เหตุแบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้บ้านสูง

หลังจากปล่อยให้ฝ่ายบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้าน คอนโดฯ ออกมาโอดครวญ ปัญหาลูกค้าซื้อบ้าน ผ่อนดาวน์แล้วแต่ขอกู้สินเชื่อจากธนาคารไม่ผ่าน หรือถูกปฏิเสธในอัตราที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 50% บางทำเลบางโครงการสูงถึง 60-70% นั้น

ได้เวลาฝ่ายธนาคารซึ่งเป็นฝ่ายผู้ปล่อยกู้ออกมาเปิดเผยสาเหตุที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้นเรื่อยๆ โดย “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า สถาบันการเงินจะยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อต่อไป เพราะเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวไม่ทั่วถึง อัตราดอกเบี้ยยังสูง คนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการชำระหนี้

ปัจจุบัน บ้านกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาทเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้นเห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อ

“กล่าวถึงเป็นพิเศษ” (SM) คือเป็นหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน แต่ไม่ถึง 90 วัน มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเลยขั้นนี้ไปก็จะกลายเป็นหนี้ “มีปัญหา” หรือ NPL (Non Performance Loan) ซึ่งสถาบันการเงินจะเข้าไปดำเนินการ หากไม่สำเร็จหลักค้ำประกันคือบ้านถูกนำไปขายทอดตลาดบังคับคดี ถ้าไม่ได้ราคาที่กำหนดหรือไม่มีผู้ประมูล สถาบันการเงินรับมา กลายเป็นทรัพย์ NPA (Non-Performing Asset) หรือทรัพย์สินรอการขาย

 

หากแนวโน้มเป็นไปอย่างปัจจุบัน สถาบันการเงินก็จะยิ่งเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หรือนัยหนึ่ง จะมีการปฏิเสธปล่อยกู้บ้านระดับราคา 1-3 ล้านบาทที่ปัจจุบันปฏิเสธประมาณ 60-70% อยู่แล้ว จะสูงไปกว่านี้อีก เพราะกลัวหนี้ NPL และทรัพย์ NPA สูงขึ้นตามเป็นระลอก

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ใหญ่ของสถาบันการเงินด้วย และเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศด้วย เพราะบ้านระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีสัดส่วน 75% ของจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยที่โอนกรรมสิทธิ์แต่ละปีซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากของตลาด

ครอบครัวที่ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่อนชำระเดือนละ 8,000 บาท โดยสถาบันการเงินให้ผ่อน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน ดังนั้น ครอบครัวต้องมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 24,000 บาท

ส่วนผู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ต้องมีรายได้ครอบครัวประมาณ 72,000 บาทต่อเดือน

หมายความว่าครอบครัวที่มีรายได้ 24,000-72,000 บาท/เดือน ที่ซื้อที่อยู่อาศัยยื่นกู้สถาบันการเงินไม่ผ่านเพราะติดปัญหามีหนี้สินอื่นๆ ในแต่ละปีมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านประมาณ 300,000-400,000 ยูนิต ถ้ากู้ไม่ผ่าน 75% ย่อมเป็นตัวเลย 2-3 แสนราย และยังมีครอบครัวที่ไม่ได้ซื้อบ้าน ไม่ได้ยื่นกู้อีกมากมายแค่ไหน

ระยะหลังๆ ว่ากันว่า การยื่นกู้สินเชื่อซื้อบ้านกรณีเป็นพนักงานบริษัทเอกชนเดิมต้องใช้ใบรับรองเงินเดือนนั้น ทุกวันนี้ต้องใช้งบการเงินของบริษัทไปแสดงด้วยเพื่อยืนยันว่าบริษัทที่ทำงานอยู่ยังมั่นคงแข็งแรง

สุดท้าย จึงเกิดความสงสัยที่ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังไม่ทั่วถึงทุกสาขานั้น อยากรู้ว่าสาขาธุรกิจเศรษฐกิจใดที่ฟื้นแล้ว

เพราะจากข้อมูลต่างๆ ข้างต้น น่าจะบอกว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง กำลังจะสิ้นลมหายใจอย่างช้าๆ เสียมากกว่า •