‘ดร.ดุลยภาค’ ประเมินอนาคต ‘เมียนมา’ มีแนวโน้มเป็น ‘สหพันธรัฐผสมสมาพันธรัฐ’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ดร.ดุลยภาค’

ประเมินอนาคต ‘เมียนมา’

มีแนวโน้มเป็น ‘สหพันธรัฐผสมสมาพันธรัฐ’

 

หมายเหตุ “ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์อนาคตการเมืองการปกครองในประเทศเมียนมา ภายหลังสถานการณ์สู้รบระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังชาติพันธุ์และรัฐบาลเงาฝ่ายประชาธิปไตย ผ่านทางรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ช่องยูทูบมติชนทีวี

จะให้ (เมียนมา) ล่มสลายในลักษณะที่แตกกระจายออกเป็นรัฐเอกราชอิสระต่างๆ คงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ว่าภายในประเทศพม่ามันจะเป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ เป็นรัฐซ้อนรัฐแบบหลวมๆ ระส่ำระสาย แข่งขันกัน รัฏฐาธิปัตย์มีมากกว่าหนึ่งเจ้าแล้ว คือไม่ใช่รัฐบาลทหาร “มิน อ่อง ลาย” ที่เนปิดอว์ อธิปไตยหลากสีเลย ก็จะแบ่งพื้นที่ทางการปกครองเป็นหย่อมๆๆๆ ไป

แต่ถ้าพูดถึงรูปแบบการปกครอง ผมคิดว่าจะมีลักษณะเป็น “สหพันธรัฐผสมสมาพันธรัฐ” ซ้อนๆ กันอยู่

หมายถึงว่า เวลาพูดถึง “สหพันธรัฐ” ก็จะมีการสร้างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีการแชร์อำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ รัฐบาล “เอ็นยูจี” (รัฐบาลเงาของฝ่ายประชาธิปไตย) ปักหลักว่าจะทำสงครามปฏิวัติเพื่อสร้าง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย” กองทัพ “เคไอเอ-เคไอโอ” ของพวกคะฉิ่น ของกะเหรี่ยง ของกะยา ก็แจมด้วย เพราะมีความฝันตรงนี้ร่วมกัน

แต่ถ้าถามกองทัพอาระกัน เขาบอกว่า “สหพันธรัฐ” ไม่พอ เขาต้องเป็น “สมาพันธรัฐ” ก็คืออำนาจของรัฐบาลประจำรัฐยะไข่หรืออาระกันจะต้องสูงมาก สูงมากกว่ารัฐบาลกลางเนปิดอว์ เพราะฉะนั้น autonomy (อำนาจในการปกครองตนเอง) มันจะเพิ่มมากๆ

ปัญหานับจากนี้ไป ผมคิดว่าเป็นปัญหาเรื่องการจัดการปกครอง โดยเฉพาะระหว่าง “พีดีเอฟ” (กองกำลังพิทักษ์ประชาชนของฝ่ายรัฐบาลเงา) กับกองทัพชาติพันธุ์ ที่เป็นแนวร่วม

ผมยกตัวอย่าง เช่น ถ้าตามตะเข็บชายแดนไทย ในพื้นที่แถวๆ ชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงระนอง มันจะมีเขตปลดปล่อยของพีดีเอฟชัดเจนขึ้น ตรงนี้เขาจะสร้างเขตปลดปล่อยที่มีภาวะอิสระมากขึ้น แล้วอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาของรัฐบาลเอ็นยูจีมากยิ่งขึ้น

แต่ว่าถ้าช้อนไปถึงรัฐฉานภาคเหนือ ผมคิดว่าในสมรภูมิทางเหนือ “พันธมิตรภราดรภาพ” เช่น โกกั้งกับปะหล่อง วันดีคืนดีในอนาคต สองกลุ่มนี้อาจจะบอกว่าควรมีการสถาปนารัฐโกกั้งกับรัฐปะหล่องที่ซ้อนอยู่ในรัฐฉาน แต่ไม่ได้ขึ้นต่ออำนาจรัฐบาลประจำรัฐฉาน จะยอมรับรัฐบาลเนปิดอว์ ถ้ารัฐบาลเนปิดอว์นั้นคนคุมเป็นเอ็นยูจี ก็จะมีการแชร์อำนาจ

แต่ก็ต้องมีการไปเปลี่ยน ไปปักหลักเขตแดนเหมือนกันว่า พื้นที่จะเป็นตรงไหน? เพราะพื้นที่โกกั้งจริงๆ มันมีแค่สองเมืองมารวมกัน ด้านขวาเป็นชายแดนจีน ด้านซ้ายเป็นแม่น้ำสาละวิน

แต่ปฏิบัติการ “1027” โกกั้งข้ามแนวแม่น้ำสาละวินมาได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น อนาคตเวลาสลักเขตแดน (ใหม่) ขึ้นมา โกกั้งอาจจะบอกว่า เขตปกครองโกกั้งที่มันเล็กจะต้องใหญ่ขึ้น แล้วสถาปนาเป็นรัฐโกกั้ง

 

คือการสร้างรัฐเนี่ย ผมพูดตรงๆ ณ วันนี้ ต้นแบบที่สำคัญคือกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งเขามีเขตปกครองพิเศษติดชายแดนจีน แล้วก็มีบางส่วนที่ติดชายแดนไทย

แต่มาวันนี้ ว้าปักธงว่าจะสถาปนารัฐว้า แล้วบริเวณตรงกลางที่คั่นระหว่างว้าเหนือติดจีนกับว้าใต้ติดไทย เช่น เมืองเชียงตุง ก็จะเป็นฐานของกองทัพพม่า (ที่รู้จักกันในนาม) ภาคทหารบกสามเหลี่ยมที่เชียงตุง แล้วมีกองกำลังไทใหญ่อยู่บ้าง

อนาคต ถ้าว้าอยากเอาพื้นที่นี้ให้มันต่อติดกันเป็นเขตว้า กินตลอดบูรพาสาละวิน ทหารพม่าจะเอาอย่างไร? จะต้องออกจากเชียงตุง หรือต้องปกป้องเชียงตุงอย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้มีปัญหา

ตอนนี้อำนาจรัฐบาลทหารพม่าถูกกองทัพชาติพันธุ์ไล่ตกลงจากชายแดนภูเขามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วกระจุกมาอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นใจกลางของประเทศ โดยเฉพาะในลุ่มอิรวดีกับสะโตง ก็มีเนปิดอว์ ตองอู ขึ้นไปมิถิลา ศูนย์กลางกองทัพอากาศ ไปมัณฑะเลย์ มันจะกระจุกอยู่ประมาณนี้

แต่ถ้าถามว่าแขนขาของกองทัพพม่าที่เป็นกองบัญชาการภาคทหารบก เช่น ในมิตจีนาที่รัฐคะฉิ่น ในล่าเสี้ยวที่รัฐฉานภาคเหนือ ก็ยังมีการควบคุมอำนาจรักษากองกำลังได้อยู่ แต่ก็ถูกกองกำลังชาติพันธุ์กับพีดีเอฟ (ตี) ซ้อนเข้ามาเรื่อยๆ

เหมือนกับมันถูกตัดเป็นวงแหวน มาโอบล้อมตัวพื้นที่ใจกลางของพม่า แล้วกองบัญชาการ (ของฝ่ายรัฐบาลทหาร) ที่อยู่อาณาบริเวณชายแดนภูเขาก็โดนบล็อกเหมือนกัน…

 

ภาพเปรียบเทียบพัฒนาการการเมืองที่ชัดที่สุด คือย้อนไปดูสมัย “สลอร์ก-เอสพีดีซี” ซึ่งเป็นเผด็จการทหารเต็มใบ โครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำก็จะบอกว่า ใครเป็นเบอร์หนึ่ง ใครเป็นเบอร์สอง ก็คือ “ตานฉ่วย” กับ “หม่องเอ” ถึงแม้จะมีการจรัสแสงขึ้นมาของ “ขิ่นยุ้นต์”

เบอร์หนึ่ง-เบอร์สอง ก็มีข่าวว่าแข่งขันสะสมบารมีกันบ้าง ท้าทายอำนาจกันบ้าง แต่สุดท้าย เขาก็จับมือต้านภัยคุกคามต่างๆ ไปด้วยกัน แล้วก็จัดให้มีเลือกตั้ง แล้วก็ลงจากการเมืองไปพร้อมๆ กัน

มาวันนี้ ผมเห็นภาพของมิน อ่อง ลาย เป็นเบอร์หนึ่ง แล้วก็ “โซวิน” เป็นเบอร์สอง เขาก็จับมือแท็กทีมกันพอสมควร มิน อ่อง ลาย อายุมากกว่าโซวิน

ถ้าคิดว่าเป็นการ “ปฏิวัติจากข้างใน” โดยเบอร์สองล้มเบอร์หนึ่ง คิดว่ายังจะยากอยู่ แต่ถ้ามีสัญญาณบางอย่างว่า คนแวดล้อมใกล้ชิดของมิน อ่อง ลาย เริ่มจะไม่จงรักภักดีมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะมีการกัดกร่อนจากข้างในเอง ก็ทำให้กองทัพพม่าอ่อนแอไปเหมือนกัน

หัวข้อสำคัญ ผมคิดว่าเป็นเรื่องการเจรจา สมมุติว่ามิน อ่อง ลาย จนมุมมากๆ แล้วถูกบีบให้เจรจา เขาจะยอมเจรจาไหม? กับพีดีเอฟ เอ็นยูจี แล้วก็กลุ่มชาติพันธุ์

เพราะตอนนี้ ผมได้ยินข่าวมาเหมือนกันว่า เอ็นยูจีประกาศว่าจะไม่เจรจากับรัฐบาลทหารพม่า จะต้องทำสงครามปฏิวัติล้างบางทหาร เพื่อสร้าง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย”

แต่ก็มีท่าทีที่อ่อนลงมาหน่อยของทางกลุ่มนี้ ว่าเจรจาได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ทหารพม่าต้องออกจากการเมืองไปเลย ถามว่าเป็นแบบนี้ ทหารพม่ายอมหรือไม่? อย่างไร? ก็ต้องไปพิจารณากันอีกที ซึ่งในประเทศที่ทหารปกครองมากว่า 50 ปี แล้วก็ยึดครองปกครองรัฐได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เขาจะยอม (รับ) ในฐานะที่ต้องออกจากการเมืองไปเลยหรือไม่?

แต่ถ้าถูกบีบจริงๆ มันก็อาจจะต้องเดินหน้าเข้าสู่การเจรจา