ซานต้า ‘เศรษฐา’ ดัน Easy E-Receipt เอาใจคนมีเงิน เกทับ ‘ช้อปดีมีคืน’

ช่วงจังหวะจัดตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน หรือเศรษฐา 1 ตรงกับปฏิทินงบประมาณประจำปี 2567 กว่าทุกขั้นตอนจะเสร็จสิ้นก็คาดว่างบประมาณจะเริ่มใช้ได้ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 จากปกติต้องวันที่ 1 ตุลาคม 2566

ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายหัวใจหลักอย่าง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องขึ้นกับกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ ถูกคาดการณ์เช่นกันว่า โครงการนี้ถ้าเดินหน้าได้จะเริ่มจริงเดือนพฤษภาคม 2567 จากเดิมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งหมดเป็นสาเหตุให้รัฐบาลเศรษฐา 1 ตัดสินใจคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชิ้นแรกควบของขวัญปีมังกรทอง 2567 นั่นคือ มาตรการ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ (Easy E-Receipt)

มาตรการที่ชวนคนไทยฐานะดีรายได้ 70,000 บาทอัพใช้จ่าย กระตุ้นกำลังซื้อครั้งใหญ่ แลกสิทธิลดหย่อนภาษี ปลุกเศรษฐกิจไทยช่วงสุญญากาศมาตรการเศรษฐกิจชิ้นใหญ่ๆ

นอกจากนี้ ยังมีความพิเศษคือ รายละเอียดมาตรการที่คุ้มค่ามากกว่ามาตรการช้อปอื่นๆ อาทิ ช้อปช่วยชาติ ที่รัฐบาลยุคก่อนเคยทำไว้

 

มาตรการอีซี่ อี-รีซีท จะให้สิทธิผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ที่ใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

ไม่เพียงใช้ช่วงสุญญากาศเศรษฐกิจ ยังต้องการปลอบใจผู้มีรายได้สูงที่ชวดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

เพราะเพิ่มความพิเศษด้วยสูตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจริง จากมูลค่าสูงสุดการใช้จ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาทสำหรับผู้ที่มีรายได้ 7 หมื่นบาทขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มภาษี 20% คำนวณแล้ว ใช้จ่าย 5 บาทได้รับการลดหย่อน 20% จะเท่ากับ 1 หมื่นบาทพอดี

เทียบเท่ากับวงเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการอีซี่ อี-รีซีท จะกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านบาท และช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.18% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ และคาดการณ์สูญเสียภาษีอยู่ที่หลักพันล้าน ไม่เกินหมื่นล้านบาท ไม่มีนัยยะสำคัญต่อรายได้ภาษีของประเทศ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า มาตรการอีซี่ อี-รีซีท เป็นมาตรการแรกที่พยุงเศรษฐกิจต้นปี 2567 เป็นการเติมเงินก้อนค่อนข้างใหญ่ หลังตั้งรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้วยังไม่มีการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้เห็นเลย

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเม็ดเงินน้อยกว่าเป้าหมายรัฐบาล อยู่ที่ 3-5 หมื่นล้านบาท จากผู้เข้าร่วมโครงการ 5 แสน-1 ล้านคน และคาดจะช่วยขับเคลื่อนจีดีพีได้เพิ่มขึ้น 0.1-0.3% ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

ถือเป็นมาตรการที่น่าจับตา เพราะนายกฯ เศรษฐา ค่อนข้างมั่นใจว่า มาตรการอีซี่ อี-รีซีท จะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ยักษ์ที่ครอบคลุมกว่า ‘ช้อปดีมีคืน’

 

ย้อนโครงการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จำกัดเพดานการใช้จ่ายสูงสุดที่ 3 หมื่นบาทเท่านั้น น้อยกว่ามาตรการอีซี่ อี-รีซีท ที่ให้ลดหย่อนตามจริงจากวงเงินสูงสุดที่ 5 หมื่นบาท

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลดหย่อยภาษีมาหลายโครงการ ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ออกมาตรการแรก คือ ช้อปช่วยชาติ ทำต่อเนื่องถึงปี 2560 คาดสร้างเม็ดเงินสะพัด 2.25 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือราว 0.15% ของจีดีพีต่อปี ต่อมาได้ลุยช้อปช่วยชาติปี 2561 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนัก คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.07% ต่อจีดีพี

ต่อมาปี 2562 เริ่มมาตรการใหม่ ชื่อว่า ชิมช้อปใช้ เพิ่มการแจกเงินของรัฐเข้าไป 1,000 บาท คาดมียอดใช้จ่าย 2.8 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่มาจากการแจกเกือบทั้งหมด ไม่ใช่การใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษี ยอดจึงไม่ถึงเป้าที่คาดไว้ 6 หมื่นล้านบาท แต่ในทางกลับกันได้สร้างประโยชน์ เพราะเป็นโครงการที่ทำให้คนไทยรู้จัก กระเป๋าเงินดิจิทัล จนรัฐบาลสานต่อกลายเป็นแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง ในทุกวันนี้

ปี 2563 กลับมาสู่โครงการลดหย่อยภาษีเต็มด้วยอีกครั้ง ในชื่อ ช้อปดีมีคืน คาดเม็ดเงิน 1.11 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.71% ของจีดีพี การใช้จ่ายสูงคาดมาจากระยะเวลาใช้สิทธิมากที่สุดคือ 2 เดือนกับอีก 7 วัน

ปี 2564 ได้ออกมาตรการใหม่ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ตั้งเป้ามีคนใช้จ่าย 4 ล้านคน จบโครงการมีเพียง 9 หมื่นกว่าคน เม็ดเงินสะพัดเพียง 3,822 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ฟื้นมาตรการช้อปดีมีคืนอีกครั้ง คาดเม็ดเงินสะพัด 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.29% ต่อจีดีพี

และปี 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งทวนไว้กับมาตรการช้อปดีมีคืน คาดว่าใกล้เคียงปี 2565

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า มาตรการอีซี่ อี-รีซีท แม้ภาษีคุ้ม แต่กำหนดเงื่อนไขเข้ม ให้ใช้จ่ายกับร้านค้า หรือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เท่านั้น จำนวน 4,229 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการที่ออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ 2,499 ราย และผู้ประกอบการที่ออก e-Tax Invoice by Time Stamp ได้ 1,730 ราย คิดเป็นจุดให้บริการกว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ

แม้กระทรวงการคลังจะระบุว่า การจำกัดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนั้น ไม่มีผลต่อการใช้จ่าย แต่เทียบกับมาตรการช้อปดีมีคืน ของรัฐบาล พล.ประยุทธ์ ที่เปิดกว้างให้ใช้จ่ายกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณ 8 แสนราย จึงมีความต่างกันชัดเจน

ลุ้นผลสำเร็จ อีซี่ อี-รีซีท ของนายกฯ นิด จะแซง ช้อปดีมีคืน ของอดีตนายกฯ ตู่ ตามที่คุยหรือไม่