รวบตึงข่าวเด่นยานยนต์ไฟฟ้า 2566 ยอดขายทุบสถิติ-‘ฮอนด้า’ ลุยผลิต EV

สันติ จิรพรพนิต

ปี 2566 ที่ปิดฉากลงไปถือว่าเป็นอีกปีทองของบรรดายานยนต์พลังงานไฟฟ้า

เรียกว่าเป็นปีที่พีกสุดสุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของค่ายรถยนต์จากจีน ที่พาเหรดกันมาเป็นขบวนใหญ่

ยอดขายที่พุ่งทะยานอย่างน่าเหลือเชื่อ สวนทางกับรถยนต์พลังงานเก่าที่ได้รับความนิยมลดลง

การปรับตัวของคนไทยที่ยอมรับในข้อด้อยมากขึ้น ไม่ว่าเป็นเรื่องระยะทาง หรือปัญหาสถานีชาร์จ

หลายๆ ปัจจัยทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ยานยนต์ สุดสัปดาห์” จึงรวบรวมข้อมูลต่างๆ และความเคลื่อนไหวของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

รถยนต์ไฟฟ้าขายพุ่งสวนตลาด

นับจากต้นปี 2566 ภาพรวมยอดขายรถยนต์ของไทย ถือว่าปรับตัวลดลงพอสมควร

นับจากเดือนมกราคม-ตุลาคม รวม 10 เดือน รถยนต์มียอดขาย 645,833 คัน ลดลง 7.51% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

เรียกว่าลดลงแทบทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะตลาดรถกระบะและพีพีวี หรือปิกอัพดัดแปลง

เช่นเดียวกับกลุ่มรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือไอซีอี ตกลงไม่น้อย

จะมีเพียงกลุ่มรถเล็กเช่นอีโคคาร์ ที่พอประคองตัวไว้ได้ และที่เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนคือกลุ่มรถยนต์ลูกผสมไฮบริด

แต่เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรืออีวี กลับทะยานทุบสถิติต่อเนื่อง

นับเวลา 11 เดือนจากมกราคม-พฤศจิกายน 2566 รถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายรวมกว่า 6.7 หมื่นคัน

พุ่งขึ้นราวๆ 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ทำยอดขายได้รวม 9,729 คัน

ยิ่งหากนับถอยหลังไปอีกพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 มียอดขายทะยานชนิดติดปีกก็ว่าได้

โดยปี 2564 รถยนต์ไฟฟ้าในไทยขายได้ 1,935 คัน

และปี 2563 ขายได้ 1,056 คัน

เรียกว่าภายในเวลาเพียง 3-4 ปี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

ได้เงินอุดหนุน-ออปชั่นจูงใจ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูง ส่วนหนึ่งไม่พ้นใกล้สิ้นสุดนโยบายเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ให้คันละ 1.5 แสนบาท ซึ่งจะหมดเขตสิ้นปี 2566

จึงเป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยที่ลังเล ต้องรีบตัดสินใจ

บวกกับมีค่ายรถจากจีนพาเหรดเข้ามา ทำตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และมีรถโมเดลใหม่ออกมาต่อเนื่อง

เมื่อเทียบราคากับรถในเซ็กเมนต์เดียวกับที่เป็นเครื่องยนต์อื่น แทบไม่ต่างกันเลย

ผิดจากในอดีตที่รถยนต์ไฟฟ้าราคาจะสูงมาก เมื่อเทียบกับรถเซ็กเมนต์เดียวกัน

บรรดาค่ายรถจากจีนเหมือนจะพอรู้อุปนิสัยคนไทย ที่เลือกรถจากความสวยงาม และออปชั่น

ทำให้แต่ละรุ่นที่ออกมาใส่กันแบบจัดหนัก ให้เยอะจนเมื่อเทียบกับรถเครื่องยนต์อื่นแล้ว ลูกค้ารู้สึกคุ้มกว่า

ค่ายรถจากจีนยังรู้ข้อด้อยเกี่ยวกับความเชื่อมั่น เพราะในอดีตรถแบรนด์ใหม่ๆ บางทีเข้ามาขายแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนปิดตัวลง

ทำให้ในช่วงหลายปีหลัง ค่ายจีนเกือบทั้งหมดล้วนทุ่มเงินเพื่อสร้างโรงงาน และตั้งเป้าใช้ไทยเป็นฐานส่งออกในตลาดอาเซียนด้วย

จึงยิ่งสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น และสะท้อนกลับมาเป็นตัวเลขยอดขายนั่นเอง

 

แท็กซี่ไฟฟ้าเริ่มเข้าสู่ระบบ

ด้วยความประหยัดพลังงานบวกกับราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ทำให้ปีนี้เกิดแกระแสแท็กซี่ไฟฟ้า

นำเข้าโดยบริษัทไอออน (AION) ค่ายยักษ์ใหญ่จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อกลางปี 2566

โดยรุ่นแรกคือ “ไอออน วาย พลัส” เป็นเอสยูวี 5 ประตู ที่ตั้งราคาตอนแรกเกินล้านบาทนิดๆ

ก่อนทยอยปรับราคาจนเหลือเริ่มต้นไม่ถึง 9 แสนบาท

และล่าสุดเจาะตลาดรถแท็กซี่ ด้วยการส่ง “ไอออน อีเอส” (AION ES) เก๋ง 4 ประตู

โดยร่วมมือกับบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด โดยบริษัท อรุณ พลัส ภายใต้ ปตท.

ล็อตแรกสั่งจำนวน 850 คัน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น หากได้รับความนิยม

เนื่องจากตามปกติแท็กซี่จะปลดระวาง หรือครบอายุการใช้งานปีละประมาณ 6-7 พันคัน

ไอออน อีเอส ตั้งราคาขายสำหรับประชาชน และผู้ให้บริการแท็กซี่อยู่ที่ 8.5-9.3 แสนบาท

โดยหากจองซื้อแบบแท็กซี่จะมาพร้อมระบบต่างๆ เพื่อรับผู้โดยสารได้ทันที

ขนาดตัวถังพอๆ กับแท็กซี่ในปัจจุบัน วิ่งได้ไกลสุดต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง 442 กิโลเมตร

การชาร์จไฟกระแสสลับ AC ใช้เวลาชาร์จไฟ 0-100% ภายใน 6 ชั่วโมง

ชาร์จไฟกระแสตรง DC ชาร์จจาก 0-80% ภายใน 40 นาที

ที่สำคัญราคาพลังงานเมื่อเทียบกับระบบแก๊สถูกกว่าราวๆ ครึ่งหนึ่ง

 

‘ฮอนด้า’ เดินสายพานผลิตรถอีวี

หลังปล่อยให้ค่ายจากจีนขายรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี อย่างเป็นล่าเป็นสัน ในที่สุด “ฮอนด้า” ก็เปิดฉากเข้าร่วมแชร์ตลาด

ช่วงปลายปี 2566 เริ่มเดินสายพานการผลิต “Honda e:N1” เอสยูวีไฟฟ้า

ถือเป็นค่ายญี่ปุ่นเจ้าแรกที่ผลิตรถอีวีในประเทศไทย

Honda e:N1 มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการและทำตลาดในไทย ช่วงไตรมาสแรกปี 2567

ฮอนด้ามองว่าเป็นบันไดก้าวสู่เป้าหมายปี พ.ศ.2573 ในการผลิตและจำหน่ายยนตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV)

ด้วยสัดส่วนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคันทั่วโลก

Honda e:N1 ใช้พื้นฐานเดียวกับฮอนด้า “HR-V” ถือเป็นเอสยูวีที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งของฮอนด้าในประเทศไทย

จากนี้คงต้องดูว่าจะตั้งราคาได้จูงใจขนาดไหน หากแพงกว่ารุ่นเครื่องยนต์ไฮบริดที่ขายอยู่ตอนนี้ไม่มากนัก น่าจะพอซัดกับค่ายรถจากจีนได้

เพราะฮอนด้าได้เปรียบเรื่องชื่อชั้น และศูนย์บริการอยู่แล้ว •

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]