ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เจตนาแรกผมกะว่าจะเล่าประสบการณ์ทำพิธีแบบจีนที่บ้านเพียงแค่ไม่กี่ตอนสั้นๆ

แต่พอได้ทบทวนและขอความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์ ซีรีส์นี้ก็ยาวมาจนถึงสิบแปดตอนเข้านี่แล้ว โดยหวังใจว่าเรื่องที่ไปสอบถามค้นคว้ามาจะมีประโยชน์มากกว่าการแค่เล่าถึงประสบการณ์เฉยๆ

ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ได้กรุณาติดตามอย่างอดทน

 

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วครับ หลายท่านอาจมองว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและวัฒนธรรมอินเดีย ตัวผมเองก็ใช้เวลาในการศึกษาเรื่องพวกนี้มาค่อนชีวิต แม้ยังเห็นตนเองไกลจากคำว่าผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็ยังคงชอบและชื่นชมความรู้ทางนี้อยู่

ทว่า ในปัจจุบันผมหันกลับมาสนใจเรื่องจีนในทางศาสนาและวัฒนธรรมค่อนข้างมาก ด้วยเพราะอายุมากขึ้น และคำนึงถึงว่าหากไม่ศึกษารากเหง้าของตนในวันนี้ เกรงว่าจะไม่ทัน

อีกทั้งหากมีสิ่งใดจะมอบแด่หลานตัวน้อยผู้มีอายุไม่กี่ขวบ ซึ่งจะเติบโตไปในโลกกว้างอันท่วมท้นไปด้วยข้อมูลและค่านิยมต่างๆ และอาจถูกพัดพาให้ตัดขาดจากอดีต อาแปะผู้ปราศจากเงินทองทรัพย์สิน ก็คงมีเพียงความรู้เหล่านี้เป็นของขวัญที่จะมอบให้ได้กระมัง

คงต้องเล่าอีกว่า หลังพิธีกรรมในบ้านผ่านพ้นไปแล้ว ก็ได้ปรนนิบัติกราบไหว้เซ่นสรวงทั้งแท่นบูชาเทพเจ้าและแท่นบูชาบรรพชนตามขนบอยู่เนืองนิตย์ จุดธูปและเค่งเต๋หรือถวายชาทุกวันเท่าที่จะทำได้

วันพระจีนหนึ่งค่ำสิบห้าค่ำ (ชิวอิด จับหง่อ) ก็มีผลไม้ถวาย เทศกาลต่างๆ ก็ตั้งอาหารไหว้ตามประเพณีมิได้ขาด

 

มิตรสหายผู้อ่อนไหวต่อพลังความศักดิ์สิทธิ์ วันหนึ่งเข้ามาที่บ้าน เมื่อเห็นแท่นบูชานี้ก็พูดเพียงสั้นๆ ว่า “แท่นบูชานี้เป็น active shrine นะ”

คือเขาเหมือนจะรับรู้ได้ว่ามีพลัง ไม่นิ่งไม่เฉื่อย ไม่ว่าเขาจะรับรู้ด้วยวิธีใด ผมได้แต่ยิ้มแล้วคิดถึงความเชื่อจีนที่ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องมีมนุษย์เข้าสัมพันธ์ สถานที่ใดมีคนเคารพกราบไหว้ไม่ขาดสาย กลิ่นธูปควันเทียนยังกรุ่น ความศักดิ์สิทธิ์ก็บังเกิดขึ้น

วันหนึ่ง มิทราบว่าอะไรดลใจ ผมทักอาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง ผู้ประกอบพิธีไปว่า ต้องการเรียนรู้พิธีกรรมอย่างจีน ทั้งเพื่อปรนนิบัติแท่นบูชาให้ดีมากขึ้น หรือในอนาคตอาจได้ช่วยผู้คนด้วยวิชาความรู้นี้

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผมพบว่าหลังจากที่ทราบว่าเทียดของตนเองเป็นฮวดกั๊ว เป็นผู้ประกอบพิธีไสยเวทจีน แต่สิ่งนี้ได้ขาดช่วงไปในตระกูล ความอยากเชื่อมต่อกับรากเหง้าก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อความอันทรงพลังที่ส่งจากบรรพชนมายังตนเอง เป็นเสียงเรียกที่ปฏิเสธไม่ได้

อันที่จริงไสยเวทแบบจีนยังมีผู้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ไม่ขาดสายโดยเฉพาะในภาคใต้ของไทย ไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะสูญหายหรือหาได้ยาก

หลายท่านอาจเคยเห็นคลิปเด็กๆ มัธยมประกอบพิธีเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ

ทว่า สำหรับผมแล้วมันมิใช่เพียงเรื่องพิธีกรรมหรืออาชีพ หรือเพียงเรื่องของครอบครัว แต่เป็นลมหายใจทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชน อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคม กาลเวลา ค่านิยม หลายสิ่งกำลังจะเหลือเพียงรูปแบบ ผิดเพี้ยนไปจากหลุดหลงไปจากเนื้อหาสาระดั้งเดิมอย่างน่าเสียดาย

อาจารย์นนท์หรือเทียนเต็กฮวดซู้ ฟังแล้วก็หัวเราะและถามว่าผมจะเรียนอะไร เพราะพวกเราอยู่คนละจังหวัด ท่านอยู่ภูเก็ต ส่วนผมอยู่ในกรุงเทพฯ จะเรียนก็ต้องเรียนกันแบบออนไลน์เป็นหลัก

แต่ผมยืนยันหนักแน่นว่า ต้องการจะเรียนเรื่องพวกนี้ให้ได้ ท่านก็ยอมรับ

 

จากนั้นกระบวนการคัดสรรที่ผมไม่รู้มาก่อนก็เกิดขึ้น อันที่จริงหลายสำนักวิชาไสยเวทยังมีขนบในการคัดศิษย์แบบนี้กล่าวคืออาจารย์ต้องใช้เวลาดูใจสักระยะหนึ่ง อาจเป็นปีหรือหลายปี พอเห็นว่านิสัยใจคอว่ามีความพร้อมแล้ว จึงจะนำเอาดวงชะตามาตรวจสอบว่าไม่ขัดกับผู้สอนและมีศักยภาพที่จะเรียน (ผมมาทราบในภายหลังว่า ในดวงชะตาตนเองมีส่วนที่ได้จากบรรพชนติดมาด้วย จึงเรียนได้)

และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอีกอันหนึ่ง คือการเสี่ยงทายถามเทวาจารย์โดยการโยนไม้โป่ย หากขึ้นเซ้งโป้ยสามครั้งติดกันจึงจะถือว่าคนคนนี้ได้รับอนุญาตให้เรียนไสยเวท (หวด/ฮวด) ได้

หากเรียนเฉพาะการสวดมนต์พิธีตามแบบฉบับ ไม่จำเป็นจะต้องเสี่ยงทายถามเทวาจารย์ครับ แต่หากเรียนวิชาไสยเวท จำจะต้องเสี่ยงทาย

ต้องบอกไว้ก่อนว่าเรื่องนี้ผมเพิ่งเรียนในเบื้องต้นแบบสุดสุดจริงๆ ดังนั้น จึงยังไม่มีความรู้อะไรมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้มากนักหรือใครจะจ้างไปทำพิธีก็ยังไปไม่ได้ (ฮา)

 

อันที่จริงอาจารย์นนท์เพิ่งมีอายุเพียงยี่สิบต้นๆ เท่านั้นเอง แต่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีกรรมศาลเจ้าแสงธรรม และมีสำนักวิชา (เซียงกองต๋อง) ของตนเองโดยมีศิษย์ ซึ่งโดยมากเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน พี่น้องร่วมสำนักเหล่านี้คือคนรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรมทางศาสนพิธีและวัฒนธรรมหลายอย่างในภูเก็ตอย่างน่าชื่นชม

ตัวอาจารย์เป็นผู้ทรงวิทยาความรู้หลายอย่างชนิดที่ผมได้แต่ทึ่งและอัศจรรย์ใจ ควรนับเป็นอัจฉริยบุคคลทีเดียว แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือความกระหายใคร่รู้ในสรรพวิทยาอย่างไม่รู้จบสิ้น มีทิฐิเที่ยง และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างมาก

นอกเหนือในชั้นเรียน ศิษย์และอาจารย์ก็เหมือนเพื่อนกัน เมาธ์มอยสนุกสนานตามแบบวัยรุ่น ผมก็ได้เป็น “โก๊” หรือพี่ชายอีกคน แซวกันไปมา เพื่อนๆ ของนนท์เองก็ยิ่งกว่านี้

แต่พอเข้าสู่การเรียนและพิธีกรรมพวกเราก็สวมอีกบทบาทหนึ่ง จริงจังกับการฝึกฝนเรียนรู้ นับว่าสนุกมากๆ ที่ได้กลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง

สิ่งที่พวกเราเรียนกันนั้นมีมากมายหลายอย่าง เช่น เรื่องประเพณีและวัฒนธรรม การจัดของไหว้ ความหมายของของไหว้ ข้อความเชื่อแบบชาวบ้าน พิธีการต่างๆ โดยเฉพาะในประเพณีฮกเกี้ยน

การเรียนสวดมนต์ (ซ่งเก๊ง) โดยอธิบายความหมายไปเรื่อยๆ อย่างใจเย็น เรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าและเกร็ดทางโหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวิชาไสยเวท ประวัติศาสตร์การเมืองที่แฝงเร้นในสัญลักษณ์และพิธีกรรม พรรคบัวขาว ลัทธิมณีหรือเบ๋งก่าว เป็นต้น

 

มีศิษย์พี่น้องถามว่าอาจารย์นนท์ว่า ตกลงแล้วเราเป็นอะไรกันแน่ เป็นสมาชิกพรรคบัวขาวรุ่นหลัง คนในลัทธิเบ่งก่าว (สองเรื่องนี้เด่นชัดโดยเฉพาะประเด็นกินเจ/เจียะฉ่าย) เป็นฮวดกั๊วหรือหมอผีชาวบ้านในสายลื่อซานซำตั๋ว หรือเป็นไซก๊องคนสวดมนต์ประกอบพิธีทางพุทธกันแน่

ทั้งหมดนี้เป็น “พิธีกรรมฮกเกี้ยน” ในความหมายว่า คนฮกเกี้ยนรับสืบทอดพิธีกรรมและความเชื่อทั้งหมดเหล่านี้ไว้ นำมาผสมผสานกันจนกลายเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ดังนั้น หากต้องนิยามว่าเราเป็นอะไรกันแน่ก็อาจตอบว่า เราเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมฮกเกี้ยน ซึ่งอาจซ้ำกันหรือแพร่ไปสู่จีนกลุ่มภาษาอื่นๆ ด้วย

อีกสิ่งที่พอจะเป็นข้อสรุปได้คือ คนจีนพื้นบ้านนับถือศาสนาแบบซำก่าว (สามศาสนารวม) สิ่งนี้ปรากฏในพิธีกรรมอย่างเด่นชัดดังที่ผมเคยเขียนไปในตอนก่อนๆ หากกล่าวแบบทางการ ศาสนาทั้งสามคือ พุทธ หยู (ขงจื่อ) และเต๋า แต่ในคติชาวบ้านและสายวิชาไสยเวท ซำก่าวหมายถึง พุทธศาสนา (ฮุดก่าวหรือเส็กก่าว อันย่อมาจากเสีกเกียมอนี พระนามของพระศากยมุนี) ศาสนาเต๋า (โต่ก่าว) และไสยศาสตร์ (หวดก่าวหรือฮวดก่าว ซึ่งหวดในที่นี้อาจแปลว่าธรรมซึ่งเป็นการพยายามลากให้ใกล้ศาสนาพุทธ แต่ควรจะแปลว่า ไสยเวท)

ในจีนเองก็มีความพยายามจะแยกศาสนาเหล่านี้ออกจากกัน โดยมุ่งหวัง “ศาสนาแท้” อย่างที่บ้านเราก็พยายามด้วย แต่ในความเป็นชาวบ้าน ศาสนาทั้งหลายย่อมผสมผสานกันไปโดยไม่ขัดแย้ง จะมีบ้างที่อาจมีแนวโน้มไปทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากกว่าศาสนาอื่นเท่านั้น

 

เรื่องนี้คือสิ่งที่ผมชอบใจเป็นพิเศษ การมาเรียนสิ่งที่ไม่ใช่พุทธแบบจีนแท้ เต๋าแท้ หรือศาสนาผีแท้ๆ เหมาะแก่คนแบบผมดี เพราะเห็นแล้วว่าการถือศาสนาผสมไม่ใช่สิ่งประหลาดหรือแปลกปลอมแปดเปื้อน เป็นสิ่งปกติในโลกโบราณ โดยเฉพาะในวิถีชาวบ้าน

ดังนั้นแล้ว ผมเห็นว่าโจทย์ที่ต้องครุ่นคิดคือเราจะถือศาสนาผสมอย่างไรโดยไม่เสียท่าทีสำคัญในศาสนาหลักหรือศาสนาที่ตนเน้นมากกว่า เช่น จะถือพุทธเป็นหลักแต่นับถือเทพเทวาและผีไปด้วยโดยไม่เสียท่าทีแบบพุทธ เช่นความเมตตากรุณาได้อย่างไร

ทั้งนี้ ผมคงต้องเรียนท่านผู้อ่านไว้ครับว่า ในเมื่อก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกแห่งจีนวิทยาแล้ว สิ่งใดที่ผมเห็นว่าดีมีประโยชน์ ก็คงจะได้นำมาเสนอต่อไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่ในฐานะผู้รู้ แต่เป็นผู้สนใจใคร่ศึกษา

ขอท่านได้โปรดติดตามเช่นเคย •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง