1 ศตวรรษ หุ่นยนต์สากลราวี หนึ่งร้อยปีโรคระบาด และความสำนึกพลาดในสังคม (ไม่) สมบูรณ์แบบ

ในปี ค.ศ.1920 คาเรล ชาเป็ก (Karel Capek, 1890-1938) นักเขียนและปัญญาชนสัญชาติเช็ก ให้กำเนิดบทละครชิ้นสำคัญ เรื่อง R.U.R (Rossum’s Universal Robots)

บทละครชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุโรป และต่อมาแพร่ไปทั่วโลก

ทำให้โลกใช้คำศัพท์ “robot” ในความหมายของมนุษย์กลหรือหุ่นยนต์ ตามอย่างที่โจเซฟ ชาเป็ก ผู้เป็นพี่ชายของคาเรลแนะนำให้เขาใช้ในบทละครชิ้นนี้

90 ปีต่อมา บทละคร R.U.R (Rossum’s Universal Robots) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศไทย ในชื่อ “ห.ส.ร. หุ่นยนต์สากลราวี” แปลโดยปราบดา หยุ่น (2553, ไต้ฝุ่น)

ปรัชญาแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ

ปรัชญา Wabi-sabi ของญี่ปุ่น ให้คุณค่าต่อความไม่สมบูรณ์แบบว่าเป็นความงาม ความไม่ลงตัวที่ดำรงอยู่ในความเรียบง่าย และความไม่สมบูรณ์แบบนั้น ทำให้เราเป็นมนุษย์

ไดเซ็ทสึ สุซุคิ (1870-1966) นักเขียนและนักปรัชญาเซ็นอธิบายหลักการของวะบิ-ซะบิ ว่า ‘วะบิ’ คือความเบิกบานแม้ยามยากไร้ ส่วน ‘สะบิ’ คือความสงบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของจิตวิญญาณเซน อันประกอบด้วย ความประสานสัมพันธ์ ความเคารพ ความบริสุทธิ์ และความสงบ

วะบิ-ซะบิ ตรงกับแนวคิดทางจิตวิทยามนุษย์เกี่ยวกับการยอมรับข้อบกพร่อง ยอมรับความผิดพลาด หรือยอมรับตนเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่การอัพเดตตัวเองอยู่เสมอ ดังที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอร์ (George Bernard Shaw, 1856-1950) นักประพันธ์บทละครรางวัลโนเบลชาวไอริช กล่าวว่า “การใช้ชีวิตที่ผิดพลาดไม่เพียงมีเกียรติ แต่มันมีประโยชน์มากกว่าชีวิตที่ใช้ไปโดยไม่ทำอะไรเลย”

ปรัชญาวะบิ-ซะบิ มุ่งมองความงามในความเป็นมนุษย์ ขณะที่บางส่วนเสี้ยวในหุ่นยนต์สากลราวี นำเสนอแนวคิดอีกฝั่งด้าน พวกหุ่นยนต์ถูกผู้สร้างป้อนข้อมูลให้เห็นว่ามนุษย์คือสิ่งเลวร้าย โดยพวกมันจะสร้างสังคมหุ่นยนต์สมบูรณ์แบบขึ้นครองโลกแทน

 

สังคมในฝัน
ความสมบูรณ์แบบคือความงาม?

ใน ห.ส.ร. หุ่นยนต์สากลราวี บริษัทผู้สร้างมุ่งผลิตหุ่นยนต์ในฝัน แฮร์รี่ โดมิน ผู้อำนวยการบริษัทหุ่นยนต์สากลรอสซัม กล่าวอย่างอหังการกับอัลควิสต์ หัวหน้าใหญ่ด้านการก่อสร้างของบริษัทว่า

“…โอ้ อดัม อดัม! เจ้าจักไม่ต้องแลกขนมปังด้วยหยาดเหงื่ออีกต่อไป เจ้าจะได้กลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ที่ซึ่งเจ้าเคยได้รับการดูแลโดยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เจ้าจะเป็นอิสระและยิ่งใหญ่ เจ้าจักไม่ต้องมีภารกิจอื่นใด ไม่มีงาน ไม่มีอะไรให้ต้องเอาใจใส่นอกเหนือไปจากการพัฒนาตัวของเจ้าเองให้สมบูรณ์แบบ”

“เจ้าจะเป็นนายของสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลโลก” (หน้า 56)

 

สังคมสมบูรณ์แบบของคาร์ล มาร์กซ์

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx, 1818-1883) มองว่า ระบบทุนนิยมไม่ต่างจากระบบทางเศรษฐกิจทั้งหลายในประวัติศาสตร์ คือเป็นระบบที่มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยที่ระบบทุนนิยมนั้นมีผู้ได้ประโยชน์คือ ‘นายทุน’ ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต

ขณะผู้เสียประโยชน์คือ ‘กรรมกร’ หรือ ลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน เมื่อถึงที่สุดกรรมกรจะลุกขึ้นร่วมกันกำจัดนายทุน และจัดระเบียบสังคมใหม่ โดยรวมปัจจัยการผลิตเข้าไว้ ณ ศูนย์กลางเพียงที่เดียว ทุกคนจะทำงานให้กับศูนย์ หรือ ‘รัฐ’ แลกกับส่วนแบ่งตามกำลังงาน มาร์กซ์เรียกระบบเช่นนี้ว่า ‘เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ’ ซึ่งนำไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา

หากมาร์กซ์มีชีวิตถึงปี 1920 เขาคงลุกขึ้นประกาศว่า

“นี่แน่ะไอ้พวกนายทุน จงเตรียมตัวไว้ หุ่นยนต์จะลุกขึ้นปฏิวัติแล้ว!”

 

เมื่อหุ่นยนต์ลุกขึ้นราวี

ในบทละครของคาเรล ชาเป็ก ตัวละครอย่างแฮรี่ โดมิน ราวกับถูกผู้เขียนกำหนดให้เป็นตัวแทนของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เชื่อว่าระบบสังคมแบบคอมมูน ทุกคนเท่ากันหมดในสายป่านการผลิต เป็นคำตอบล้ำเลิศของการจัดระเบียบโลก โดยโดมินพยายามคัดง้างตอบโต้แนวคิดทุนนิยม ผ่านการวิจารณ์พฤติกรรมการแก่งแย่งแข่งขันอย่างเลวร้ายของมนุษย์ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ควบคุมได้ของสังคมหุ่นยนต์

คาเรล ชาเป็ก ในร่างของโดมิน พูดกับตัวละครเฮเลนา ในตอนที่พวกหุ่นยนต์ลุกขึ้นต่อต้านพวกเขาว่า “…ไม่มีอะไรที่สามารถโกรธเกลียดกันเองได้มากเท่ากับมนุษย์อีกแล้ว! ลองเปลี่ยนให้ก้อนหินกลายเป็นคนดูสิ พวกมันก็จะพากันรุมปาก้อนหินใส่เรา!…” (หน้า 141)

ทว่า บางคนกลับ ‘สำนึกพลาด’ (คำของสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ) และกลับลำไม่เห็นด้วยกับโดมิน

‘บัสแมน’ ผู้อำนวยการการตลาดและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ห.ส.ร. เชื่อว่า การที่พวกเขาผลิตหุ่นยนต์มากเกินไปคือความผิดพลาด ไม่ช้าก็เร็วพวกหุ่นยนต์จะแข็งแกร่งกว่ามนุษย์ และปัญหาสังคมหุ่นยนต์ย่อมตามมา เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้สร้างจากความฝันสวยหรูหรือฝันสมบูรณ์แบบ หากแต่สร้างจากตัณหา ความเห็นแก่ตัว สติปัญญา ความรัก และอุดมการณ์หาญกล้า

ซึ่งเหล่านี้คือส่วนสร้างความเป็นมนุษย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงของสมาพันธ์หุ่นยนต์สากลของรอสซัมแห่งแรก พวกเขาประกาศประณามว่า มนุษย์เป็นศัตรูที่ต้องถูกขับไสไล่ส่งออกนอกจักรวาล พวกเขาอยู่เหนือมนุษย์ในลำดับวิวัฒนาการ แข็งแรงกว่า ชาญฉลาดกว่า และมนุษย์นั้นหากินกับพวกเขาราวกับปรสิต ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงระบุว่า

“…หุ่นยนต์ร่วมโลกทั้งหลาย! พวกเจ้าได้รับคำสั่งให้กำจัดมนุษยชาติให้สิ้นซาก จงอย่าละเว้นผู้ชาย จงอย่าละเว้นผู้หญิง รักษาไว้เฉพาะโรงงาน ทางรถไฟ เครื่องจักร เหมือง และทรัพยากรดิบต่างๆ เท่านั้น ทำลายอย่างอื่นให้หมด จากนั้นจงกลับไปทำงาน การทำงานจะหยุดลงไม่ได้เป็นอันขาด…” (หน้า 120)

ประกาศของสมาพันธ์หุ่นยนต์ ไม่ต่างจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ทำลายเครื่องมือทำกิน เนรเทศ และประหารเจ้าของที่ดินรายใหญ่ (Landlord) โดยเฉพาะในประเทศจีนหลังการออกกฎหมายการปฏิรูปที่ดินในปี ค.ศ.1950 (The Agrarian Reform Low of 1950)

 

หนึ่งร้อยปีโรคระบาด
และความสำนึกพลาด
ในสังคม (ไม่) สมบูรณ์แบบ

ปีที่คาเรล ชาเป็ก ปล่อยหุ่นยนต์สากลราวีออกมา ประเทศไทยตรงกับปี พ.ศ.2463 ย้อนกลับไป 2 ปี ก่อนหน้านั้น (พ.ศ.2461) ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ทหารอาสาจากสยามหรือประเทศไทยเดินทางกลับจากยุโรป พวกเขานำของฝากน่าสะพรึงกลับมาด้วยคือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Infruenza) มีประชากรสยามถึงร้อยละ 36.6 หรือ 2,317,633 คน ที่รับเอาของฝากชิ้นนี้ มีคนเสียชีวิตถึง 80,213 คน

ไข้หวัดใหญ่สเปน ในประเทศไทยหรือสยามขณะนั้น สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2462 ใครจะคิดว่า 1 ศตวรรษต่อมา เชื้อโรคตัวใหม่จะตามราวีมนุษย์อีกครั้งในชื่อ COVID-19

ขณะเดียวกันระบบทุนนิยมก็แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของกลไก ไม่ว่ากี่ร้อยปีระบบนี้ไม่ได้สูญสิ้นไปไหน มันทำงานอยู่ในโครงสร้างสังคมตลอดเวลา อาศัยสถานการณ์เอื้ออุ้มเผยตัวขยายใหญ่

ปี 2562 เราได้ยินข่าวขบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ข่าวบ่อนการพนันพัวพันเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้นตอการระบาดระลอกใหม่ เราได้ยินข่าวเรื่องนายทุนผูกขาดกุมวัคซีนเพียงเจ้าเดียว ทั้งหมดรัฐบาลไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ขณะปีปัจจุบัน (พ.ศ.2566) รัฐบาลใหม่ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลผู้ชนะการเลือกตั้ง ไม่อาจตั้งทีมรัฐบาลได้ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากฝ่ายอำนาจเดิม และกระแสตลาดหุ้นตกต่อเนื่อง เพราะกลุ่มทุนไม่ไว้ใจนโยบายของนายพิธา นำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายทุนอสังหาริมทรัพย์จากพรรคเพื่อไทย และเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่นำนายใหญ่อย่างทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์และการปะทะปะทุทางสื่อสังคมอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

กลับมาที่หุ่นยนต์สากลราวี ก่อนจบเรื่อง อัลควิสต์ อีกหนึ่งตัวละครมนุษย์ผู้สำนึกพลาด ได้แอบปล่อยตัวพรีมุสกับเฮเลนา เขาเห็นว่าหุ่นทั้งสองมีหัวใจ มีความรัก เสียสละ และความต้องการในแบบที่มนุษย์พึงมี (ไม่ต่างจากอดัมกับอีฟ) จากนั้นเขาพลีชีพแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

บทละครของคาเรล ชาเป็ก เรื่องนี้ จึงตั้งคำถามอายุหนึ่งศตวรรษเอาไว้ว่า หากความเห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบคือสิ่งต้องยังดำรงอยู่เพื่อเขียนประวัติศาสตร์มนุษย์ รัฐอำนาจและฝ่ายการเมืองควรเป็นคนแรกที่ต้องทบทวนตัวเอง และยอมรับว่าสำนึกพลาด เพื่อสร้างสังคมที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และแสดงให้เห็นถึงความงามของความรับผิดชอบ ใช่หรือไม่

และในพื้นที่ร่วมระหว่างสังคมสมบูรณ์กับสังคมไม่สมบูรณ์แบบ รัฐและนักการเมืองจัดวางหัวใจตัวเองไว้ตรงไหน

…หรือกลายเป็น robot สมบูรณ์แบบ กันไปหมดแล้ว?