จรัญ มะลูลีม : สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ในซาอุดีอาระเบีย (4)

จรัญ มะลูลีม

เป็นที่รับทราบกันดีว่าตัวของกษัตริย์สัลมานเองมีปัญหาสุขภาพ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพนี่เอง เจ้าชายนายีฟจึงต้องหลุดจากอำนาจไป MBS ซึ่งเป็นมกุฎราชกุมารจึงกลายมาเป็นผู้ดูแลซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันไปโดยปริยาย

ในหมู่ผู้ที่ชื่นชม MBS MBS ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักปฏิรูป (reformer) เขาพูดถึงการยุติการขึ้นอยู่กับน้ำมันของซาอุดีอาระเบียอยู่เสมอ

ดังนั้น มโนทัศน์ 2030 ที่นำเสนอโดยเจ้าชาย MBS เมื่อปี 2016 จึงเป็นความพยายามที่จะให้ประเทศปลดแอกจากการขึ้นอยู่กับน้ำมัน

พระองค์จึงปฏิรูปการเงินและสนับสนุนภาคเอกชน รวมทั้งสิทธิสตรี

แต่คนอีกจำนวนมากก็มองพระองค์ว่าเป็นคนในราชวงศ์กษัตริย์ที่มีแรงกระตุ้นมาจากความไม่รอบคอบ

เป็นผู้มีความทะเยอทะยานในการแสวงหาอำนาจ

และการแสวงหาอำนาจนี้อาจนำอันตรายมาให้ไม่เฉพาะกับราชวงศ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียทั้งหมดอีกด้วย

 

กษัตริย์สัลมานกับนโยบายต่างประเทศ

MBS เป็นสถาปนิกจากราชวงศ์ที่สนับสนุนการเข้าโจมตีเยเมนในนามการต่อสู้กับกบฏฮูษี ในส่วนของซาอุดีอาระเบีย หากกบฏฮูษีเกิดความเป็นปึกแผ่นอยู่ทางหลังบ้านของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียเสียเอง ผลประโยชน์ของซาอุดีอาระเบียก็ต้องได้รับผลกระทบ

มากกว่าสองปีมาแล้วที่ซาอุดีอาระเบียเข้าถล่มเยเมนอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่วิกฤตด้านสิทธิมนุษยธรรมในประเทศที่มีความยากแค้นอยู่แล้ว

ในการต่อสู้ล่าสุด ประธานาธิบดี อับดุลลอฮ์ ศอลิห์ ที่กำลังเปลี่ยนจุดยืนไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาลก็ถูกฝ่ายกบฏฮูษีสังหารไปแล้ว และในเวลานี้ฝ่ายฮูษีก็ยังคงอยู่ในกรุงซานาเมืองหลวงของเยเมนต่อไป

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังใช้มาตรการที่แข็งกร้าวต่อต้านอิหร่านในปีสองปีมานี้โดย MBS มุ่งมั่นให้เกิดความมั่นใจว่าการต่อสู้กับอิหร่านเป็นเรื่องของซาอุดีอาระเบีย

เส้นทางนโยบายต่างประเทศอันแข็งกร้าวเห็นได้จากการตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียในการปิดล้อมกาตาร์ด้วยความคิดที่ว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิมและอิหร่านที่จะเป็นอุปสรรคของราชวงศ์อัล-สะอูดในที่สุด

นโยบายของ MBS ที่พร้อมที่จะจัดระเบียบเศรษฐกิจการน้ำมันของซาอุดีอาระเบียก็ยังคงอยู่ในกระดาษ ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางสังคมก็ยังมองไม่เห็นในวาระของรัฐบาล

ด้วยพื้นฐานดังกล่าวการยกมกุฎราชกุมารขึ้นมาจึงเป็นได้แค่การสร้างความพร้อมให้กับซาอุดีอาระเบียขึ้นมาเป็นผู้นำของภูมิภาค ในขณะที่การปฏิรูปยังคงไม่ได้เกิดขึ้นจริง

สำหรับบางคนนี่เป็นข่าวร้ายในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

สําหรับประเทศอย่างซาอุดีอาระเบีย สองสัปดาห์แห่งความอลหม่านติดต่อกันของเดือนพฤศจิกายน (2017) เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในประเทศนั้นเมื่อ MBS จับกุมพี่น้องต่างมารดาในพระราชวงศ์ของพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจแนวหน้า ศิลปิน และผู้มีอาชีพสื่อสารมวลชน จากนั้นก็ประกาศการปิดล้อมเยเมนทั้งหมดหลังจากมีขีปนาวุธจากเยเมนตกลงใกล้กับสนามบินในกรุงริยาดเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย

จากนั้น MBS ก็ทำในสิ่งที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทางการทูตในภูมิภาคที่ปฏิบัติต่อกัน เมื่อนายกรัฐมนตรีของเลบานอนฮาริรี (Saad Hariri) ถูกเรียกตัวด่วนให้เดินทางไปกรุงริยาด โดยกษัตริย์ของซาอุดีอาระเบีย

ตามรายงานที่เสนอกันทั่วไปและได้เคยมีการพูดถึงมาแล้ว พบว่าฮาริรีถูกจับตัวไปทันทีหลังจากเครื่องบินลงจอด และมีการร่างข้อความพร้อมหนังสือลาออกให้ฮาริรีอ่านด้วย

ในคำพูดของฮาริรีที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ของซาอุดีอาระเบีย ฮาริรีได้ประณามบทบาทของฮิสบุลลอฮ์และอิหร่านในเลบานอนและพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไปอย่างหนักหน่วง

ในภาษาที่สะท้อนออกมาซึ่งเขียนขึ้นโดยบรรดาผู้นำของซาอุดีอาระเบียนั้น ฮาริรีได้โยนความผิดมาให้อิหร่านสำหรับ “ความขัดแย้งทั้งมวลและสงครามในภูมิภาค”

ก่อนหน้าการโยนความผิดให้อิหร่านแค่เพียงหนึ่งวัน ฮาริรีได้พูดคุยอย่างเป็นมิตรในกรุงเบรุตกับอะลีอักบัร วิลายาตี (Ali Akbar Velayati) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาอาวุโสของอะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุด

วีลายาตีได้ยกย่องฮาริรีว่าเป็น “บุคคลที่น่าเคารพ” และให้การยืนยันว่าอิหร่านจะสนับสนุนรัฐบาลเลบานอน

แต่วันต่อมา ฮาริรีซึ่งเป็นพลเมืองของสองสัญชาติคือซาอุฯ-เลบานอนถูกเรียกตัวด่วนไปกรุงริยาดตามคำสั่งด่วนของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในเวลาเดียวกันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังเป็นหนี้ค่าก่อสร้างนับพันล้านเหรียญสหรัฐที่จะต้องคืนให้ฮาริรีอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีเลบานอนถูกออกคำสั่งให้เดินทางมาซาอุดีอาระเบียแต่เพียงผู้เดียว แม้แต่หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของเขาก็ไม่อนุญาตให้ร่วมเดินทางมาด้วย

ก่อนการปรากฏตัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในโทรทัศน์ซาอุดีอาระเบีย เขาได้กล่าวเอาไว้ในโทรทัศน์เลบานอนถึงการทำงานร่วมกันอย่างครอบคลุมกับขบวนการฮิสบุลลอฮ์ ทั้งนี้ ขบวนการฮิสบุลลอฮ์ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของรัฐบาลเลบานอน แม้ว่าจะมีความไม่ลงรอยกันในอดีตมาก่อนก็ตาม

ทั้งฮาริรีและฮิสบุลลอฮ์ดูเหมือนจะทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดีในเวลาที่สหรัฐ ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลกำลังวุ่นวายอยู่กับการต่อต้านกองกำลังชีอะฮ์ต่างๆ และเรียกร้องให้มีการทำลายกลุ่มก้อนเหล่านี้เสีย

ประธานาธิบดีของเลบานอน มิเชล อาอูน (Michel Aoun) ปฏิเสธการลาออกของฮาริรีจนกว่าเขาจะกลับมากรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอน และมายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเอง

อาอูนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ยึดตัวนายกรัฐมนตรีฮาริรีเอาไว้ให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำ

 

ก่อนการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแค่เพียงหนึ่งสัปดาห์ ตามิร อัล ซับบาน (Thamir al Sabbhan) รัฐมนตรีประจำรัฐเพื่อกิจการอ่าวเปอร์เซียของซาอุดีอาระเบียได้วิจารณ์รัฐบาลเลบานอนที่ “เพิกเฉย” ต่อข้อกล่าวหาที่มาจากการกระทำของฮิสบุลลอฮ์ในปฏิบัติการที่เป็นการก้าวร้าวต่อระบบกษัตริย์ของอ่าวเปอร์เซีย และเรียกร้องให้มีการใช้กำลังต่อต้านขบวนการฮิสบุลลอฮ์ด้วยการกล่าวเพิ่มเติมว่า

บรรดาผู้ให้ความร่วมมือกับขบวนการนี้จะต้องได้รับการลงโทษ เขากล่าวต่อไปว่า ไม่มีการแยกแยะระหว่างขบวนการฮิสบุลลอฮ์และรัฐเลบานอนอีกต่อไป และรัฐบาลของเขาจะถือว่ารัฐบาลเลบานอนเป็นรัฐบาลที่ประกาศสงครามกับซาอุดีอาระเบีย

สำหรับตัวของฮาริรีนั้นเขาไม่เคยแสดงให้เห็นว่ามีความใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารของซาอุดีอาระเบียอย่างที่เขาได้แสดงให้เห็นในโทรทัศน์ซาอุดีอาระเบีย

เขายกย่องขบวนการฮิสบุลลอฮ์สำหรับบทบาทของขบวนการนี้ในการขับไล่กองกำลังดาอิช (Daish) หรือไอเอสและอัล-กออิดะฮ์ออกไปจากเลบานอน