นิธิ เอียวศรีวงศ์ | อนาคตใหม่ของคนรุ่นใหม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา-เยาวชนใน 14 ตุลาคม 2516 กับของนักศึกษา-เยาวชนในช่วงนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หลายอย่างที่เหมือนหรือคล้ายกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น หัวหอกของการเคลื่อนไหวคือคนในกลุ่มอายุเดียวกัน เพียงแต่ครั้งนี้เยาวชนในโรงเรียนเข้ามามีส่วนมากกว่า

แต่ต้องไม่ลืมว่า การไม่กระจุกอยู่จุดเดียว หากกระจายไปทั่วประเทศ เป็นความต่างที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ จะยกให้แก่การสื่อสารคมนาคมที่ฉับไวกว่าก็ได้ แต่ผมคิดว่ามีอะไรสำคัญกว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากทีเดียว

ผมจึงอยากชวนให้มาร่วมกันพิจารณาความต่างของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ แม้ดูเหมือนตัวละครจะคล้ายกับเมื่อ 14 ตุลา แต่ที่จริงแล้วมีความต่างซึ่งสะท้อนอนาคตทางการเมืองของประเทศ ที่ไม่มีวันจะเหมือนกับ 14 ตุลาได้อีกเลย

ในครั้ง 14 ตุลา ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากนักศึกษา-เยาวชนซึ่งเป็นตัวละครหน้าฉากแล้ว ยังมีตัวละครหลังฉากอยู่อีกหลายกลุ่มที่ไม่เผยหน้าให้เห็นชัดๆ ในกองทัพเอง มีหน่วยทหารจำนวนมากภายใต้การบังคับบัญชาของ ผบ.ทบ. ที่ตัดสินใจอยู่ในที่ตั้ง โดยไม่ออกมาปราบปรามประชาชน ว่ากันว่ามีนายทหารและกำลังบางส่วนด้วยที่ช่วยกระพือให้การต่อต้านของนักศึกษา-เยาวชนรุนแรงขึ้น ทางเลือกทางเศรษฐกิจ ระหว่างอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า กับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเริ่มขัดแย้งกันอย่างแหลมคมขึ้น จนท้ายที่สุด เหตุใดนักศึกษาจึงถูกนำให้เข้าไปหลบภัยที่สวนจิตรลดา อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่สู้กระจ่างจนถึงทุกวันนี้

ตรงกันข้ามกับความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน นักศึกษาและเยาวชนมีพันธมิตรที่หลากหลายกว้างขวางก็จริง แต่แทบไม่มีใครใน “ระบบ” (establishment) เข้าร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าความเคลื่อนไหวของพวกเขาประสบความสำเร็จ แม้เพียงส่วนเสี้ยวของสิ่งที่เขามุ่งหวัง สังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างที่เราไม่เคยเห็น เพราะความใฝ่ฝันของพวกเขาคือสิ่งที่คนไทยไม่เคยฝันมาก่อนเลย โดยเฉพาะ “ให้มันจบในรุ่นเรา”

(อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของพวกเขาจะเกิดขึ้นได้ก็จากการกบฏแข็งข้อของ “ระบบ” บางส่วน เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว เช่น หลังปฏิบัติการสลายการชุมนุมของตำรวจในวันที่ 15 และ 16 ตุลาคม คอฟฟี่ช็อปบางแห่งติดประกาศไม่บริการตำรวจในเครื่องแบบ มีการรณรงค์กันให้บอกตำรวจในเครื่องแบบที่พบเห็นว่า รู้หรือไม่ว่าสังคมรังเกียจพวกคุณ, ในภายหน้าอีกไม่นาน อาจมีทหารบางหน่วยที่ “วางเฉย”, ผู้พิพากษาระดับล่างหันไปยึดกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายแทนการยึด “ผู้ใหญ่”, นายทุนใหญ่รีบแสดงอาการเหยียบเรือสองแคมไว้ด้วยความหวังจะกินหัวคิวในระบอบใหม่ที่อาจมาถึง, พรรคการเมืองที่ไม่มีกึ๋นพอจะสร้างฐานคะแนนเสียงใหม่ของตนเองตัดสินใจสนับสนุนนักศึกษา-เยาวชนและประชาชนอย่างออกหน้า ฯลฯ)

แต่ความแตกต่างระหว่างความเคลื่อนไหว 14 ตุลากับความเคลื่อนไหวของนักศึกษา-เยาวชนที่จะชี้ให้เห็นอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป อยู่ที่เนื้อหามากกว่ารูปแบบหรือกระบวนการของการเคลื่อนไหว (ไม่ว่าจะเป็น “โมเดล” อะไร)

สังเกตบ้างไหมครับว่า เมื่อนักศึกษาเคลื่อนขบวนใหญ่มหึมาออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 สัญลักษณ์ที่ใช้นำหน้าขบวนคือธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การเคลื่อนขบวนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต่างใช้สัญลักษณ์อื่นในการแทน “ชาติ” นับตั้งแต่ข้อความสั้นๆ เชิงประท้วง ไปจนถึงรูปหมุดคณะราษฎรที่ถูกถอดหายไป หรือหมุดคณะราษฎรอันใหม่ที่พวกเขาเพิ่งสร้างขึ้น

“ชาติ” ของนักศึกษา-เยาวชนคือประชาชน หากพวกเขาประสบความสำเร็จ “ชาติ” ที่จะมีความหมายเด่นสุดในสังคมไทยในอนาคตคือประชาชน “ชาติ” มิได้มีอยู่เพื่ออะไรทั้งสิ้นนอกจากประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน โภคทรัพย์, เกียรติยศหรืออำนาจหากจะมีขึ้นใน “ชาติ” ก็ล้วนเป็นของประชาชน ไม่ตกเป็นสมบัติส่วนตัวของใครจนล้นเกิน นั่นอาจเป็นอุดมคติสูงสุดที่เราไปไม่ถึง แต่อย่างน้อยประชาชนก็จะไม่เป็นเพียงคำที่ถูกเติมลงในสามสถาบันหลักของ “ชาติ” หน้าค่ายทหารอย่างไร้ความหมายอีกต่อไป

ผมไม่ปฏิเสธว่า “ชาติ” ของขบวนการนักศึกษาหลังชัยชนะในวันที่ 14 ตุลา 16 ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน อันจะเห็นได้ชัดในการนิยามอัตลักษณ์ใหม่ของ “ความเป็นไทย” วัฒนธรรมชาวบ้าน-วรรณกรรม, เพลง-ดนตรี, การแสดง, การแต่งกาย, ภาษาและสำเนียง ฯลฯ – ได้รับความสำคัญอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน “ความเป็นไทย” ซึ่งเคยถูกนิยามด้วยวัฒนธรรมราชสำนักถูกขยับจุดเน้นมาสู่หมู่บ้าน และเพื่อเน้นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ บางครั้งก็อาจแปรไปเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมราชสำนักด้วย เช่น การ “เผา” วรรณคดีไทย

“วัฒนธรรมประชาชน” กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติในทัศนะของขบวนการนักศึกษา

พุทธศาสนาซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” มาแต่โบราณ ถูกเน้นความหมายด้านเดียวคือด้านอภิปรัชญาของศาสนา ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านพิธีกรรมลดความสำคัญลง แม้ว่าเรื่องนี้มีนักคิดในพุทธศาสนาได้เสนอมาก่อนแล้ว แต่ 14 ตุลาทำให้แนวคิดเช่นนี้ขยายตัวกว้างขวางขึ้นในสังคม

ที่น่าสนใจกว่าคือ ความพยายามเชื่อมโยงศีลธรรมของพุทธศาสนาเข้ากับชีวิตของปัจเจกในเมือง เช่น การพนัน (ซื้อล็อตเตอรี่ เป็นต้น), ความสัมพันธ์ทางเพศนอกสถาบันการสมรส, การทำทานแก่คนที่ไม่ใช่ภิกษุ, การทำทารุณกรรมแก่สัตว์, คอร์รัปชั่นสาธารณะ ฯลฯ ถูกตีความใหม่ให้มีนัยยะทางศีลธรรมทางศาสนาด้วย

ไม่เฉพาะแต่ด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเท่านั้น ขบวนการนักศึกษาและชัยชนะของพวกเขาใน 14 ตุลา ยังทำให้การเคลื่อนไหวของแรงงานภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรชาวไร่ชาวนาเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง โดยมีการสร้างพันธมิตรกันระหว่างกลุ่มประชาชนระดับล่างกับขบวนการนักศึกษา

สำนึกชาตินิยมเป็นพลังผลักดันการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเอเชียมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังเป็นพลังสืบมาจนถึงปัจจุบัน ในแง่นี้ ความเคลื่อนไหว 14 ตุลาก็เป็นความเคลื่อนไหวทางชาตินิยม แต่เป็นชาตินิยมที่แตกต่างจากชาตินิยมไทย (ซึ่งถูกสร้างโดยชนชั้นสูงและขยายลงข้างล่าง) มาเป็นชาตินิยมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญแก่ “ประชาชน” เช่นเดียวกัน

แต่นั่นก็แตกต่างจากชาตินิยมของนักศึกษา-เยาวชนที่เคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้

ผมรู้สึกว่า (ซึ่งแปลว่าผมยังคิดและค้นไม่พอ) ประชาชนของ 14 ตุลา มีลักษณะเป็นกลุ่ม มีกรรมาชนฝ่ายแรงงาน, ฝ่ายเกษตร, ฝ่ายธุรกิจกามารมณ์ และฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ซึ่งถูกระบบที่ไม่เป็นธรรมกดขี่ขูดรีดอย่างทารุณโหดร้าย แต่คนเหล่านั้นไม่ค่อยมีหน้าตา หรือมีหน้าตาไม่ชัดพอจะเห็นเป็นปัจเจกแต่ละคน จะช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ ก็ต้องทำให้ระบบทำงานตามอุดมคติที่ได้อวดอ้างไว้เองอย่างจริงจัง หรือสร้างระบบใหม่ที่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกว่า

ในขณะที่ “ประชาชน” ของการเคลื่อนไหวในปัจจุบันคือเหล่าปัจเจกเป็นคนๆ ซึ่งต่างถูกกดขี่ด้วยระบบที่ยั่งยืนสืบเนื่องมาอย่างไม่จบสักที ความทุกข์ยากเดือดร้อนของพวกเขาจึงพึงเข้าใจได้จากเรื่องราวของบุคคล นับตั้งแต่เรื่องของผู้ปราศรัยเอง เช่น นักเรียนถูกกดขี่จากครู, โรงเรียน และระบบการศึกษาที่เป็นอยู่เวลานี้อย่างไร

นักศึกษา-เยาวชนอาจพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่ไม่ได้พูดถึงเพียงตัวเลขของรายได้ หรือ “อำนาจ” ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะนั่นเสียอีก เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว นักเรียนมัธยมคนหนึ่งพูดว่า

ในวันที่ฝนตกหนักวันหนึ่ง เธอยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์เพื่อกลับบ้านพร้อมกับผู้คนที่รอรถเมล์อีกมาก เธอคิดว่าคนในฐานะอย่างเธอจะเรียกแท็กซี่กลับบ้านเมื่อไรก็ได้ แต่คนอีกมากที่กระวนกระวายอยู่รอบข้างนั้น จะกลับถึงบ้านได้อย่างไร ในสภาพน้ำท่วมถนนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนั้น และเพราะอยู่ในฐานะที่ไม่อาจใช้จ่ายในการเดินทางด้วยวิธีที่สะดวกกว่าได้ คนเหล่านั้นซึ่งมีภาระที่ต้องทำที่บ้านอีกหลายอย่าง จึงกระวนกระวายเสียยิ่งกว่าคนอย่างเธอที่รอจะกลับให้ถึงบ้านเพียงอย่างเดียว

เธอคิดว่า ทำไมบ้านเมืองของเราจึงต้องทำความทุกข์ยากแก่คนจำนวนมากได้ถึงเช่นนี้

ผมคิดว่าเธอกำลังพูดถึงคนจริงๆ มีหน้าตาที่หม่นหมอง แต่หายใจได้ ต้องกินอาหารเหมือนเรา เจ็บปวดได้ไม่ต่างจากเรา และต้องทนทุกข์ทรมานในสังคมที่ไม่มีอนาคตเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่ไม่มีอนาคตในการทำงานหาเลี้ยงชีพ แม้แต่คนที่ทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่แล้วก็ไม่มีอนาคตมากไปกว่าความหม่นหมองตลอดไป …เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ?

ผมได้ยินเสียงของชาตินิยมแน่นอน แต่เป็นชาตินิยมที่ประกอบด้วยปัจเจกจำนวนมาก ซึ่งทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้ระบบที่กดขี่ข่มเหงคนเล็กคนน้อยตลอดเวลา และคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นล้วนมีหน้าตา

จะสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ได้ว่า เป็นชาตินิยมที่ไม่ได้มองจาก “ชนชั้น” หากมองจากปัจเจก แต่เพราะมองจากปัจเจกนี่แหละที่ทำให้ต่างจากชาตินิยมที่มองจากฐานันดรของ ร.6 ไปไกลกว่า

และในขณะเดียวกัน ผมก็ได้ยินเสียงของภราดรภาคด้วย ชัดเจนไม่น้อยไปกว่าเสรีภาพและเสมอภาพ ซ้ำเป็นภราดรภาพที่ไม่ใช่ความเป็นพี่น้องแบบเก่า คือมีฐานหรือจุดเริ่มต้นจากคนใกล้ชิดแล้วขยายออกไปสู่คนอื่นๆ ที่ร่วมสังคม แต่เป็นภราดรภาพแบบใหม่ที่เริ่มจากความปรารถนาดีแก่คนอื่นๆ ทุกคน แม้แต่ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน และอาจไม่ได้เห็นอีกตลอดไปในชีวิต

ในส่วนของวัฒนธรรมความเป็นตัวตนของผู้เคลื่อนไหวในรอบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นประกอบจังหวะ, การแต่งกาย, การแตกหักกับครอบครัว, โรงเรียน, บริษัท, หรือกลุ่มที่ผูกพันชีวิตของตนไว้, รวมถึงจำนวนไม่น้อยของผู้ร่วมชุมนุม มาคนเดียว และ ฯลฯ ล้วนแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมที่เรียกกว้างๆ ว่า pop culture อันกระจายอยู่ทั่วโลก และเป็นวัฒนธรรมของปัจเจกโดยแท้ เพราะเปิดให้แต่ละคนเลือกสรรตามใจชอบได้กว้างขวาง

วัฒนธรรมปัจเจกเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสำนวนภาษาที่ใช้กันในหมู่ผู้ชุมนุม แม้เป็นสำนวนภาษาที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในสื่อโซเชียล แต่มันไม่ได้สะท้อนพลังของสื่อโซเชียลเพียงอย่างเดียว ที่น่าสนใจกว่าคือสะท้อนความเป็นอิสระที่ไม่ห่วงจะผนวกตัวเข้ากับสังคมวัฒนธรรมเดิมอีกต่อไป (พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เตรียมตัวจะเป็นเหมือนมึง)

อนาคตใหม่ที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่อดีตที่ถูกปฏิรูปแล้ว ต่างจากการเคลื่อนไหวครั้ง 14 ตุลา ที่คิดว่าเมื่อขจัด “สามทรราช” ออกไปแล้ว อดีตก็จะถูกปฏิรูปให้กลับมาทำงานได้อย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ เช่น ระบบราชการถูกปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับใช้ประชาชน ทหารกลับเข้ากรมกองเพื่อปฏิบัติภารกิจทางทหารของตนให้เป็นที่ไว้ใจได้ โดยไม่ต้องพึ่งมหาอำนาจอย่างหมดตัว นายทุนต้องเผชิญกับการต่อรองที่มีอำนาจเท่าเทียมกันของทุนด้วยกันและของฝ่ายแรงงาน ฯลฯ

นักศึกษา-เยาวชนและประชาชนซึ่งเคลื่อนไหวอยู่เวลานี้ คงรู้แล้วว่า อดีตผูกพันผลประโยชน์ทั้งทางวัตถุและนามธรรมของคนจำนวนมากไว้ในนั้น การปฏิรูปอดีตคือการเปิดให้คนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนแบ่งผลประโยชน์ในอดีต จึงทำให้ถูกต่อต้านน้อยลง แต่ดูเหมือนพวกเขากำลังบอกว่าอดีตนั่นแหละ ไม่ว่าจะปฏิรูปแล้วหรือไม่ มีส่วนในการขัดขวางมิให้เกิดอนาคตใหม่ขึ้นด้วย

หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้ว เรากำลังเผชิญกับอนาคตใหม่อีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่พรรค และยากที่จะ “ยุบ” ลงได้ด้วยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญของอดีต