‘ความเปราะบาง’ ของรัฐบาลผสมข้ามขั้วอุดมการณ์ : บทเรียนจากประเทศเนเธอร์แลนด์

มาร์ก รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ (Photo by PIROSCHKA VAN DE WOUW / POOL / AFP)

การตั้งรัฐบาลผสม (coalition government) จากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และแนวนโยบายที่แตกต่างหลากหลาย บางนโยบายถือว่าไปคนละทิศทางกัน อันเนื่องมาจากฐานคิดในทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ส่งผลให้รัฐบาลผสมข้ามขั้วลักษณะนี้มี “ความเปราะบาง” อย่างมากในการดำเนินนโยบาย

ความเปราะบางดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัจจัย 3 ด้าน

1) อำนาจบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรีต้องแบ่งไปตามพรรคการเมืองที่มีนโยบายต่างกัน ทำให้การทำงานแต่ละกระทรวงต่างคนต่างเดิน การประสานงานไม่เกิดขึ้น

2) นโยบายของแต่ละพรรคมากจากฐานคิดที่แตกต่างกัน หากจำเป็นต้องมีการตัดสินใจในประเด็นที่อ่อนไหว จะกระทบจุดยืนทางอุดมการณ์ของพรรค

3) เมื่อฐานคิดและอุดมการณ์ต่อนโยบายแตกต่างกันย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีและจะเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการปรับคณะรัฐมนตรี ที่จะมีการต่อรองทั้งตำแหน่งและนโยบายสูงมาก จนพรรคแกนนำไม่ใช่คนกำหนดทิศทางทางการเมืองอีกต่อไป

 

สภาพความเปราะบางเช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมีบทเรียนให้เห็นในหลายประเทศ โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการเมืองประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีความคลายคลึงกับการเมืองไทยเพราะใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) ภายใต้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา (parliamentary system) ซึ่งในช่วงที่เกิดรัฐบาลเปราะบางเพราะข้ามขั้วอุดมการณ์ในสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์ก รูตต์ (Mark Rutte)

ในทางรัฐศาสตร์ การเมืองของประเทศเนเธอร์แลนด์ถูกมองว่าเป็นต้นแบบของการมีรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพ เพราะลักษณะของสังคมเนเธอร์แลนด์มีความแตกต่างทางความคิด อุดมการณ์ และศาสนาที่สูงมาก จนถูกกล่าวว่าเป็นสังคมที่มีความแตกแยกฝังลึก (deep division in society)

แต่ข้อเด่นคือเนเธอร์แลนด์มีกระบวนการในการสร้างสถาบันทางการเมือง (institution-building) ในการจัดการกับความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวด้วยการมีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อ (party-list proportional representation) จนทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองหลายพรรค (multi-party system) มารองรับความคิดที่หลากหลาย

พร้อมกับการสร้างการเมืองแบบรัฐบาลผสมที่เน้นการต่อรอง เปิดกว้าง และอดทนอดกลั้นรับฟังความเห็นต่าง

อย่างไรก็ดี รากฐานของการเมืองเนเธอร์แลนด์ที่เน้นรัฐบาลผสมและการประณีประนอมอยู่ด้วยกันท่ามกลางความเห็นต่าง กลับถูกท้าทายโดยนักการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ใช้อุดมการณ์ประนิยมอย่างนายเคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) และพรรคเพื่อเสรีภาพ (PVV) ใช้แนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งดึงคะแนนเสียงจากประชาชนด้วยนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และสร้างความกลัวให้กับศาสนาอิสลาม

ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในบริบทที่การเมืองเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และวิกฤตสุขภาพจากโควิด-19 ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความอดทนอดกลั้นทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์ตกต่ำลง

 

แม้ว่านายเคียร์ต วิลเดอร์ส และพรรคเพื่อเสรีภาพจะไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่รัฐบาลที่ถือครองอำนาจมายาวนานของนายกรัฐมนตรี 4 สมัยอย่างมาร์ก รูตต์ และรัฐบาลผสมที่มีแกนนำมาจากพรรคฝ่าวขวากลางอย่างพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (VVD) ต้องเผชิญหน้ากับกระแสสังคมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยประชานิยมของฝ่ายขวาจัด เกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพและสถานะของสหภาพยุโรป ที่ทำให้ความอดทนของประชาชนมีน้อยลง

ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดที่ 4 ของมาร์ก รูตต์ ต้องทำการ “ผสมข้ามขั้ว” ระหว่างพรรคฝ่ายขวากลางอย่างพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (VVD) และพรรคเรียกร้องประชาธิปไตยคริสเตียน (CDA) ต้องรวมกับพรรคสายกลางค่อนไปทางเสรีนิยมอย่างพรรคสหภาพคริสเตียน (CU) และพรรคที่มีความคิดก้าวหน้าอย่างพรรคประชาธิปไตย 66 (D66)

โดยการเจรจาต่อรองรัฐบาลผสมนี้ใช้เวลากว่า 299 วันในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ.2564-2565 ซึ่งใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จัดตั้งรัฐบาลผสมของเนเธอร์แลนด์

ภายใต้รัฐบาลผสมหลากหลายขั้วอุดมการณ์นี้ ส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลมาร์ก รูตต์ เต็มไปด้วยปัญหาในหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาสวัสดิการเด็ก (Child welfare) ที่หน่วยงานเก็บภาษีของรัฐกล่าวหาพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีการปกปิดข้อมูลจนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกเงินคืนกว่า 26,000 ครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลมาร์ก รูตต์ ในสมัยที่ 3 และเมื่อสามารถตั้งรัฐบาลสมัยที่ 4 ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

จนนำมาสู่ปัญหาสำคัญที่เป็นระเบิดเวลาจากแนวคิดฝ่ายขวาสุดโต่งคือ “นโยบายผู้ลี้ภัย” โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีผู้ขอเข้ามาลี้ภัย (asylum seekers) จากปัญหาสงครามในประเทศซีเรียและยูเครนกว่า 47,000 ราย และมียอดสูงขึ้นจนไปถึง 70,000 รายในปี พ.ศ.2566

ส่งผลให้รัฐบาลของมาร์ก รูตต์ และนโยบายของพรรค VVD พยายามจำกัดจำนวนผู้ขอลี้ภัย การเพิ่มขั้นตอนรายละเอียดให้มากขึ้น ลดจำนวนครอบครัวผู้ติดตามผู้ลี้ภัยลง และลดพื้นที่จัดสรรสำหรับผู้ลี้ภัย ซึ่งนำสู่ความแออัดและปัญหาสุขภาพในบ้านพักผู้ลี้ภัย และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมว่าเป็นนโยบายที่ไร้มนุษยธรรม

ต่อมา พรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวากลางอย่างพรรค VVD และ CDA นำเสนอระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยสองสถานะ (two-status system) เป็นสถานะ A คือ ผู้ลี้ภัยที่กลับประเทศไม่ได้เพราะเสี่ยงต่อชีวิต และสถานะ B ผู้ลี้ภัยที่รอถูกส่งกลับประเทศเมื่อสงครามจบ

โดยนโยบายระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยสองสถานะถูกต่อต้านอย่างมากจากพรรคสายกลางอย่างพรรค CU และพรรคที่มีความคิดก้าวหน้าอย่าง D66 จนทำให้เกิดความกดดันในการทำงานร่วมกันของรัฐบาลผสม

ส่งผลให้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2566 นายมาร์ก รูตต์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และเป็นจุดสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของนายมาร์ก รูตต์ และจุดจบของรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีอายุเพียง 1 ปี 228 วัน เท่านั้น

 

จากที่กล่าวมานี้ การเมืองเนเธอร์แลนด์ที่แม้จะมีสถาบันทางการเมืองในการสร้างรัฐบาลผสมในสังคมที่เห็นแตกต่างกัน ยังต้องเผชิญกับวิกฤตความคิดขวาจัดและทำให้รัฐบาลผสมข้ามขั้วอุดมการณ์ไปต่อไม่ได้ เพราะขัดแย้งทั้งตำแหน่ง ความคิด อุดมการณ์ และนโยบาย

จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้กับการเมืองไทยและรัฐบาลผสมข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยว่า “ความเปราะบาง” ดังกล่าว หากไม่ถูกจัดการอย่างระมัดระวัง

ผลลัพธ์อาจเกิดแบบเดียวกับรัฐบาลผสมข้ามขั้วชุดที่ 4 ของมาร์ก รูตต์ ก็เป็นได้

 


เอกสารอ้างอิง

Fieschi, Catherine (2019) Populocracy : The Tyranny of Authenticity and the Rise of Populism, Newcastle : Agenda Publishing.