แนวที่ 5 ของญี่ปุ่น กับการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

แนวที่ 5 ของญี่ปุ่น

มีเรื่องเล่าลือกันว่า ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ประสบปัญหากับร่องน้ำ ความลึกตื้นของท้องน้ำ เป็นผลงานของหน่วยข่าวของญี่ปุ่นที่แฝงตัวเข้ามาทำงานในไทยในหลากหลายอาชีพ เช่น หมอฟัน นายแพทย์ ช่างเทคนิค พ่อค้า ฯลฯ

จากความทรงจำของมนัส โอภากุล ชาวสุพรรณบุรี เล่าว่า ก่อนญี่ปุ่นจะเข้ายึดประเทศไทย พ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าในเมืองไทย ตั้งร้านถ่ายรูป หมอทําฟัน และอื่นๆ อีกหลายอาชีพ ในวันหยุดพ่อค้าเหล่านี้ออกตกปลาตามชายทะเล และออกจับผีเสื้อ เป็นที่ต้องสงสัยว่าเพื่อศึกษาภูมิประเทศ พอทหารญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย พ่อค้าเหล่านี้กลายเป็นนายทหารญี่ปุ่น สะพายดาบซามูไร (silpa-mag.com/article 43824)

สำหรับพงษ์ศรี ภูมะธน ชาวนครศรีธรรมราช เล่าว่า ช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นไทยนั้น มีพ่อค้าและช่างชาวญี่ปุ่นทำการสำรวจภูมิประเทศที่นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมการ บุคคลและบริษัทที่ชาวนครศรีธรรมราชสงสัย คือ 1.นายมาลู 2.บริษัทเคียวแอไค รับเหมาสร้างทางสายนคร-ปากพนัง 3.บริษัทญี่ปุ่นรับซื้อแร่

จากภูมิหลังของนายมาลูนั้น เป็นชาวญี่ปุ่น มีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น เข้ามาตั้งร้านถ่ายรูปและรับจ้างทำฟัน พงษ์ศรีเชื่อว่า มาลูใช้อาชีพบังหน้า แต่หน้าที่ที่แท้จริงคือ สำรวจภูมิประเทศ มาลูคงเป็นผู้ประสานการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่ตลาดท่าแพ เมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม ด้วยในตอนเย็นเกือบค่ำของวันที่ 7 ธันวาคม มีคนพบเห็นเขาไปเดินอยู่บริเวณแถบพื้นที่ตลาดท่าแพ

ป. อินทรปาลิตได้บันทึกถึงจารชนญี่ปุ่น และภาพอัฐิของชาวญี่ปุ่น 6 คน ที่หน้าร้านมาลุ นครศรีธรรมราช เครดิตภาพ : มาซาโอะ เซโตะ

สอดคล้องกับบันทึกของนายทหารในพื้นที่บรรทุกว่า ในเมืองนครศรีฯ มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่แต่มีพฤติกรรมน่าสงสัยหาข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการทหารอยู่ 2-3 เดือนก่อนญี่ปุ่นจะบุก (สอาด ขมะสุนทร, 2524, 14)

เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นฝั่งแล้ว เกิดการปะทะกับกองทหาร ตำรวจ และยุวชนทหาร ตำรวจได้ไปควบคุมตัวนายมาลูซึ่งถือเป็นชนชาติญี่ปุ่นมาที่สถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งหยุดยิงแล้ว ทางการจึงได้ปล่อยตัว มาลูเคยพูดกับผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 ว่า ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยก็เพื่อเป็นทางผ่านไปโจมตีมลายู สิงคโปร์เท่านั้น

บริษัทเคียวแอไค ถูกตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มช่างเทคนิคบริษัทเคียวแอไคที่รับเหมาก่อสร้างถนนสายนคร-ปากพนัง แอบสำรวจภูมิประเทศ คนงานไทยของบริษัทเคียวแอไคเล่าว่า เมื่อมีวันหยุดพัก มิสเตอร์โอซาวา เจ้าหน้าที่สร้างทางคนหนึ่งของบริษัทจะชวนคนงานไปเที่ยวตกปลาที่ทะเล พงษ์ศรีเห็นว่าการตกปลาของมิสเตอร์โอซาวาก็คือการไปวัดระดับน้ำทะเลนั่นเอง เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแล้ว นายโอซาวากลายเป็นทหารเรือ

ห้างไวเอบาตาฯ ร้านญี่ปุ่นที่เปิดในพระนคร ต้องสงสัยเป็นแนวที่ 5 เช่นกัน

ตำรวจไทยสังหารสายลับญี่ปุ่น

เช้าวันที่ญี่ปุ่นเกิดการปะทะกันแล้ว ตำรวจรีบไปยังบริษัทเคียวแอไค เห็นรถยนต์บรรทุกของบริษัทที่ใช้สำหรับทำทางประมาณ 10 คัน จอดเรียงรายเป็นระเบียบ และมีธงชาติญี่ปุ่นปักไว้ทุกคันแล้ว ตำรวจก็พากันขึ้นไปบนสำนักงานของบริษัท พบชาวญี่ปุ่น 2 คน คือ เอช.ซี. ฮารา กับไมโนมาตา ต่อมาชาวญี่ปุ่นทั้งสองคนถูกยิงเสียชีวิต โดยฝ่ายตำรวจกล่าวหาว่าทั้งสองขัดขืนการจับกุม

ตำรวจจัดการขุดหลุมฝังศพนายช่างญี่ปุ่นทั้งสองข้างๆ แคมป์ที่ทำการของบริษัทนั่นเอง แล้วยกกำลังกลับสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช พอมีคำสั่งหยุดยิงจากรัฐบาลไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชานำกำลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ ได้เข้าพบหลวงแสงนิติศาสตร์ ได้มีการเจรจากันถึงเรื่องยิงชาวญี่ปุ่นที่สร้างทางและรับซื้อแร่ตาย ให้ตำรวจไปขุดศพ เอช.ซี. ฮารา และไมโนมาตา ที่ฝังไว้ที่หัวถนนมาเก็บไว้ที่วัดท่ามอญ หรือวัดศรีทวี ในตอนเย็นวันนั้นเอง

สำหรับบริษัทโกโตคอนซือ เป็นบริษัทรับซื้อแร่นั้น มาเช่าห้องแถวนายสุนทร เลาหวนิช เชิงสะพานราเมศวร์ ท่าวัง ในหนังสืองานฌาปนกิจศพของนายสุนทรนั้น เย็นใจ เลาหวนิช บุตรสาวของนายสุนทรเล่าว่า ก่อนเกิดสงคราม พ่อมีธุรกิจค้าขายแร่กับญี่ปุ่น มีโรงงานแยกแร่แล้วส่งไปขายญี่ปุ่น เมื่อเกิดสงครามแล้ว ทางตำรวจตั้งข้อหาพ่อว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ พร้อมตำรวจไปล้อมและสังหารพ่อค้าญี่ปุ่นที่พักที่บ้าน ซึ่งมีโรงงานแยกแร่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อรัฐบาลไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านแล้ว (silpa-mag.com/article_9438)

ทหารญี่ปุ่นประกาศชัยชนะในสงคราม

หลังจากญี่ปุ่นยึดเมืองนครศรีฯ ได้แล้วสัก 2 วัน ทหารญี่ปุ่นสอบถามถึงความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่น ที่เป็นช่างทำฟันและช่างถ่ายรูป ช่างสร้างถนน และพ่อค้ารับซื้อแร่ ฝ่ายไทยแจ้งว่า ตำรวจควบคุมตัวไว้ที่โรงพัก แต่ถูกยิงตาย เนื่องจากพยายามหลบหนี (สอาด ขมะสุนทร, 2524, 121-122)

เย็นใจเล่าเสริมว่า ต่อมาเมื่อทหารญี่ปุ่นทราบว่าคนญี่ปุ่นถูกฆ่าตาย ทหารญี่ปุ่นไม่พอใจมาก บุกไปที่สถานีตำรวจจับผู้บังคับการตำรวจและให้ปล่อยตัวพ่อออกมา พร้อมทั้งซักถามถึงสาเหตุการตายของคนของเขา แต่นายทหารญี่ปุ่นไม่รู้ภาษาไทย จึงต้องใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีพ่อทำหน้าที่เป็นล่าม

นายทหารญี่ปุ่นทราบว่าตำรวจไทยเป็นฝ่ายยิงคนญี่ปุ่นตาย จึงโมโหชักดาบซามูไร เตรียมพร้อมที่จะตัดคอผู้บังคับการตำรวจ พ่อเลยรีบห้ามว่าทำไม่ได้ เพราะบัดนี้ไทยกับญี่ปุ่นเป็นสัมพันธมิตรกันแล้ว และช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

เย็นใจเล่าต่อว่า ในที่สุดนายทหารญี่ปุ่นได้สติ ด้วยญี่ปุ่นเชื่อพ่อมากกว่าฝ่ายตำรวจ ด้วยเหตุที่เห็นกับตาว่าตำรวจจับพ่อขังไว้ในสถานีตำรวจเช่นกัน พ่อจึงไม่น่าจะเป็นพวกเดียวกันกับตำรวจ เป็นอันว่าผู้บังคับการตำรวจคนนั้นรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด สำหรับพ่อหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ด้วยรัฐบาลเข้าใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสายลับแต่อย่างใด (silpa-mag.com/article_9438)

ประชาชนยืนฟังวิทยุบริเวณตลาดใกล้สถานีสุราษฎร์ธานี (18 ธันวาคม 2484) เครดิตภาพ : เพจ 50+

อย่างไรก็ตาม ทหารไทยและเซโตะบันทึกเพิ่มเติมจากเย็นใจอยู่บ้าง มาซาโอะ เซโตะ เด็กชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตในช่วงเวลานั้น บันทึกสิ่งที่เขาทราบมาว่า ในระหว่างที่เกิดการสู้รบกันในเช้าวันนั้น ชาวญี่ปุ่น 6 คนถูกขังไว้ที่บริษัทไดนัน พยายามหลบหนี จึงถูกตำรวจยิงตาย (เซโตะ, 2548, 78)

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นทราบเรื่องแล้วโกรธมากจึงส่งนายทหารมาคุมตัวผู้กำกับการสถานีตำรวจไปสอบสวนตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีการข่มขู่ตำรวจด้วยการยิงปืนกลเป็นชุดๆ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมาก แต่ตำรวจปฏิเสธว่ามิได้สั่งยิง เกิดภาวะตึงเครียดระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหาร ตำรวจ และประชาชนมาก และมีการเตรียมการต่อสู้ สุดท้ายภาวะตึงเครียดจบลงด้วยทูตญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยระหว่างกัน ทหารญี่ปุ่นปล่อยตัวผู้กำกับการสถานีตำรวจ (สอาด, 189-192; เซโตะ, 78)

ศพชาวญี่ปุ่นถูกนำไปฝังที่วัด เมื่อฝ่ายไทยจัดงานฌาปนกิจให้ ขณะนั้นไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านแล้ว ส่งผลให้ความตึงเครียดที่นครศรีธรรมราชสงบลงได้ (สอาด, 194-196)

เหตุการณ์สังหารสายลับญี่ปุ่นที่นครศรีฯ น่าจะเป็นข่าวโด่งดังจนทำให้ ป. อินทรปาลิต นำมาเขียนเรื่องหัสนิยายสามเกลอ ตอนนักสืบสามเกลอ (2485) เป็นเรื่องราวที่สามเกลอติดตามจารชนที่เข้ามาสืบข่าวการทหาร อันระบุจารชนไว้ว่าชื่อ “นายมาลา” อันเป็นชื่อที่ใกล้เคียงกับชื่อ “นายมาลู” นั่นเอง

เรื่องราวเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของร่องรอยถึงความเคลื่อนไหวของแนวที่ 5 หรือสายลับของญี่ปุ่นในช่วงญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นมีอยู่จริง

ปกสมุดจดของนักเรียนช่วงสงคราม
ภาพพิธีศพชาวญี่ปุ่น 6 คนที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ญี่ปุ่นขึ้นนครศรีฯ เครดิตภาพ : มาซาโอะ เซโตะ