การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม : จุดเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

วันที่ 24 ธันวาคม 2566 จะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในสัดส่วนลูกจ้าง และนายจ้าง

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนของตนโดยตรง

เป็นครั้งแรกนับจากที่เรามีกองทุนประกันสังคมมา 33 ปี นับจากปี 2533

ขณะที่ท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้ คงเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการเลือกตั้ง และหลายท่านอาจทราบผลการเลือกตั้งแล้ว

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากย้ำถึงความสำคัญของกองทุนประกันสังคมและความสำคัญในการทำให้การเลือกตั้งผู้แทนบอร์ดประกันสังคม เป็นบรรทัดฐานเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานมากขึ้น

 

จะว่าไปแล้วแนวคิดประกันสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ Assurance Sociale – ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ในเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นต้นตอให้เกิดการรัฐประหารครั้งแรกในสังคมไทยจากความไม่พอใจของเหล่าชนชั้นนำ

ถัดมาราวนยี่สิบปี ในปี 2497 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ความนิยมเริ่มตก ก็พยายามผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อดึงความนิยมจากกลุ่มคนทำงาน แต่รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ก็หยุดพัฒนาการของประกันสังคมไป และนำสู่การขยายสิทธิ์สวัสดิการของกลุ่มข้าราชการแทน

และต้องรอเกือบ 40 ปี ในปี 2533 ที่ พ.ร.บ.ประกันสังคมถูกประกาศใช้ในคลื่นกระแสของการปฏิรูปประชาธิปไตย

หรือพูดอีกทางหนึ่งว่า ประกันสังคมก็มาพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนคนธรรมดา

 

ประกันสังคมเป็นรูปธรรมของสวัสดิการคนธรรมดา ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีเงินพอที่จะซื้อประกันเอกชนราคาแพง

ประกันสังคมมีเป้าหมายที่ต่างจากประเอกชนที่มุ่งหวังกำไรในการลงทุนและให้ค่าตอบแทนราคาแพงแก่ผู้จัดการกองทุน

แต่มีเป้าหมายสำคัญในการรับประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงเวลาของชีวิต เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แก่คนป่วย คนแก่ คนว่างงาน หรือคนที่มีลูกเล็กเด็กแดง คนตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมอายุ 33 ปีผ่านการทำรัฐประหารมาถึง 3 ครั้ง ในปี 2534 2549 2557 ทุกการรัฐประหารทำให้กองทุนประกันสังคมตกต่ำ

กองทุนขนาดใหญ่โตมหาศาลถูกโยงไปเกี่ยวพันกับระบอบอำนาจนิยม

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน สหภาพแรงงาน ในประเทศที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยกว่าร้อยละ 3 ของกำลังแรงงานในประเทศ

และการรัฐประหารครั้งล่าสุด ได้แต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมเป็นระยะเวลา 9 ปีติดต่อกัน

 

ด้วยเงินมหาศาลของกองทุนประกันสังคมที่มีงบประมาณขนาด 2.3 ล้านล้านบาท

เงินเข้ากองทุนจากผู้ประกันตนและนายจ้าง มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากกว่า 200,000 ล้านบาท งบฯ บริหารสำนักงานหลายพันล้านบาทต่อปีที่มากกว่ากระทรวงแรงงานเสียอีก

กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุด แต่ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับประกันสังคมกลับไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเท่าใดนัก แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์มหาศาลในกองทุนนี้

หากย้อนไป รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2554-2557 มีความพยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจากผู้ประกันตนโดยตรงอยู่แล้ว แต่การรัฐประหารปี 2557 ได้กีดขวางเงื่อนไขนี้ไว้

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในปี 2566 เกิดขึ้นอย่างไม่พร้อมเท่าไรนัก สำนักงานประกันสังคมกังวลว่าหากจัดการเลือกตั้งแบบปกติ ผู้ประกันตนมากกว่า 10 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งสูงหลักพันล้านบาท จึงออกแบบการเลือกตั้งให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งก่อน เพื่อทำให้การจัดการสะดวกและประหยัดขึ้น

แต่ก็กลับสร้างปัญหาเพราะสุดท้ายแล้วการลงทะเบียนเลือกตั้งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากหลักสิบล้านคน เหลือเพียงประมาณ 8.5 แสนคนเท่านั้น หรือน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ประกันตน

ปัญหายังตามมาที่เรื่องหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ได้เหมือนการเลือกตั้งปกติ สมุทรปราการที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลักแสนคน มีเขตเลือกตั้ง 4 จุดเท่านั้น

ขณะที่หลายจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมคนทำงานต้องเดินทางมากกว่า 50 กิโลเมตรเพื่อมาเลือกตั้ง

ซึ่งฟังแล้วดูเป็นต้นทุนมหาศาลสำหรับคนทำงานที่ค่าแรงสามร้อยกว่าบาทต่อวัน

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะดูมีปัญหามากมายครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

เพราะนอกจากเปิดโอกาสให้กองทุนขนาดใหญ่โตมหาศาลยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

ยังเปิดโอกาสให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ “นิยามของประชาธิปไตย” ที่เรามักคุ้นชินกับการเลือกผู้แทนฯ เข้าไปบริหาร ออกกฎหมาย ในอำนาจรัฐ แต่มักไม่คุ้นชินว่ามิติที่สำคัญในชีวิตของเราอย่าง “สวัสดิการในที่ทำงาน” ก็สามารถยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยได้ มาจากการเลือกตั้ง การส่งตัวแทนของคนธรรมดาเข้าไปมีส่วนร่วมได้

หากการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมลุล่วง และมีสัญญาณเชิงบวก เราอาจคิดฝันถึงการเลือกตั้งโดยตรงในคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจต่างๆ หรือบริษัทมหาชนของรัฐ กองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก รวมถึงการนำตัวแบบของประเทศรัฐสวัสดิการหลายประเทศที่คนทำงานสามารถเลือกตั้งและมีส่วนร่วมในบอร์ดบริหารบริษัทที่ตนทำงานได้

เมื่อประชาธิปไตยขยายสู่ชีวิตในที่ทำงาน ก็จะเป็นรากฐานให้ชีวิตประชาธิปไตยในระดับรัฐก็แข็งแรงมากขึ้นด้วยไปพร้อมกัน

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาทางไหน สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้จะทำให้ประชาธิปไตยในที่ทำงานได้เริ่มกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับประชาชนคนธรรมดาอันเป็นรากฐานที่ทำให้ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านจากอุดมการณ์หรือรสนิยม

สู่การเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับการยกระดับชีวิตของคนธรรมดา