วิกฤตทะเลแดง ส่อศึกยิว-ฮามาสขยายวง

(Photo by Alberto PIZZOLI / AFP)

เหตุการณ์ที่นักวิเคราะห์บางคนเรียกว่า “วิกฤตความมั่นคงทางทะเล” กำลังเกิดขึ้นเหนือทะเลแดง และส่งผลสะเทือนต่อทั้งภูมิภาค หรือไม่แน่นักอาจกลายเป็นผลกระทบที่สร้างความยุ่งยากลำบากให้กับทั้งโลกขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน

วิกฤตดังกล่าวก่อตัวขึ้นจากเหตุการณ์ที่กองทัพอิสราเอลเปิดฉากรุกทางภาคพื้นดินเข้าสู่ฉนวนกาซา เขตปกครองตนเองของปาเลสไตน์ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มี กองกำลังฮามาสซึ่งมีอิหร่านหนุนหลังเป็นผู้รับผิดชอบอยู่

กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮูตีในเยเมน หรือกองกำลังในซีเรียและจอร์แดน พากันแสดงออกถึงการเป็น “แนวร่วม” กับฮามาส

ด้วยการโจมตีอิสราเอลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ฮูตี กองกำลังติดอาวุธในเยเมนที่ก่อกบฏยึดพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของเยเมน รวมทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงซานาเอาไว้ได้ แสดงออกถึงการสนับสนุนฮามาสด้วยการประกาศให้พื้นที่ทะเลแดงและช่องแคบบับ-เอล-มันดับ เป็นเขต “ห้ามผ่าน” และลงมือโจมตีเรือสินค้าทั้งหลายที่ผ่านเข้าออกบริเวณดังกล่าว “เพื่อป้องกันไม่ให้เรือสินค้าเข้าถึงท่าเรือของอิสราเอล จนกว่าอาหารและยาจะได้รับอนุญาตจัดส่งสู่กาซา” มากขึ้น

อิสราเอลมีท่าเรือริมทะเลแดงอยู่แห่งหนึ่งคือ เมืองท่าอัยลัท (Eilat) ทางตอนใต้สุดของทะเลทรายเนเกฟ แต่ปัญหาก็คือ การปิดกั้นเส้นทางของฮูตี ส่งผลกระทบต่ออิสราเอลน้อยมาก เนื่องจากปกติแล้วอิสราเอลทำมาค้าขายผ่านอัยลัทเพียงแค่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของการค้าขายทั้งหมดเท่านั้น

ที่กระทบมากที่สุดคือการค้าระหว่างประเทศ เพราะทะเลแดงเป็นน่านน้ำสำคัญที่ต้องผ่าน สำหรับเรือบรรทุกสินค้าทุกลำที่ต้องการเข้าออกคลองสุเอซ

ปริมาณสินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 30 เปอร์เซ็นต์ของการค้าโลกทั้งหมด แถมยังเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงน้ำมันดิบสู่เอเชียหรือยุโรปอีกด้วย

โลกทั้งโลกรู้ข้อเท็จจริงนี้ดี ฮูตีเองก็ต้องรู้ว่า ความเคลื่อนไหวของตนเองอาจไม่สามารถบีบให้อิสราเอลจำนนได้

แต่สามารถบังคับให้นานาชาติจำเป็นต้องเคลื่อนไหว ป้องปราม หรือไม่ก็ป้องกัน

 

เมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประกาศจัดตั้งกองกำลังทางเรือผสมเฉพาะกิจ 10 ชาติ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, บาห์เรน, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, เซเชลส์ และสเปน

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลก

ฮูตีเคยโจมตี หรือคุกคามเรือสินค้าหลายลำมาเป็นระยะๆ เมื่อพฤศจิกายนเคยยึด “แกแล็กซี ลีดเดอร์” เรือสินค้าที่เชื่อมโยงกับอิสราเอลพร้อมลูกเรือทั้ง 25 คน

ต่อมาโจมตีเรือ “สวอน แอตแลนติก” ของนอร์เวย์

พาลาติอุมที่ 3 และเอสเอสซี คลารา ของบริษัทเอ็มเอสซี บริษัทสัญชาติอิตาเลียน-สวิส ตามลำดับ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ 5 บริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือใหญ่ที่สุดใน 5 อันดับแรกของโลก ประกาศระงับใช้เส้นทางผ่านทะเลแดงชั่วคราว

เฉพาะสินค้าที่ 5 บริษัทนี้รับผิดชอบอยู่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสินค้าทางเรือของโลก

บริษัทอย่าง เอ็มเอสซี (อิตาเลียน-สวิส), ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม (ฝรั่งเศส), ฮาแพ็ก-ลอยด์ (เยอรมนี), ยูโรเนฟ (เบลเยียม) และ เอ.พี. โมลเลอร์-เมอส์ก (เดนมาร์ก) จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือสินค้าใหม่ หันไปใช้การอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ปลายสุดของทวีปแอฟริกาแทน

ฟรอนเทียร์ หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของการให้บริการขนส่งน้ำมันดิบด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน ก็ประกาศระงับการเดินเรือผ่านทะเลแดงแล้วเช่นกับบีพี บริษัทน้ำมันของอังกฤษ

 

การใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทำได้ แต่ก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เวลาสิ้นเปลืองมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เรือแต่ละลำจำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 9 วัน เวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่เพียงหมายถึงความล่าช้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงเชื้อเพลิงที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้นมาก และบีบให้บริษัทประกันเรียกเงินพรีเมียมประกันภัยเรือและสินค้าสูงขึ้นด้วยอีกต่างหาก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือสภาพตึงตัวในระบบห่วงโซ่ซัพพลาย ที่จะส่งผลต่อการผลิตของโรงงานการผลิตทั่วโลกให้ล่าช้ามากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และผู้บริโภคได้สินค้าแพงขึ้น

เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ 6 วันในปี 2021 เมื่อเรือเอฟเวอร์กีฟเวน ของบริษัทเอเวอร์กรีนจากไต้หวัน เกยตื้นขวางคลองสุเอซ สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 12,000 ล้านบาท

นอกจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มต้นแล้ว วิกฤตทะเลแดงหนนี้ยังส่อนัยสำคัญต่อความขัดแย้งในตะวันออกกลางด้วยอีกต่างหาก

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า การจัดตั้งกองกำลังผสมเฉพาะกิจ ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหลักนั้น อาจยังไม่เพียงพอ หรือยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้วิกฤตการณ์เหนือทะเลแดงคลี่คลายไปได้ เพราะเป็นเพียงการ “ตั้งรับ” เท่านั้น

หากเป็นเช่นนั้นจริง ทางเลือกที่เหลืออยู่อีกทางก็คือ ปฏิบัติการเชิงรุก อย่างเช่น การโจมตีต่อที่มั่นและคลังแสงของฮูตีโดยตรงเพื่อตัดปฏิบัติการคุกคามทั้งหมด

ถึงตอนนั้น คำถามอาจจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างฮูตีกับอิหร่านว่าแนบแน่นแค่ไหน

แน่นหนาพอที่จะทำให้เกิดศึกใหญ่ในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับตะวันตกหรือไม่เท่านั้นเอง