คณะทหารหนุ่ม (71) | ดร.บุญชนะ อัตถากร 1 ใน 8 ผู้ต้องหาที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวต่อทางราชการ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

อิสรภาพ

“รัฐบุรุษชื่อเปรม” บันทึกการนิรโทษกรรมผู้ก่อการไว้ดังนี้…

“ความสามัคคีในชาติเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะช่วยกันพัฒนาประชาธิปไตยให้กับบ้านเมืองอีกทางหนึ่ง พล.อ.เปรม จึงพยายามเรียกร้องหาสิ่งนี้อย่างต่อเนื่องเสมอมาในทุกโอกาส รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่บรรดาผู้ก่อการไม่สงบครั้งนี้อย่างรวดเร็ว ยังผลให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นทหาร ตำรวจเป็นส่วนใหญ่พร้อมพลเรือนอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามอบตัวและรับการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พ้นความผิด

เว้นแต่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการไม่สงบกับพรรคพวกอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงหลบหนีอยู่เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในข่ายนิรโทษกรรมนี้ด้วย

รัฐบาลเลือกเอาโอกาสอันเป็นวันมงคลของชาติคือวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล เป็นวันประกาศนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาดังกล่าว

การปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษบางเขนเริ่มต้น หลังการประกาศนิรโทษกรรมไม่นาน บรรดาครอบครัวญาติมิตรต่างเดินทางมารับตัวกันอย่างคึกคักพร้อมเสียงไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี

ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมพากันรวมตัวอยู่หน้าอาคารเรือนจำต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพร้อมใจกันร้องเพลงสดุดีมหาราชาและเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยมี พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นต้นเสียง หลังจากนั้นก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปเคารพและขอขมาลาโทษที่ศาลพระภูมิพ่อปู่และพระภูมิ

การนิรโทษกรรมครั้งนี้ได้รับการสรรเสริญจากประชาชนหลายกลุ่มว่าเป็นการตัดสินใจที่นายกรัฐมนตรีใช้หลักเมตตาธรรมตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตามสัญญาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการนิรโทษกรรมครั้งนี้กระทำในนามของรัฐบาลโดยออกเป็น “พระราชกำหนด” ซึ่งยังจะต้องเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น การนิรโทษกรรมครั้งนี้ยังมิได้ครอบคลุมผู้ต้องหาที่มิได้เข้ารายงานตัวต่อทางราชการ

จึงยังคงเป็นที่หนักใจของผู้ต้องหาทั้ง 8 นายที่ยังคงหลบหนีต่อไป

ผู้ก่อการทั้งหมดที่ถูกคุมขังจำนวน 52 นาย เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วต่างแยกย้ายกันกลับสู่ครอบครัวและต้องหาทางดิ้นรนดำรงชีวิตต่อไป เนื่องจากแม้จะไม่ได้ถูกถอดยศ แต่แกนนำสำคัญก็ถูกลงโทษทางวินัยด้วยการปลดจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ

วิบากกรรมของผู้ก่อการจึงยังไม่สิ้นสุด

 

ดร.บุญชนะ อัตถากร

แม้การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมของรัฐบาลต่อผู้ก่อการ 1-3 เมษายน จะทำให้สถานการณ์คลายความตึงเครียดลงอย่างมาก แต่เงื่อนไขที่ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวต่อทางราชการซึ่งมีอยู่ 8 คนนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

“บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า” ของ บุญชนะ อัตถากร 1 ใน 8 ผู้ต้องหาที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวต่อทางราชการและเดินทางไปพำนักอยู่ ณ กรุงลอนดอน ได้บันทึกความเห็นต่อพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ไว้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2524 ไว้ดังนี้

“1. เนื่องจากพระราชกำหนดนิรโทษกรรม พ.ศ.2524 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2524 กำหนดให้ยกโทษแก่ผู้ร่วมการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 ซึ่งแท้งเสียก่อน ยกเว้นบุคคล 8 คน เป็นทหาร 6 คน พลเรือน 2 คนรวมทั้งข้าพเจ้า โดยอ้างเหตุว่ามิได้ไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย และมีหมายจับโดยเจ้าพนักงานอยู่ก่อนแล้ว

2. ผลจากพระราชกำหนดดังกล่าวนี้ ถ้าในวันที่ 14 พฤษภาคม 2524 เมื่อมีการนำพระราชกำหนดนี้เข้าสู่สภาเพื่อรับรอง สภาไม่แก้ไขเพิ่มเติมข้อความให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลทั้ง 8 ดังกล่าวในวรรคก่อน และถ้าต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นสมัยรัฐบาลใหม่ต่อจากรัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ หรือสมัยรัฐบาลที่มีการฉลองกรุงเทพฯ ครบรอบ 200 ปียังไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่บุคคลทั้ง 8 คนนี้ บุคคลทั้ง 8 คนนี้รวมทั้งข้าพเจ้าก็จะไม่มีโอกาสกลับเมืองไทยได้ เว้นแต่ว่าเวลาจะล่วงไปจนหมดอายุ 20 ปีแล้วจึงจะมีโอกาสกลับเมืองไทยได้โดยไม่ต้องคดี

3. มองอีกแง่หนึ่ง ตัวข้าพเจ้าหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับนิรโทษกรรม 7 คนหากจะลองเสี่ยงกับเมืองไทยเพื่อไปสู้คดีก็ย่อมจะทำได้ แต่มีแนวโน้มว่าเราทั้ง 8 คนคงจะต้องถูกตัดสินจำคุกทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพชั่วระยะหนึ่ง เสร็จแล้วรัฐบาลคงจะขอพระราชทานอภัยโทษให้เพื่อให้สอดคล้องกับการนิรโทษกรรมที่ได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524

4. เมื่อคำนึงดูเหตุผลทางได้ทางเสียแล้ว คนทั้ง 8 รวมทั้งข้าพเจ้าคงจะไม่มีใครเสี่ยงและกลับไปสู้คดีดังกล่าวในวรรคก่อน เพราะนอกจากจะทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพดังกล่าวแล้วยังอาจจะต้องอยู่อย่างเสียสิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น

5. ความหวังที่มีเหลืออยู่จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลใหม่อาจจะมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ 8 คนที่ยังเหลืออยู่ก็ได้ เพราะจะเท่ากับเป็นการทำให้ความแตกร้าวระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ลดน้อยลงไปอีก หรือถ้าสมาชิกรัฐสภาเห็นว่ามีทางทำได้ ก็อาจจะขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมให้รวมถึงคนทั้ง 8 นี้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2524 นี้ก็อาจจะทำได้

6. ความหวังดังกล่าวในวรรคก่อนมีอยู่บ้างแต่ไม่มากมายนัก ดังนั้น จึงอาจจะหวังว่ารัฐบาลสมัยฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปีก็คงจะดำเนินการให้นั้นอาจจะมีอยู่บ้าง อันนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในปี 2525 เดือนเมษายน ซึ่งก็ดูจะไม่ไกลนัก

7. ที่กล่าวนี้เป็นการมองโลกในแง่ดีว่าคนทั้ง 8 อาจจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่จะควรมองในแง่เดียวเสมอไป ถ้ามองในแง่ร้าย แต่ละคนใน 8 คนคงจะต้องรอต่อไปจนครบ 20 ปีตามอายุความ ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นก็คงแก่หง่อมไปตามๆ กัน

สำหรับข้าพเจ้าก็คงสิ้นชีวิตไปแล้วเพราะขณะนี้ก็อายุร่วม 71 ปีเข้าไปแล้ว”

บุคคลทั้ง 8 ที่ยังคงต้องหลบหนีคดีต่อไปตามเหตุผลของ ดร.บุญชนะ อัตถากร นี้ นอกจากตัว ดร.บุญชนะแล้ว อีก 7 คนคือ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา หลบหนีไปอยู่ประเทศพม่า พ.อ.มนูญ รูปขจร หลบหนีไปอยู่ประเทศเยอรมนี พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี หลบหนีไปอยู่ สปป.ลาว พ.อ.บวร งามเกษม พ.อ.วีรยุทธ อินวะษา พ.อ.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง และนายรักศักดิ์ วัฒนพานิช หลบหนีอยู่ในประเทศ