บนเส้นทางสู่รัฐธรรมนูญ ของประชาชน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งการเมืองไทย และถึงจะมีคนแย้งว่าการเมืองไทยขัดแย้งก่อนจนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2560 ปัญหานี้ก็เหมือนไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกันที่เถียงกันไม่จบ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมีหลายมิติ และความขัดแย้งแต่ละมิติก็มีต้นกำเนิดต่างกัน

ถ้าถือว่าความขัดแย้งทางการเมืองหลักในรอบหลายปีนี้คือใครควรเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้แน่ๆ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ผลก็คือพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลท่ามกลางความไม่ยอมรับจากประชาชน

เพื่อป้องกันการบิดเบือนว่าคนที่ไม่ยอมรับวิธีตั้งรัฐบาลแบบนี้เป็นแค่กองเชียร์ก้าวไกลซึ่งผิดหวังที่พรรคตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาล ต้องระบุด้วยว่าการมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งซึ่งสังกัดพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 เป็นประเพณีการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี

มองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2531 ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นนายกฯ เพราะนำพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ตำแหน่งนายกฯ จากการเลือกตั้งล้วนมาจากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นคุณชวน หลีกภัย ในปี 2535, คุณบรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2539, คุณทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554

อาจมีคนแย้งว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯ ทั้งที่แพ้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2551 แต่วิธีได้ตำแหน่งนายกฯ แบบนี้ทำให้สังคมไทยขัดแย้งในปี 2553 จนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มีคนตายเป็นร้อย

ข้ออ้างเรื่องนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคอันดับ 1 ในสังคมนี้จึงไม่มีเหตุผลรองรับเลย

 

ขณะที่ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยทำให้เกิด “ฉันทานุมัติ” เรื่องนายกฯ จากการเลือกตั้งต้องมาจากพรรคอันดับ 1 รัฐธรรมนูญของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2560 ก็สร้างกติกาการเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยซึ่งทำลายประเพณีการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยที่ต่อเนื่องมาเกือบ 4 ทศวรรษอย่างไม่มีชิ้นดี

พูดให้ตรงไปตรงมาขึ้น รัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ทั้งที่แพ้เลือกตั้งคือการหักล้าง “ฉันทานุมัติ” หรือกติกาของสังคมไทยเรื่องนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีการสร้างวาทกรรมโจมตีพรรคก้าวไกลมากแค่ไหน และไม่ว่าจะอ้างว่ารัฐบาลเพื่อไทยมีผลงานมากอย่างไรก็ตาม

ด้วยรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อล้มล้างหลักการเรื่องนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง

ประเทศไทยหลังปี 2560 จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งเหมือนสมัยที่มีนายกฯ ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกในปี 2535 และ 2553

จนกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างวิกฤตทางการเมืองถึงวันที่เพื่อไทยตั้งรัฐบาลข้ามขั้วขึ้นมา

 

แม้การได้เป็นรัฐบาลทั้งที่แพ้เลือกตั้งจะเป็นความสำเร็จทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย

แต่สำหรับคนที่รักประเทศไทยจริงๆ ไม่ใช่รักเพียงเพราะพรรคตัวเองได้เป็นรัฐบาล วิธีได้มาซึ่งรัฐบาลแบบนี้ทำให้เกิดปัญหา 2 ข้อซึ่งมีผลต่อการสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ข้อแรก รัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจด้วย “กติกา” แบบ “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” เรื่องให้ ส.ว.เลือกคนที่แพ้เลือกตั้งอย่างคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ จะสร้าง “ความยอมรับ” อย่างไรจากสังคมที่มี “ฉันทานุมัติ” มาเกือบ 40 ปีว่านายกฯ จากการเลือกตั้งต้องมาจากพรรคที่ชนะอันดับ 1 ในการเลือกตั้งทั่วไป

ข้อสอง คุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีทั้งที่แพ้เลือกตั้งจะสร้าง “ความชอบธรรมทางการเมือง” อย่างไรเมื่อเทียบแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ชนะอันดับ 1 ในการเลือกตั้งอย่างคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลซึ่งมีผู้ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ 14.5 ล้านคน หรือมากกว่าพรรคเพื่อไทยเกือบ 30%

มองในแง่รัฐบาลแล้ว วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดนี้คือการกระชับความสัมพันธ์กับชนชั้นนำฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เป็นพันธมิตรพรรคการเมืองและเครือข่ายผู้สนับสนุนกลุ่มดังกล่าวให้มากที่สุด และทำทุกทางเพื่อด้อยค่าพรรคที่ชนะอันดับ 1 โดยหวังลดความชอบธรรมทางการเมืองให้ต่ำเท่ารัฐบาล

หากถือว่าการเมืองคือการแย่งอำนาจรัฐให้เป็นของตัวเอง วิธีที่รัฐบาลทำก็เข้าใจได้ทั้งหมด

แต่หากถือว่าการเมืองคือการจัดสรรอำนาจรัฐสู่ประชาชน วิธีนี้รัฐบาลไม่ได้ทำให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้นนัก

เพราะรัฐบาลเลือกจรรโลงความสัมพันธ์กับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง

 

คนของรัฐบาลบางคนอ้างว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล

ส่วนบางคนอ้างว่าสิ่งนี้คือการ “ปฏิสังขรณ์” ประชาธิปไตยโดยอยู่ร่วมกับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยให้มากที่สุด

แต่ปัญหาคือทุกข้ออ้างล้วนเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลบริหารอำนาจโดยเกรงใจผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชนจริงๆ

รัฐบาลทำถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในระยะยาว

แต่ถ้าดูปฏิกิริยาประชาชนในชีวิตประจำวัน ปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตคือการมองข้ามรัฐบาลในสื่อและในโลกออนไลน์เป็นไปอย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างง่ายๆ คือข่าวคุณเศรษฐาหรือรัฐบาลมียอดคนดูต่ำมากในแทบทุกสำนักข่าวในปัจจุบัน

แน่นอนว่าตัวเลขนี้พิสูจน์ง่ายๆ แค่คลิกยูทูบดูยอดวิวข่าวคุณเศรษฐาเทียบกับข่าวพรรคก้าวไกลและคุณพิธา

หรือถ้าหากวิธีสำรวจแบบนี้ไม่หนำใจ ชื่อของ “พิธา” ซึ่งเป็นคำที่คนไทยค้นมากที่สุดในกูเกิลปี 2566 ก็เป็นหลักฐานว่าคนไทยสนใจเรื่องคุณพิธามากกว่าคุณเศรษฐาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลคุมเงิน, คุมนโยบาย และคุมกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตประชาชน เมื่อใดประชาชนสนใจฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เมื่อนั้นรัฐบาลมีปัญหาด้านความยอมรับนับถือแน่ๆ ยิ่งในสังคมที่รัฐบาลคือฝ่ายแพ้เลือกตั้ง ส่วนฝ่ายค้านคือพรรคที่ชนะอันดับ 1 รัฐบาลก็รอเก็บของกลับบ้านได้เลย

ตรงข้ามกับรัฐบาลที่คิดว่าเสถียรภาพของอำนาจได้มาจากการเอาใจชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจเก่าทุกคน ระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพคือระบอบที่ “กติกา” ตรงกับ “ฉันทานุมัติ” ของสมาชิกในสังคมจนสังคมยอมรับ “ระบอบ” และ “รัฐบาล” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในแต่ละห้วงเวลา

 

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของรัฐบาลเศรษฐาจะเป็นอย่างไร แต่สถานะความนิยมของคุณเศรษฐาแบบนี้ไม่ดีทั้งต่อตัวคุณเศรษฐาและรัฐบาล ไม่ว่าคุณเศรษฐาจะทำงานแค่ไหนก็จะเผชิญเพดานของความไม่ยอมรับเพราะที่มาที่ไม่ตรงกับ “ฉันทานุมัติ” ของสังคมเสมอ ถึงแม้จะอ้างว่ามาถูกกติกาก็ตาม

คุณเศรษฐาควรเป็นนายกฯ คนสุดท้ายที่มีอำนาจโดยวิถีทางซึ่งขัดแย้งกับ “ฉันทานุมัติ” เรื่องนายกฯ ต้องมาจากพรรคอันดับ 1 ที่ชนะเลือกตั้ง เพราะคุณเศรษฐาเข้าสู่อำนาจแบบเดียวกับคุณประยุทธ์หลังเลือกตั้งปี 2562 จนทำอะไรก็มีปัญหาเรื่องความไม่ยอมรับและความตะขิดตะขวงใจตลอดเวลา

การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นทางเดียวที่จะยุติปัญหานี้ลงไป และเพื่อจะทำรัฐธรรมนูญให้ตรงกับฉันทานุมัติของคนในสังคมมากที่สุด สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนมากที่สุดคือทางออกหลักของเรื่องนี้

ไม่ใช่สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เสียงประชาชนเป็นไม้ประดับเพียงอย่างเดียว

มีผู้โต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญหลายประเทศไม่ได้มาจากสภาที่เลือกตั้งโดยประชาชน แต่ประเทศที่ถูกอ้างอย่างสหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ล้วนเขียนรัฐธรรมนูญในเวลาที่โลกยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” จนข้อโต้แย้งที่อ้างประเทศอื่นแบบนี้แทบไม่มีน้ำหนักเลย

พูดแบบรวบรัดที่สุด สหรัฐเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1789 หรือราวร้อยปีก่อนสงครามรวมประเทศจะสำเร็จในปี 1865 จนไม่มีทางเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้

ส่วนสหรัฐก็เขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นในปี 1946 หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่มีทางที่ญี่ปุ่นจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เลย

 

ในบริบทสังคมไทยที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งในปี 2540 และ 2550 สภาที่มาจากเลือกตั้งคือหลักประกันที่ดีที่สุดว่าจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ตรงกับ “ฉันทานุมัติ” ของประชาชน เพราะเป็นประตูบานแรกให้สังคมเถียงและเลือกว่าคนแบบไหนและประเด็นอะไรควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับข้อถกเถียงเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งจะได้สมาชิกที่ไม่หลากหลายและไม่ใช่นักวิชาการ การมีนักวิชาการหรือไม่ไม่ควรเป็นประเด็น ส่วนความหลากหลายสามารถสร้างได้ด้วยการออกแบบกระบวนการเลือกสมาชิกสภาร่าง แต่ไม่ใช่ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างไม่ให้เลือกตั้ง 100%

คุณเศรษฐาและคุณประยุทธ์เป็นตัวอย่างของนายกฯ ที่เข้าสู่อำนาจด้วย “กติกา” ที่ไม่ตรงกับผลเลือกตั้งซึ่งเป็น “ฉันทานุมัติ” ของสังคม สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดคือทางออก ส่วนจะเลือกตั้งแบบไหนและด้วยวิธีใดเป็นเรื่องที่ต้องหารายละเอียดต่อในระยะยาว

ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยประชาชน ก็ไม่มีทางสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งไม่มีทางได้นายกฯ ที่เป็นตัวแทนคนทุกฝ่ายในสังคม