้น

เหล่านี้คือการแสดงออกที่โดดเด่นของ โครงสร้างความรู้สึกใหม่และจินตนากรรมใหม่ ของสมาชิกชุมชนชาติไทยและเมืองไทยที่ผิดแปลกแตกต่างจากจินตนากรรม “หมู่บ้านในอุดมคติ” ในแบบเรียนประถมศึกษาของรัฐราชการแต่เดิมอันนับวันยิ่งแปลกแยกจากชุมชนไทยดังที่เป็นอยู่จริง

และบุคลิกที่โดดเด่นของโครงสร้างความรู้สึกใหม่และจิตนากรรมใหม่เกี่ยวกับชาติไทยและเมืองไทยนี้คือความเป็นปัจเจกชน (individualism) ที่พวกเขาปักธงทางความคิดและค่านิยมเด่นสะพัดไว้ในการเมืองวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

 

ดังที่อาจารย์นิธิได้ตั้งข้อสังเกตอย่างแหลมคมไว้เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ปัจจุบันและการเคลื่อนไหวประท้วงของพวกเขาว่า :

“ประชาชน” ของการเคลื่อนไหวในปัจจุบันคือเหล่าปัจเจกเป็นคนคน ซึ่งต่างถูกกดขี่ด้วยระบบที่ยั่งยืนสืบเนื่องมาอย่างไม่จบสักที ความทุกข์ยากเดือดร้อนของพวกเขาจึงพึงเข้าใจได้จากเรื่องราวของบุคคล นับตั้งแต่เรื่องของผู้ปราศรัยเอง เช่น นักเรียนถูกกดขี่จากครู, โรงเรียน และระบบการศึกษาที่เป็นอยู่เวลานี้อย่างไร

“นักศึกษา-เยาวชนอาจพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่ไม่ได้พูดถึงเพียงตัวเลขของรายได้ หรือ ‘อำนาจ’ ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะนั่นเสียอีก เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว นักเรียนมัธยมคนหนึ่งพูดว่า

“ในวันที่ฝนตกหนักวันหนึ่ง เธอยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์เพื่อกลับบ้านพร้อมกับผู้คนที่รอรถเมล์อีกมาก เธอคิดว่าคนในฐานะอย่างเธอจะเรียกแท็กซี่กลับบ้านเมื่อไรก็ได้ แต่คนอีกมากที่กระวนกระวายอยู่รอบข้างนั้น จะกลับถึงบ้านได้อย่างไร ในสภาพน้ำท่วมถนนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนั้น และเพราะอยู่ในฐานะที่ไม่อาจใช้จ่ายในการเดินทางด้วยวิธีที่สะดวกกว่าได้ คนเหล่านั้นซึ่งมีภาระที่ต้องทำที่บ้านอีกหลายอย่าง จึงกระวนกระวายเสียยิ่งกว่าคนอย่างเธอที่รอจะกลับให้ถึงบ้านเพียงอย่างเดียว

“เธอคิดว่า ทำไมบ้านเมืองของเราจึงต้องทำความทุกข์ยากแก่คนจำนวนมากได้ถึงเช่นนี้

“ผมคิดว่าเธอกำลังพูดถึงคนจริงๆ มีหน้าตาที่หม่นหมอง แต่หายใจได้ ต้องกินอาหารเหมือนเรา เจ็บปวดได้ไม่ต่างจากเรา และต้องทนทุกข์ทรมานในสังคมที่ไม่มีอนาคตเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่ไม่มีอนาคตในการทำงานหาเลี้ยงชีพ แม้แต่คนที่ทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่แล้วก็ไม่มีอนาคตมากไปกว่าความหม่นหมองตลอดไป …เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ?

“ผมได้ยินเสียงของชาตินิยมแน่นอน แต่เป็นชาตินิยมที่ประกอบด้วยปัจเจกจำนวนมาก ซึ่งทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้ระบบที่กดขี่ข่มเหงคนเล็กคนน้อยตลอดเวลา และคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นล้วนมีหน้าตา จะสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ได้ว่า เป็นชาตินิยมที่ไม่ได้มองจาก ‘ชนชั้น’ หากมองจากปัจเจก แต่เพราะมองจากปัจเจกนี่แหละที่ทำให้ต่างจากชาตินิยมที่มองจากฐานันดรของ ร.6 ไปไกลกว่า…”

(นิธิ เอียวศรีวงศ์,”อนาคตใหม่ของคนรุ่นใหม่”, 2563 https://www.matichonweekly.com/column/article_363341)

 

และหากประเมินจากสายตาแหลมคมของอาจารย์ Duncan McCargo นักรัฐศาสตร์ไทยศึกษาชาวอังกฤษนามกระเดื่องในบทความ “Disruptors’ dilemma? Thailand’s 2020 Gen Z protests” (“ทางแพร่งของตัวป่วน? การประท้วงโดยคนรุ่น Z ของไทยเมื่อปี ค.ศ.2020”, https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/14672715.2021.1876522) แล้ว แม้ว่าการประท้วงของม็อบราษฎรเยาวรุ่นจะไม่ผลิดอกออกผลชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอันประการใดในแง่แบบวิถีอำนาจพรรคการเมือง (the party mode of power) และแบบวิถีอำนาจการชุมนุม (the rally mode of power)

แต่หากมองในกรอบเกณฑ์การเมืองวัฒนธรรมแล้ว ม็อบราษฎรเยาวรุ่นก็ประสบความสำเร็จในการปักธงลงไปตรงเรื่องเล่าหลักแห่งชาติแบบราชาชาตินิยมและเปล่งพลังอำนาจจนมันปั่นป่วนเสียกระบวนไป (the power of national narrative disruption) ด้วยอุดมการณ์รักชาติแบบยึดลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นหลัก (constitutional patriotism) ของตน

จนอาจกล่าวได้ว่าดอกผลการเมืองวัฒนธรรมของม็อบราษฎรเยาวรุ่นได้ประกอบสร้างเป็นพื้นฐานให้การปลูกสร้าง อำนาจนำทวนกระแส ในรูปหลักนโยบายและการนำทางการเมืองของพรรคก้าวไกลจนประสบชัยชนะได้คะแนนเสียงและจำนวน ส.ส.มากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดกลางปี 2566 (ดูผลการเลือกตั้ง & ทรรศนะวิเคราะห์ของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ https://www.bbc.com/thai/articles/c3g79jd8qj1o; https://www.the101.world/social-movement-and-future-forward/)

การรื้อคิดมโนทัศน์ใหม่อย่างถึงรากถึงโคน (radical reconceptualization) ต่อชาติไทยและเมืองไทยเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น ท่ามกลางการพยายามเร่งผลิตซ้ำจินตนากรรมเดิมในตำราเรียนใหม่อย่างเป็นกระบวน (https://prachatai.com/journal/2023/11/106868) สังคมไทยคงต้องผ่านการถกเถียงเรื่องจินตนากรรมเกี่ยวกับชาติไทยและเมืองไทยไปอีกระยะหนึ่ง ก็แลกิจกรรมทางภูมิปัญญาสาธารณะและการเมืองวัฒนธรรมนี้เรียกร้องต้องการไม่เพียงแต่วิจารณญาณ หากรวมถึงจินตนาการและการคิดเองเป็นด้วย

ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้ข้อชวนคิดลุ่มลึกเรื่องนี้ไว้ว่า :

 

“ทําไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือทำไมต้องเที่ยงคืน

“ในโลกก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้นั้น กลางวันกับกลางคืนแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งแก่จิตใจและความนึกคิดของผู้คน แสงสว่างทำให้ทุกอย่างเผยร่างของมันให้เห็นได้ถนัด จนทำให้เรานึกว่าความเป็นจริงคือสิ่งที่ตาเราเห็น

“ความเป็นจริงของคนกลางวันเกิดจากการชั่ง, การตวง, การวัด ได้ผลอย่างไรก็สามารถบอกความเป็นจริงออกมาได้ เป็นมิลลิเมตรหรือเล็กกว่านั้นล้านเท่าก็ยังได้

“แต่ในกลางคืนที่มีเพียงแสงสลัว มนุษย์ใช้ตาและเครื่องวัดหยั่งไปถึงความเป็นจริงไม่ได้ ต้องอาศัยจินตนาการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสมองซีกขวา แต่ก็ถูกขัดเกลาสร้างระบบขึ้นจากสมองซีกซ้าย

“ในระบบการศึกษาของโลกปัจจุบัน ความสามารถของมนุษย์ตรงนี้ถูกละเลยอย่างน่ากลัวยิ่ง ทำให้ความเป็นจริงของโลกปัจจุบันคับแคบ, ตื้นเขินและไร้ศีลธรรม

“พวกเราต้องการรื้อฟิ้นวิธีคิดของกลางคืนกลับมาในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเป็นชื่อที่บอกให้รู้ถึงอุดมคติและแนวคิดของมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน”

(นิธิ, “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน”, 2541)

 

“หัวใจของ ‘คิดเป็น’ คือคิดอะไรต่างจากที่คนอื่นเขาคิดมาแล้ว หรืออย่างน้อยก็คิดสิ่งที่คนอื่นคิดมา แล้วใหม่จนกลายเป็นความคิดของตัว

“ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างนี้ไม่ใช่หรือ คือจินตนาการถึงเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งคนอื่นยังคิดไปไม่ถึง

“มหาวิทยาลัยไทยต้องการนักเรียนที่ ‘คิดเป็น’ จริงหรือ ถ้าอย่างนั้นมหาวิทยาลัยได้ทำอะไรกับนิสิต นักศึกษาของตัวให้ ‘คิดเป็น’ บ้าง และคน ‘คิดเป็น’ นั้น ราชการและธุรกิจไทยต้องการแน่หรือ”

(นิธิ, “อัตนัย-ปรนัย”, มติชนรายวัน, 11 กุมภาพันธ์ 2543)