3 เดือน เหมือน 3 ปี? | สมชัย ศรีสุทธิยากร

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

รัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2566 เมื่อนับถึงปัจจุบัน จึงเท่ากับได้ทำหน้าที่มาเป็นเวลา 3 เดือนเศษ

เวลา 3 เดือน สำหรับรัฐบาลชุดหนึ่งๆ ที่มีวาระการทำงาน 4 ปี เท่ากับเป็นเวลาเพียงเล็กน้อยและยังไม่เป็นธรรมหากจะมาประเมินผลการทำงาน ทั้งนี้เพราะกว่าการตัดสินใจ กว่าการสั่งการที่ลงไปยังหน่วยราชการที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายจะเกิดผลในทางปฏิบัติทั้งในด้านผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) น่าจะต้องใช้เวลาเป็นปีหรืออย่างน้อยต้องมากกว่า 6 เดือน

แต่เหตุใดประชาชนจึงคาดหวังและรีบประเมินผลการทำงานของรัฐบาล ราวกับไม่มีช่วงเวลาให้เป็นความสุขในช่วงแรก (No honeymoon period)

แต่ละวันที่ผ่าน ผู้เป็นรัฐบาลต้องพบกับคำถามและการทวงถามจากประชาชนมากมาย

นับแต่คำถามแรกว่า หมอชลน่าน ศรีแก้ว จะลาออกกี่โมง

ตามด้วยเมื่อไรค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเป็น 20 บาท

เมื่อใดค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีจะเป็นไปตามคำหาเสียง

ไปจนถึงเมื่อไรจะได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

จนคนในรัฐบาล ถึงกับเปรียบเปรยว่า 3 เดือนที่ผ่านนั้นยาวนานราวทำงานไปแล้ว 3 ปี

 

จุดเริ่มต้น
ที่ขัดความรู้สึกประชาชน

การที่พรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากพรรคก้าวไกล โดยยอมจำนนกับกติกาที่บิดเบี้ยวในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ และหันไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและเป็นกลไกที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร

ทำให้ด่านแรกของการเข้ามาเป็นรัฐบาลเริ่มต้นจากความผิดหวังและไม่ไว้วางใจว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงพรรคการเมืองที่ใฝ่แสวงหาอำนาจ ต้องการเป็นรัฐบาลโดยไม่ได้พิจารณาสิ่งที่เป็นอาณัติ (mandate) ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศจากการปกครองที่อยู่ในมือผู้มีอำนาจชุดเดิม

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องพยายามให้เหตุผลต่อประชาชน คือ จะใช้โอกาสของการเป็นรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

เพราะรู้ดีว่า เมื่อมีโอกาสแล้วไม่สามารถทำได้ คำว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” หรือ “คิดใหญ่ ทำเป็น” จะเป็นสิ่งที่คลายมนต์ขลัง ไม่สามารถขายได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรืออีกตลอดไป

 

คณะรัฐมนตรีต่างตอบแทน

การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน กำกับดูแลการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่ต้องแบ่งกันกระจายหน้าที่รับผิดชอบ กลับไม่สามารถได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่กลายเป็นเรื่องการตอบแทนกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาประกอบเป็นจำนวน ส.ส.ของพรรคและเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาล

ภาพของนักการเมืองสมัยแรก แต่เป็นนามสกุลของนักการเมืองเก่า สามารถขึ้นมาเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวง

ภาพของการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ไม่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ เอาครูไปกำกับทหาร เอาตำรวจไปดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เอาอดีตผู้มีอิทธิพลไปช่วยดูแลในกระทรวงมหาดไทย เอาคนที่น่าจะเก่งเรื่องการเมืองไปดูแลกระทรวงพาณิชย์

ทั้งหมดจึงเป็นไปด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลในทางบริหาร ทำให้กลายเป็นขีดจำกัดความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ

 

คำสัญญามากมาย

การชดเชยความผิดหวังของประชาชนที่เทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง จึงต้องตอบแทนด้วยการมุ่งทำตามคำสัญญาต่างๆ ที่เสนอไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพียงแต่ว่า คำสัญญามากมายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที หรือโดยเร็ว

บางเรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบ บางเรื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไข บางเรื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจและไม่อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมือง

โครงการขนาดใหญ่ เช่น การทำแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนจะเชิญชวนคนมาลงทุน การลดราคาค่าพลังงานเป็นเรื่องที่ใช้เวลาในการวิเคราะห์โครงสร้างราคาพลังงานมากกว่าจะประกาศลดได้ทันที การลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าต้องแลกมาด้วยการยอมขาดทุนสะสมรายวัน เช่นเดียวกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจะไปสั่งการได้

คำสัญญามากมายนั้น เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองที่มีประวัติยาวนานและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ทางการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องที่สามารถดำเนินการให้สำเร็จในเวลาอันสั้น แต่เพื่อฟื้นคืนศรัทธาและความรู้สึกที่เสียไปจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรีบทำแม้จะรู้ดีว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอด เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

เช่น การลดราคาพลังงาน การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า แต่ต้องดำเนินการทันทีแม้จะเกิดปัญหาสะสมในอนาคตก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

 

การตอกย้ำ
จนกลายเป็นความคาดหวัง

นโยบายหลายเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปจำนวนมากอาจไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการหรือเห็นว่าเป็นนโยบายที่สำคัญเร่งด่วน แต่เมื่อคนในรัฐบาลตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าทำได้ภายในระยะสั้นตามคำขวัญ “คิดใหญ่ ทำเป็น”

การพูดซ้ำในลักษณะที่สร้างความหวัง จึงกลายเป็นความคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำได้จริง

ตัวอย่างเช่น นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นคำพูดที่จะได้ยินการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ทั้งในแง่แจกเต็มจำนวน แจกครั้งเดียว และมีกำหนดวัน กำหนดเดือนการแจกที่แน่นอน ทั้งๆ ที่ยังไม่ชัดเจนถึงแหล่งเงินที่จะนำมาแจกว่ามาจากแหล่งใด จะมาจากงบประมาณแผ่นดินหรือการยืมจากรัฐวิสาหกิจ หรือจากการกู้ยืมเงินมาแจก

แต่เมื่อการพูดซ้ำ ตอกย้ำทุกครั้งถึงความจำเป็นต้องทำเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ การได้เงินหนึ่งหมื่นบาทเพื่อมาใช้สอยของประชาชน จึงกลายเป็นความคาดหวังว่าจะได้และกลายเป็นปัญหาของรัฐบาล เดินหน้าก็ขัด ถอยหลังก็ลำบาก

 

ทางออกของสถานการณ์

ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล จึงเป็น 3 เดือนของการตอบคำถามและทวงถามถึงคำสัญญาในนโยบายต่างๆ

แม้นายกรัฐมนตรีจะใช้วิธีการจัดให้มีการแถลงข่าวเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนแบบว่าให้จบสิ้นความสงสัย

การแถลงข่าวหลายครั้งจัดเป็นวาระใหญ่โตที่ประโคมให้คนมารอคอยคำตอบ

แต่ผลจากหลังการแถลงข่าวที่บอกว่า “จบ” ในแต่ละครั้งกลับไม่จบจริง ยังมีคำถามที่ตามมาอยู่ตลอด

จนนายกรัฐมนตรีต้องหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ด้วยการไม่ให้มีการตอบคำถาม หรือใช้คำพูดที่ผู้ข่าวเริ่มจดจำได้ว่า “ขอคำถามต่อไปครับ”

การหาทางออกจากสถานการณ์จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองต้องเปลี่ยนท่าทีในการบริหารประเทศ เลิกพูดถึงคำว่า “จะ” ในอนาคต แต่กล่าวถึงสิ่งที่ “ทำสำเร็จ” แล้วแทน

เพราะ “จะ” จะเป็นการสร้างความหวัง สร้างความฝันในวันข้างหน้า

ส่วน “ทำสำเร็จ” คือได้ลงมือ และทำจนประสบความสำเร็จ และไม่ใช่ผลงานฉาบฉวย สุกเอาเผากิน ขายผ้าเอาหน้ารอด แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการศึกษาและลงมือปฏิบัติอย่างรอบคอบ จริงจัง เป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน

“คิดใหญ่ ทำเป็น” ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ไม่ใช่จากความคิด