จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (5)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (5)

 

เรียบเรียงจากคำพูดคุยของผู้เขียนในงานรำลึก อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4 พฤศจิกายน 2566

 

อาจารย์นิธิตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา” (2534) ตอนหนึ่งว่า :

“เป็นความหวังอย่างหนึ่งว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แต่จะยังสามารถรักษาเนื้อแท้ของค่านิยมเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

“…บางครั้งแบบเรียนก็มองความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของชุมชนชาติไทยในลักษณะเป็นสองขั้ว คือระหว่างขั้วที่เป็นจารีตประเพณี และขั้วที่เป็นความทันสมัย มีนัยยะอย่างชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงที่พึงเป็นก็คือการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย

“…แต่การเผชิญความเปลี่ยนแปลงในแบบเรียนนั้นมีขีดจำกัดเพราะจะเผชิญได้ก็แต่ในเงื่อนไขที่ว่า เมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนและ/หรือไม่ควรเปลี่ยนในขั้นพื้นฐาน”

(ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ฯ, น.68, 69)

ทรรศนะลักลั่นย้อนแย้งทำนองเดียวกับในแบบเรียนประถมศึกษานี้ก็ปรากฏในกรณีปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยคนสำคัญอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (พ.ศ.2454-2538) เช่นกันดังที่ ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ สรุปไว้ในงานวิจัย (“การสร้าง ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลักและ ‘ความจริง’ ที่ ‘ความเป็นไทย’ สร้าง”, ฟ้าเดียวกัน, 3 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548), 76-77)

ซึ่งผมขอสรุปว่านี่คือกลุ่มอาการวัฒนธรรมเภทหรือวันทองสองใจ (cultural schizophrenia or double-minded Wanthong syndrome) อันเกิดจากจินตนากรรมของรัฐราชการว่าชาติไทยเป็นหมู่บ้านในอุดมคติท่ามกลางการเร่งผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างรุดหน้าไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดความลักลั่นขัดแย้ง ระหว่างความอยากเป็นไทยกับความไม่อยากเป็นไทย (the desire to be Thai vs. the desire to be un-Thai) กลางใจคนไทยทั้งปวง

กลุ่มอาการวัฒนธรรมเภท หรือวันทองสองใจ

กล่าวคือ :

 

ในส่วนลึกที่สุดแล้ว เราไม่อยากเป็นไทย

เพราะถ้าเป็นไทย เราจะแข่งไม่ชนะในตลาดโลก

เพราะถ้าเป็นไทย เราจะไม่ได้บริโภค

เราเป็นปลื้มเสียไม่มี เวลาได้ยินชาวโลกกล่าวขวัญถึงเราว่า…

‘LITTLE JAPAN’

‘NIC รุ่น 2’

‘มังกรตัวถัดไป’

‘ห่านตัวใหม่’ (ตามกระสวนการพัฒนาแบบ ‘ขบวนห่านบิน’ ที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง)

รัฐมนตรีท่านหนึ่งเปรยว่าอยากให้ไทยเป็น FREE PORT ทั้งประเทศอย่าง SINGAPORE

ผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติใหญ่และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยประกาศเปรี้ยงทางทีวีว่าเศรษฐกิจไทยจะพุ่งโลดโดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรมาก ขอเพียงดำเนินนโยบายทุกอย่างตามแบบ HONG KONG

กำนันเป๊าะฝันเห็นพัทยาเป็น SWITZERLAND

เราไม่อยากเป็นไทยเพราะเรากลัวว่าถ้าเรามัวแช่นิ่งเป็นไทยต่อไป สักวันเราอาจต้องกลายเป็นอย่าง เวียดนาม ลาว เขมร พม่าทุกวันนี้

ซึ่งเราไม่อยากเป็น

ลึกๆ แล้ว เราอยากติดปีกบินหนีเพื่อนบ้านยากจนล้าหลังร่วมวัฒนธรรมเหล่านี้ไปให้สุดไกล

บินออกจากอุษาคเนย์ บินออกจากตัวเรา

บินไปไหน?

ไปเป็นไม่ไทย, ไปเป็นโลกานุวัตร

ภาพจากละคร “วันทอง” ช่อง One, 2021

……………………………………………

ในส่วนลึกที่สุดแล้ว เราอยากเป็นไทย

เพราะถ้าไม่เป็นไทย อำนาจจะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์

เพราะถ้าไม่เป็นไทย ผู้คนจะคิดว่าคนเราเสมอภาคกัน

นั่นจะก่อให้เกิดปัญหามากแก่ระบบอุปถัมภ์ ถ้าผู้คนเริ่มทำตามที่คิด

ผู้ใหญ่จะไม่อาจยืนค้ำหัวผู้น้อย ผู้น้อยจะเริ่มหัวแข็งกระด้างกระเดื่องกับผู้ใหญ่

ผู้คนจะเริ่มมองต่างมุม แทนที่จะว่าอะไรว่าตามกันและตามผู้นำ

ผู้คนจะเริ่มแตกต่างขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ที่เป็นจริง แทนที่จะรู้รักสามัคคีกันตามภาพลักษณ์ในอุดมคติ

และตาสียายสาที่ควรจะหัวอ่อนว่านอนสอนง่ายเซื่องๆ ซึมๆ จะหันไปก่อม็อบปิดถนน ขวางรถ ต้านเขื่อน โสเภณีจะเต็มบ้าน โจรจะเต็มเมือง พระอลัชชีไม่ยอมเปลื้องผ้าเหลือง เด็กจะเลิกเรียก ‘พ่อ’, ‘แม่’ หันไปเรียก ‘ป่าป๊า’, ‘หม่าม้า’, ‘แด๊ดดี้’, ‘มอมมี่’ แทน

คนไทยจะพูดไทยไม่ชัด คนไม่ไทยจะพูดไทยชัด คนไทยคนไม่ไทยจะพูดไทยคำไม่ไทยคำ จนแยกคนไทยกับคนไม่ไทยไม่ออก

นั่นเป็นสิ่งที่ลึกๆ แล้ว เราเกลียดกลัวขยะแขยงที่สุด ไม่ยอมรับและไม่อยากเป็นที่สุด ไม่ใช่เพราะมันไม่ตรงกับความเป็นจริงดังที่เป็นอยู่ในเมืองไทย

แต่เพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ความเป็นไทยในอุดมคติของเรา

และสำหรับเรา อุดมคติสำคัญกว่าความเป็นจริง (ถึงได้สั่งแบนดิกชันนารีลองแมนไง)

(ปรับแต่งจาก เกษียร เตชะพีระ,

“ความเป็นไทยแบบโพสต์โมเดิร์น ตอนใจหนึ่งจอดขุนช้างหนึ่งนั้นขุนแผน” ผู้จัดการรายวัน, 16 มกราคม 2538, น.12)

นางเอกเคราะห์ร้ายผู้ตกเป็นเหยื่อรักสามเส้าในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงเป็นภาพลักษณ์อุปมา-นิทัศน์ (allegorical image) แทนตนสภาพจิตวิทยาสังคมย้อนแย้งร่วมสมัยของสังคมไทยตั้งแต่ยุคพัฒนาถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)