ม่อนแจ่ม ‘น่าห่วง’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ไปเชียงใหม่คราวนี้ ได้สัมผัสกับ “ม่อนแจ่ม” แหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตใน อ.แม่ริม

ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงไชยที่เชื่อมกับเทือกเขาหิมาลัย แนวทิวเขาสลับซับซ้อนในความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 330-1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ช่วงหน้าหนาวอากาศเย็นสบาย ผู้คนแห่กันเที่ยวชมสวนดอกไม้ ไร่สตรอว์เบอร์รี่ ไร่องุ่น ไร่ส้ม และพักค้างแรมตามเต็นท์ บ้านพักหลังเล็กๆ ที่สร้างบนไหล่เขา

แต่อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ถ้าปล่อยให้การพัฒนาม่อนแจ่มไร้ทิศทางกันอย่างนี้ อนาคตจะเละเทะเกินแก้

ทีมงานของเราออกเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ในเที่ยงของวันศุกร์มุ่งหน้าไป อ.แม่ริม ระหว่างทางผ่านน้ำตกแม่สา มีร้านอาหารหลายแห่งสร้างริมลำน้ำ

บางร้านเอาร่มสนามกางเรียงเป็นแถวริมทางน้ำแล้วทำระเบียงยื่นออกไปในลำน้ำตั้งโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้าดื่มด่ำสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

ได้ยินข่าวเมื่อหลายปีก่อนทางเจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึงขังสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำแม่สา แต่ถึงวันนี้ยังมีให้เห็นอยู่

นี่แสดงให้เห็นว่า กฎหมายคุ้มครองพื้นที่อุทยานฯ และแหล่งน้ำสาธารณะไม่มีผลบังคับใช้จริงในพื้นที่ตรงนี้

 

 

ช่วงบ่ายแก่ๆ ตะวันเริ่มคล้อย รถนักท่องเที่ยวยิ่งหนาตาและกระจุกตัวทางขึ้นดอยม่อนแจ่มที่ค่อนข้างชัน มีโค้งสลับไปสลับมา

ถึงจุดหมาย เดินเล่นดูตลาดขายของที่ระลึก แผงขายผักสดซึ่งเจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง จากนั้นขยับแข้งขาก้าวขึ้นไปบนยอดดอย เป็นแปลงดอกไม้ ที่พักชมวิวและร้านขายกาแฟ ผลไม้ปั่น ริมทาง

มองจากยอดดอยม่อนแจ่มเห็นฝั่งตรงข้ามเป็นเนินเขาเรียงรายสูงต่ำลดหลั่นสลับกัน

แต่ละเนินมีการไถปรับพื้นที่เป็นขั้นบันไดเอาเต็นท์กระโจมวางเรียงเป็นชั้นๆ บางแห่งสร้างเป็นกระท่อม เรือนพักรับรอง

การก่อสร้างไม่ได้คำนึงถึงความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมจึงดูรกหูรกตามาก

ที่พักบนดอยแม่แจ่มและดอยอื่นๆ ใกล้เคียง ถ้าคลิกดูโฆษณาในเว็บไซต์ท่องเที่ยวมีกว่า 100 แห่ง ช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาพักผ่อนเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อคืน

มีเงินหมุนเวียนวันละเกือบ 2 ล้านบาท

 

บริเวณม่อนแจ่ม อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ แหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารของภาคเหนือตอนบนและเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำแม่ปิง

ในอดีตน่าจะเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์แต่ถูกบุกรุกโค่นป่าทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น

เมื่อปี 2527 มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า

และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาในพื้นที่ด้วยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ

สอนวิธีปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี่ แคร์รอต องุ่น อะโวคาโด ผักบล็อกเคอลี่ แทนการทำไร่เลื่อนลอยหรือปลูกฝิ่น

การพัฒนาม่อนแจ่มเป็นไปอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ความเจริญ

ขณะเดียวกัน กระแสรักสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติไหลทะลักแรง ผลักให้ม่อนแจ่มเข้าสู่โหมดพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับการท่องเที่ยว ทั้งติดตั้งไฟฟ้า ปรับปรุงถนน ระบบน้ำประปา โครงข่ายโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านสะดวกซื้อ ผุดตามขึ้นมา

การพัฒนาม่อนแจ่มดูไปแล้วน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะนักท่องเที่ยวนิยมชมชอบพื้นที่ธรรมชาติ อยากสัมผัสทะเลหมอก ตะวันขึ้นในยามเช้า อากาศเย็นๆ

ส่วนประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากท่องเที่ยวและได้รับความสะดวกสบายกว่าเดิม

แต่ประเด็นคำถามว่า “ม่อนแจ่ม” จะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ?

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาม่อนแจ่ม มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเกิดตามมา ทั้งขยะ ของเสีย ปัญหาจราจร ที่จอดรถและการขยายตัวของชุมชนม่อนแจ่ม

บ้านพัก รีสอร์ต โรงแรม แคมปิ้งผุดกระจายไปทั่วเนินดอยเป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาของขยายตัวของม่อนแจ่มที่ไร้ทิศทาง

อีกตัวอย่างนั่นคือขยะที่เห็นตลอดสองข้างทางขึ้นดอยทิ้งเรี่ยราดเกลื่อนกลาด

ก่อนหน้านี้มีข่าว ลูกๆ ของชาวม้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงและอยู่ในวงจรธุรกิจท่องเที่ยวได้รวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกรรมชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม มีข้อตกลงในการบริหารจัดการพื้นที่ม่อนแจ่มไว้ว่า คนทำธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นต้องเป็นคนในชุมชน ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ต้องเป็นพื้นที่ครอบครองดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษเท่านั้น

เมื่อมีรายได้จากการทำธุรกิจต้องแบ่งรายได้เข้ากองทุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนห้องพัก กองทุนนี้ตั้งมาเมื่อปี 2552 มีเงินหมุนเวียน 1.5 ล้านบาท แบ่งไปใช้ในด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

แต่สถานการณ์ในม่อนแจ่มเปลี่ยนไปไม่น้อยกว่า 10 ปี กลุ่มทุนใหม่เห็นช่องทางแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ มีการเสนอเช่าที่ดินจากกลุ่มที่อยู่อาศัยเดิม บุกรุกที่ดินในเขตป่า ที่ดินหลายแปลงถูกเปลี่ยนมือส่งนอมินีเข้าไปสวมสิทธิแทน

เมื่อปี 2557 เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เชียงใหม่ ผนึกกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ทหาร ตำรวจ สภ.แม่ริม เข้าตรวจสอบรีสอร์ตที่ก่อสร้างบุกรุกพื้นที่ป่า 10 แห่งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.แม่ริม

หลังมีเสียงร้องเรียนก่อสร้างรีสอร์ตโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์

 

มาในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งชุดทำงานตรวจสอบพื้นที่ม่อนแจ่มสรุปข้อมูลหลักฐานที่พักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต สร้างไม่เป็นระเบียบ มีทั้งหมด 116 แห่ง เกินกำลังระบบบริการพื้นฐานที่จะรองรับได้ และในจำนวนนี้มีความผิดรุกป่า 36 แห่ง

ปี 2563 เจ้าหน้าที่ส่งกำลังเข้าไปรื้อรีสอร์ตไปแล้ว 1 แห่ง เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่เข้าไปรื้ออีก 5 แห่ง แต่ปรากฏว่า กลุ่มชาวม้งรวมตัวคัดค้าน เจ้าหน้าที่ต้องถอนกำลังออกมา

ชาวม้งอ้างเหตุผลว่าอยู่อาศัยทำกินบนดอยม่อนแจ่มมานานแล้ว ก่อนรัฐจะกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น จึงมีสิทธิชอบธรรมในการครอบครองที่ดินและมีสิทธิจะขายเปลี่ยนมือให้ใครก็ได้

ข้ออ้างดังกล่าว ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ จึงทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวม้งบนดอยม่อนแจ่มบานปลายไม่มีข้อยุติ

 

ความจริงแล้ว เป็นหน้าที่ของภาครัฐในการเฝ้าจับตาความเปลี่ยนแปลงของ “ม่อนแจ่ม” เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทางต้องรีบกำหนดนโยบายให้ชัดๆ ว่า จะใช้พื้นที่ม่อนแจ่มในรูปแบบไหน เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ถ้ากำหนดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะต้องออกกฎหมายห้ามก่อสร้างอาคาร ที่พักมาตั้งแต่แรกเริ่ม มิใช่ปล่อยให้เรื้อรังมาจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้

หรือหากจะกำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็ต้องเชิญชาวชุมชนม่อนแจ่มมาคุยกันใหม่ว่าอนาคตข้างหน้าต้องการเห็นสภาพม่อนแจ่มเป็นอย่างไร จะปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบไหน

ที่พักต่างๆ ในม่อนแจ่มต้องปรับปรุงใหม่กลมกลืนสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้วยวิธีไหน และมีแผนรับมือกับนักท่องเที่ยวในอนาคตทั้งด้านที่พัก การกำจัดขยะของเสียยังไงจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แต่น่าเสียดาย ภาครัฐกลับปล่อย “ม่อนแจ่ม” มีสภาพเละเทะจนน่าห่วง •