‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ผลงานศิลปะที่หลอมรวมศาสตร์ศิลป์หลากแขนง ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินระดับโลกอีกคนที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger)

ศิลปินชาวเยอรมันผู้ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะยุคปัจจุบัน ผู้ทำงานศิลปะที่ก้าวล้ำเข้าไปในพรมแดนของ งานสถาปัตยกรรม งานดีไซน์ เพื่อสำรวจจุดบรรจบของศาสตร์เหล่านี้และตั้งคำถามกับแก่นแท้ของมัน

โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ เกิดในปี 1966 ที่เมืองเอสลิงเก็น ประเทศเยอรมนี เขาเข้าศึกษาในสถาบัน St?delschule กรุงแฟรงก์เฟิร์ต ภายใต้การสอนของ โธมัส บายเริลร์ (Thomas Bayrle) ศิลปินเยอรมันผู้บุกเบิกศิลปะแนวป๊อปของเยอรมัน และ มาร์ติน คิปเพนแบร์เกอร์ (Martin Kippenberger) ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพล

ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร

ทั้งสองส่งอิทธิพลต่อความคิดของโทเบียสอย่างมาก ในการกำจัดความคิดฟุ้งฝันเกี่ยวกับความลี้ลับเลิศเลอสูงส่งของศิลปะ และอัจฉริยภาพอันเลิศล้ำของศิลปิน และดึงศิลปะให้เข้ามาใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน

ผลงานของเรห์แบร์เกอร์ เป็นการแสดงความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นรอบตัว ผ่านงานศิลปะ, ดีไซน์ และสถาปัตยกรรม หากแต่ไม่ใช่การเลียนแบบให้เหมือนจริงอย่างทื่อตรง หากแต่เป็นการค้นหานิยามและความหมายใหม่ๆ และทำความเข้าใจกับความเป็นจริงที่ว่า ด้วยกระบวนการทำงานศิลปะ

เรห์แบร์เกอร์ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art), สื่อสิ่งพิมพ์, ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ ไปจนถึงงานมัลติมีเดียอย่างวิดีโอ, เกม, ภาพยนตร์ และดนตรี ที่เกิดจากการผสมผสานงานช่างฝีมือแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย

ขอบคุณภาพจาก นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ผลงานของเขามักจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กลายเป็นพื้นที่ลูกผสมระหว่างศาสตร์หลายสาขา เพื่อสำรวจบทบาทของศิลปะ สถาปัตยกรรม และดีไซน์ ด้วยส่วนผสมของความงามทางสายตา และวัตถุที่มีประโยชน์ใช้สอย ที่ร่วมกันสร้างประสบการณ์ร่วมอันแปลกใหม่ แต่ก็เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ชม

เรห์แบร์เกอร์มักเล่นสนุกเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับงานศิลปะ ว่ามันควรจะมีหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยหรือไม่ ทำให้ผลงานของเขาหลายชิ้นไม่ใช่วัตถุสำหรับการจ้องมองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีฟังก์ชั่นและใช้งานได้จริงไม่ผิดกับงานดีไซน์ จึงทำให้งานของเขายากจะจำแนกแจกแจงว่ามันเป็นอะไรกันแน่? ด้วยส่วนผสมของความงามทางสายตา และประโยชน์ใช้สอย ผลงานของเขาสร้างประสบการณ์ร่วมอันแปลกใหม่ แต่ก็เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายให้กับผู้ชม ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานของเขายังมักเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมเล่นสนุก และมีปฏิสัมพันธ์กับตัวงานอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Tsutsumu (2001) สวนหินญี่ปุ่นที่ผุดขึ้นในสวนสาธารณะ เมดิสันสแควร์ ในนิวยอร์ก ที่ประกอบด้วยสวนหิน, ต้นบอนไซ, ม้านั่งยาว และหิมะที่ปกคลุมพื้นอย่างน่าพิศวงแม้จะเป็นในช่วงฤดูร้อน

หรือผลงาน Outsiderin e Arroyo rande, (2002) โคมไฟแก้วแฮนด์เมดรูปทรงเลื่อนไหลละมุนละไม ที่ส่องแสงหลากสีสันตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของคนในอาคาร

หรือผลงาน Gu Mo Ni Ma Da (2006) เรือศิลปะรูปร่างแปลกตาขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในนิทรรศการ American Traitor Bitch ที่เขาทำร่วมกับเพื่อนศิลปินชาวเดนมาร์กเชื้อสายเวียดนาม ดาห์น โว (Danh Vo) โดยได้แรงบันดาลใจจากเรือในความทรงจำที่พ่อของเพื่อนศิลปินชาวเวียดนามต่อขึ้นเพื่อหลบหนีลี้ภัยออกจากเวียดนามหลังจากกรุงไซ่ง่อนแตก

หรือผลงาน 1661-1910 from Nagasaki, Meiji, Setti (2015) ผลงานที่เขาทำให้ Fondation Beyeler ในเทศกาลศิลปะ อาร์ต บาเซล, ชายหาดไมอามี ในรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังที่ประกอบขึ้นจากกระเบื้องโมเสกหลากสี ต่อกันเป็นภาพกิจกรรมทางเพศ อันมีที่มาจากภาพศิลปะเชิงสังวาส ของญี่ปุ่นที่ถูกเบลอบังจนรางเลือนด้วยเซ็นเซอร์โมเสก ผลงานชิ้นนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่คนเราสามารถมองเห็น หรือไม่อาจมองเห็น และความเป็นรูปธรรมที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นนามธรรมในกระบวนการเซ็นเซอร์

หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์อย่างม้านั่งและแจกันไม้ประดับที่วางตั้งอยู่ในพื้นที่แสดงงานก็ถูกออกแบบให้เป็นพิกเซลล้อไปกับภาพโมเสกฝาผนัง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุสองมิติและสามมิติในห้องแสดงงานเข้าไว้ด้วยกัน

ขอบคุณภาพจาก นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ในปี 2009 เรห์แบร์เกอร์ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ (Golden Lion) ในสาขาศิลปินยอดเยี่ยม ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53 จากผลงาน Was du liebst, bringt dich auch zum Weinen (Everything that you love, can makes you cry too) (2009) ศิลปะจัดวางในรูปของคาเฟ่ ที่ตั้งอยู่ในอาคารแสดงศิลปะ Palazzo della ‘Esposizione ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าไปใช้บริการได้จริงๆ ภายในคาเฟ่ตกแต่งด้วยสไตล์ที่ผสมผสานระหว่างความย้อนยุคและความล้ำยุค ด้วยการใช้วอลล์เปเปอร์สีขาวดำลวดลายเรขาคณิตสนุกสนานลวงสายตา ตัดกับเฟอร์นิเจอร์สีสันฉูดฉาดจัดจ้าน รูปทรงแปลกตา ที่ช่วยสร้างบรรยากาศอันน่าพิศวงขึ้นมาในพื้นที่ที่เชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาใช้งาน ซึ่งเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ เขาร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติฟินแลนด์อย่าง Artek ออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้ในคาเฟ่แห่งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

เรห์แบร์เกอร์มีนิทรรศการแสดงศิลปะในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หอศิลป์ Whitechapel ในลอนดอน, สถาบันศิลปะร่วมสมัย Fondazione Prada ในมิลาน, พิพิธภัณฑ์ Tate Liverpool ในเมืองลิเวอร์พูล, พิพิธภัณฑ์ Stedilijk ในอัมสเตอร์ดัม เขายังร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennial ครั้งที่ 53 ในปี 2009

ผลงานของเขาถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำอย่าง พิพิธภัณฑ์ Hirshhorn Museum and Sculpture Garden ในวอชิงตัน ดี.ซี., พิพิธภัณฑ์ Kunstmuseum Wolfsburg ในเยอรมนี และพิพิธภัณฑ์ Serralves ในปอร์โต โปรตุเกส

ขอบคุณภาพจาก นนทวัฒน์ นำเบญจพล
ขอบคุณภาพจาก นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ เรห์แบร์เกอร์นำเสนอผลงาน Nai Nam Mee Pla, Nai Na Mee Khao – In the water there is fish, in the field there is rice. (2023) ที่ได้แรงบันดาลใจจากสุภาษิตของไทยที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ด้วยการสร้าง “ห้องใต้นา” หรือห้องใต้ดินที่ผู้ชมสามารถเดินลงบันไดแคบๆ เพื่อเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ล้อมรอบด้วยทุ่งนา ด้านบนห้องเปิดโล่งราวกับจะให้ท้องฟ้าเบื้องบนเป็นหลังคา

ภายในห้องมีผลงานประติมากรรมจัดวางหลากสีสันที่จำลองผลงานภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ คลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ (The Great Wave off Kanagawa-??????) (1829-1833) อันลือเลื่อง ของศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) ออกมาในรูปของกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่เรียงตัวไล่เฉดสีเป็นภาพพิกเซลสามมิติรูปคลื่นยักษ์แตกฟอง บนประติมากรรมคลื่นยักษ์ที่ว่านี้ยังประดับด้วยปลากระป๋องหลากสัญชาติจากทั่วโลก ราวกับเป็นฝูงปลาแหวกว่าย ให้ผู้ชมสามารถหยิบฉวยกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร
ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร
ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร

นับเป็นผลงานศิลปะที่หลอมรวมศาสตร์และศิลป์หลากแขนงรวมถึงวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอย่างเปี่ยมสีสันสนุกสนานอย่างยิ่ง จริงๆ อะไรจริง!

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) •

ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร
ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร
ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร
ขอบคุณภาพจาก ณัฐกมล ใจสาร

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์