หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๗)

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๗)

 

หากความจริง คือเป้า สำหรับปาลูกดอก โดยมีคะแนนแตกต่างกัน หากโดนที่ใจกลางเป้า เรียกว่า โดน bull eye จะได้ ๑๐ คะแนน และลดหลั่นออกมา จนถึงไม่โดนเป้าเลย เรียกว่า ผิดเป้า ได้ ๐ คะแนน

หากเปรียบเทียบกับการแสวงหาความจริง

๑๐ พื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ

๙ พรมแดนของความเข้าใจทั่วไป

๘ ตำบลของความรู้ที่คลุมเครือ

๗ ตำบลของความรู้ที่คลุมเครือหนักขึ้น

๖ สนามของความรู้แจ้งที่มืดมัว

๕ สนามของความรู้แจ้งที่มืดมิด

๔ อาณาจักรของการคาดเดา

๓ อาณาจักรของการคาดเดาที่หนักกว่าเดิม

๒ เขตแดนของจินตนาการ

๑ เขตแดนของจินตนาการล้วนๆ

ค่อยๆ ลดหลั่นออกมา จนถึง

๐ ความไม่รู้โดยสิ้นเชิง

สมมุติว่านี้คือการแข่งขัน ทุกคนมีสิทธิปาลูกดอกสิบครั้ง แล้วรวมคะแนนที่ได้ คนที่ปาโดนใจกลางมากที่สุด ก็คือผู้ชนะ

คนที่ปาโดน bull eye ทั้งสิบครั้ง คือผู้ชนะแน่นอน

เขาได้รับการปรบมือ และผู้ชมส่งเสียงครวญคราง

แต่หากนี่คือการหาความจริง ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะหลายปัญหา ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่รู้ และเพราะความมั่นใจในตัวเอง สิ่งที่พวกเขาคิด อาจยิ่งผิดหนักกว่าคนอื่น เรียกว่ายิ่งหลงทาง นี้คืออวิชชา ซึ่งหากตีเป็นคะแนน คือติดลบ

ความละเอียดอ่อน ของความจริง

ไม่มีพื้นที่ไหนเลย ที่ถูกต้องที่สุด

แม้แต่ความไม่รู้เลย ก็ไม่แน่ว่าจะเลวที่สุด

บางปัญหา ผู้ไม่รู้เลย กลับดีที่สุด

 

หากเราเป็นผู้แข่งขัน เราก็ต้องปาลูกดอกสิบลูก

และคะแนนที่ได้ คือความเป็นจริง

เราก็ปาเท่าที่เราปาได้ ทำดีที่สุด

และรับผลของมัน

ความลึกซึ้งของชีวิต อยู่ที่เราคาดการณ์ไม่ได้

เกมมีผู้แพ้ผู้ชนะ

มีคะแนนแบ่งแยกชัดเจน

แต่ทว่า มันเป็นเพียงเสื้อผ้า ของความจริง

ใครที่ยึดมั่นในสิ่งนี้

คือผู้ติดยึดในอวิชชา

น่าขำดี บางครั้งฉันเป็นผู้ไม่รู้เลย บางครั้งฉันอยู่ในเขตแดนของจินตนาการล้วนๆ บางครั้งฉันอยู่ในความรู้แจ้งที่มืดมิด

ชีวิตมีความหลากหลาย

ที่แปลกคือ

เราไม่รู้จริงๆ ว่าคำตอบที่แท้ควรอยู่ตรงไหน

มันไม่จำเป็นต้องอยู่ใน bull eye

เราไม่จำเป็นต้องเป็น ผู้เชี่ยวชาญ

ฉันละเอียดยิบแบบนี้ เรียกว่าละเอียดระดับควอนตัม

เพราะระบบความคิดของฉัน เป็นอนุภาคมูลฐาน

มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ยิบย่อย ในความว่างเปล่า

 

มนุษย์มีสิทธิใช้ชีวิตแบบไหน

๑ ใช้ชีวิตแบบโมเลกุล

๒ ใช้ชีวิตแบบอะตอม

๓ ใช้ชีวิตแบบอนุภาคมูลฐาน

ในอุดมคติของฉัน เราควรใช้ชีวิตแบบอนุภาคมูลฐาน

เท่ากับว่า ฉันสามารถรับมือกับสภาวะโลกร้อนได้อย่างสบาย

แต่โลกนี้เป็นของคนจำนวนมหาศาล

และพวกเขาส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตแบบโมเลกุล หรืออะตอม

เท่ากับว่า เราไม่มีทางรอด

เพราะเราเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และช้าเกินไป เราจมอยู่ในความเคยชินเดิม

แฟนของฉัน เป็นตัวอย่าง เธอยัง

๑ อยากกิน

๒ อยากเที่ยว

อย่างแรงกล้า

ทั้งที่เธอก็เฉลียวฉลาด มีความรู้ เข้าใจปัญหา

แต่ทว่าจิตของเธอปรับเปลี่ยนไม่ได้

เธอหนักเกินไป

 

เธอจะหยุดกิน ถ้าหมอสั่งห้ามเด็ดขาด

จะหยุดเที่ยว ถ้ารัฐบาลสั่งงดวีซ่า สายการบินหยุดวิ่ง เช่น เกิดโรคระบาดทั่วโลก หรือเกิดภัยพิบัติใด

แต่ถ้ารัฐออกวีซ่า สายการบินกลับมาทำงานตามปกติ เธอก็พร้อมจะออกเที่ยว อย่างสนุกสนาน ตื่นเต้นเหมือนเด็กๆ อายุสิบสี่-สิบห้า

ลองเสื้อผ้าชุดนั้น ลองชุดนี้

สนุกจังเลย ที่ได้ใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ อีกแบบ

ตื่นเต้นจังเลย ที่จะได้ไปอีกดินแดนหนึ่ง เบื่อดินแดนเก่า เหมือนเบื่ออาหารเก่า

นี้คือชีวิตของโมเลกุล หรืออะตอม

ช้าแบบนี้ จะไปรับมือกับสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร