การเมืองแบบคนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด | คำ ผกา

คำ ผกา

ปี 2023 กำลังจะจบสิ้นลง และเป็นปีที่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างเข้มข้นในทางการเมืองและเป็นรอยต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

นั่นคือเราได้เลือกตั้งในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลประยุทธ์พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะประวิงเวลารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารปี 2557 ให้ยาวนานที่สุด

และผลการเลือกตั้งได้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นอะไรใหม่ๆ

กระแสพิธาฟีเวอร์สะท้อนว่า คนไทยอยากได้ความ “สด” มาชดเชยสิบปีที่จำยอมอยู่กับรัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา

และที่น่าสนใจคือ ในหมู่คนที่คลั่งไคล้พรรคก้าวไกลอย่าง extreme จำนวนไม่น้อยเคยสนับสนุนการรัฐประหาร และสนับสนุนประยุทธ์อย่าง extreme เช่นกัน

ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกจึงเป็นประหนึ่งคนเคยรักแรง เมื่อเกลียดก็เกลียดแรง และเมื่อหันมาเชียร์คนใหม่ที่อยู่ขั้วตรงกันข้ามก็มาเชียร์สุดตัว คลั่งรักสุดตัว

เป็นภาวะของ “อารมณ์ร่วม” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอารมณ์นี่แหละคือหนึ่ง “ธาตุ” ที่ใช้ขับเคลื่อนการเมืองได้ทรงพลังที่สุด

แคมเปญการเลือกตั้งที่ผ่านมาจึงถูกนำด้วย agenda “เอาลุงหรือไม่เอาลุง”

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนด้วย agenda แลนด์สไลด์ที่ชัดเจนว่าต้องการเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว” อักนัยหนึ่งคือ ไม่เอาทั้งลุง ไม่เอาทั้งก้าวไกล

 

ผลการเลือกตั้งที่ก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง และเพื่อไทยเป็นอันดับสอง ทำให้ทั้งสองพรรคต้องมาร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขที่ยากมาก นั่นคือหากเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ทำอย่างไรจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาถึง 376 เสียง เพราะ ส.ว.และพรรคการเมืองอื่นๆ ยื่นเงื่อนไขว่า จะโหวตให้ก็ต่อเมื่อ พรรคก้าวไกลถอยเรื่อง 112

เมื่อการโหวตนายกฯ ผ่านไปสองครั้ง พรรคเพื่อไทยยกมือให้พิธาครบ 141 เสียงทั้งสองครั้ง แต่ก็ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เนื่องจากโหวตนายกฯ ไม่ผ่าน

พรรคเพื่อไทยจึง “รับไม้ต่อ” จากพรรคก้าวไกลมาจัดตั้งรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยมีสองทางเลือกคือ หนึ่ง จับมือกับก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรือสอง สลัดก้าวไกลออกแล้วหันไปข้ามขั้วจับมือกับภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆ ที่เหลือ ยกเว้นประชาธิปัตย์

ราคาที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายคือ – การผิดคำสัญญาว่าจะไม่จับมือกับพรรคที่เคยสังฆกรรมกับประยุทธ์

แต่เมื่อชั่งน้ำหนักว่า จ่ายในราคาของการผิดคำสัญญา แต่สิ่งที่ได้กลับมา “คุ้มค่า”

นั่นคือ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล, แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค คือ เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกฯ, ประยุทธ์กับประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่อยู่ในรัฐบาลนี้, ได้สัดส่วนรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญเกือบทั้งหมด

 

โหวตเตอร์ส่วนหนึ่งรับไม่ได้ แต่โหวตเตอร์อีกจำนวนหนึ่งสนับสนุนด้วยเหตุผลว่า

“ฉันเลือกเธอไปเพื่อให้เธอไฟต์เพื่อจะเป็นรัฐบาล ครองอำนาจรัฐและบริหารประเทศทำตามนโยบายที่หาเสียง และฉันไม่แคร์ว่าเธอจะจับมือใคร ขออย่างเดียว นายกฯ ต้องมาจากเพื่อไทย”

แต่กลุ่มคนที่หัวใจสลาย heart breaking อย่างแหลกละเอียดคือ โหวตเตอร์ของก้าวไกล โดยเฉพาะโหวตเตอร์ที่ตามการเมืองแบบ emotional

และไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา 101 (ที่ก่อนเลือกตั้งฉันพยายามเตือนทุกคนว่าประชาธิปไตยที่เราฝันถึงนั้นไม่ได้รับประกันว่าผลของมันจะเป็นผลไม้สุกงอมหอมหวานเสมอไป)

คนเหล่านี้คร่ำครวญว่า พิธาคือนายกฯ ที่ถูกปล้น พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์ เศรษฐาเป็นนายกฯ ส้มหล่น

นี่คือรัฐบาลส่วนต่อขยายของประยุทธ์ ทั้งหมดนี้เป็นการดีลกันระหว่างเพื่อไทยกับชนชั้นนำ เพื่อเอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน

น่าเสียดายที่นักวิชาการหรือคนที่มีความรู้ความอ่านอยู่บ้างในประเทศนี้ ไม่มีใครมีความกล้าหาญที่จะออกมาบอกว่า

“ดีลจะมีอยู่จริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้ และเถียงไม่ได้คือ เมื่อถามว่า การตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและการขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐา ชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาหรือไม่?”

เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันถามคำถามนี้กับทุกๆ คนที่ได้เจอ แม้แต่ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นของฉันที่เสียใจมากๆ ที่ “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ตอบสั้นๆ “ชอบธรรม”

 

เพราะฉะนั้น สำหรับฉันแล้วเพื่อที่เราทุกคนจะสามารถถกเถียงกันเรื่องการทำงานของรัฐบาล ถกเถียงกันเรื่องพลวัตการเมืองไทย ถกเถียงเรื่องพัฒนาการทางการเมืองไทยภายใต้เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม อำนาจรัฐพันลึก แอลละเฟ่นอินเดอะรูม หรือช้างในห้อง

เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่พื้นฐานที่สุดให้ตรงกันก่อนว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและขึ้นสู่อำนาจด้วยความชอบธรรม แม้นว่าใน “สายตาหรือทัศนะ” ของเราจะมองว่า มูฟนี้ไม่เป็นผลดีต่อความเข้มแข็งหรือความต่อเนื่องของประชาธิปไตยในสังคมไทยระยะยาว ณ จุดนี้ต่างหากที่ถกเถียงต่อได้

เป็นที่น่าเสียดายที่ครูบาอาจารย์ นักวิชาการในประเทศนี้ ไม่มีใครยอมเผชิญหน้ากับความจริงแล้วอธิบายสิ่งนี้กับสังคมอย่างตรงไปตรงมา

น่าเสียดายมากกว่านั้นคือ มีนักวิชาการอีกหลายคนมากที่เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ไม่กล้าออกมาพูด!!

พวกเขาบอกกับฉันว่า “กลัวโดนแขวน” “กลัวถูกโดดเดี่ยวในแวดวงวิชาการ” “กลัวไม่มีใครคบ”

ซึ่งหลายต่อหลายคนก็โดนกดดันและโดดเดี่ยวจริงๆ

ท้ายที่สุดระบอบอุปถัมป์การเล่นพรรคเล่นพวกในวงวิชาการนี่แหละ ที่มีส่วนในการสร้างความเขลาให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปในสังคมไทย

 

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็ตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรคและทำงานมาจนจะครบ 100 วัน ฉันในฐานะผู้ “เชียร์รัฐบาลตัวยง” จึงอยากจะรีวิวผลงานของรัฐบาลเสียหน่อย

และฉันได้เตือนผู้อ่านแล้วว่า นี่เป็นการรีวิวจาก “ผู้เชียร์รัฐบาลอย่างยิ่ง” ดังนั้น มันจึงเต็มไปด้วยความลำเอียง และฉันทาคติอย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งที่แตกต่างและเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการที่นายกฯ เศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ทำให้งานของนายกฯ เศรษฐา แยกออกจากงานของพรรคเพื่อไทย

ในแง่นี้ทำให้ภาพของนายกฯ ผูกติดอยู่กับการเป็นหัวหน้า ครม. โดยไม่มีภาพของความเป็น “เพื่อไทย” ติดมาด้วย

ซึ่งมีข้อดีคือ ทำให้นายกฯ เศรษฐา โฟกัสกับการบริหารประเทศ และไม่ต้อง “วุ่นวาย” เรื่องการบริหารพรรค ไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการบริหาร ส.ส. หรือการเลือกตั้งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และภาระการบริหารพรรคให้ประสบความสำเร็จชัดเจนว่าเป็นภาระของหัวหน้าพรรคคนใหม่คือ แพทองธาร ชินวัตร

แต่ข้อเสีย อาจทำให้มองได้ว่า นายกฯ กับ ส.ส.ในพื้นที่ไม่เชื่อมต่อกัน หรือเชื่อมต่อกันได้ไม่ติดเท่าที่ควรจะเป็น การเป็นนายกฯ ภายใต้กติกานี้ที่นายกฯ เศรษฐาเป็นจึงทำให้มีภาพของนายกฯ ซีอีโอมากกว่านายกฯ ที่เป็น “นักการเมือง”

เมื่อเป็นนายกฯ ซีอีโอ สไตล์การทำงานของนายกฯ เศรษฐาจึงมีลักษณะของการทำงานเชิงรุกเพื่อบรรลุผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

มากกว่าการทำงานเพื่อผล “ทางการเมือง” ที่หมายถึงการพยุงรักษาเครือข่าย ความสัมพันธ์ ระบบอุปถัมภ์ และ “บ้านใหญ่” ต่างๆ ในภาพที่เราคุ้นเคย

 

เมื่อเป็นการทำงานเชิงรุกที่พุ่งเป้าไปที่สัมฤิทธิผลที่จับต้องได้ ทำให้นายกฯ เศรษฐา ทำในสิ่งที่ช่วยแรกๆ เรียกกันว่า ควิกวิน เช่น การลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การต่อรองให้ผู้ประกอบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ตามเป้าหมาย การทำให้รถไฟฟ้าราคา 20 บาท เป็นความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า “ถ้าพยายามมากพอ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

แน่นอนว่า สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าคือการปรังปรุงโครงสร้างราคาพลังงาน และเป็นเรื่องที่เราต้องรอดูต่อไปว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร

ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น คือการเดินสายไปต่างประเทศในระยะเวลาเพียงสามเดือน นายกฯ เศรษฐา พบผู้นำระดับมหาอำนาจครบแล้วทุกคน สานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำอาเซียนแล้วทุกคนทุกประเทศ พบปะนักธุรกิจ นักลงทุนที่สำคัญๆ ครบทุกอุตสาหกรรม

ล่าสุดที่ญี่ปุ่นได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้านการลงทุนที่ถูกละเลยมากว่าสิบปี ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

และเห็นได้ชัดว่าทางญี่ปุ่นพอใจมากที่ไทยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นคือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดของไทยเสมอมา

ทั้งหมดนี้เพื่อบอกกับโลกทั้งใบว่า ประเทศไทยกลับมาอยู่บนแผนที่โลกแล้ว เรากลับมาพูดภาษามนุษย์แล้ว

เราคือประเทศที่พูดจารู้เรื่องและพร้อมจะค้าขายอย่างที่มนุษย์ปกติเขาทำกันแล้วนะ

ที่สำคัญเรามีนายกฯ ที่พูดภาษาเดียวกันกับผู้นำทั้งโลกเสียที

การเดินสายเอาตัวเป็นๆ ของนายกฯ เศรษฐาไปพบปะผู้นำและนักลงทุนทั่วโลก น่าจะสร้างความโล่งอกให้เพื่อนร่วมโลกของเราให้สบายใจว่า ในที่สุด ประเทศไทยได้กลับมาเป็นผู้เป็นคนกับเขาอีกครั้ง

หลังจากนี้หวังว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย หวังว่าจะมีการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และยกระดับฝีมือแรงงานในไทยขึ้นจากเดิม และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “การพัฒนา” หลังจากที่เราหยุดพัฒนาไปนานเหลือเกิน

และนานเหลือเกิน ที่เราแทบไม่มีเม็ดเงินจากข้างนอกเข้ามาเลยยกเว้นเงินจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

ในส่วนที่เป็นเรื่องภายในประเทศ

นอกจากการทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความชัดเจนในรายละเอียดและต้องรอขั้นตอนของกฤษฎีการและการเอาเข้าสภา

เรื่องใหญ่ๆ ที่รัฐบาลนี้ทำในสามเดือนแรกคือมาตราการแก้ไขหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ และเป็นครั้งแรกที่ทำอย่างครบวงจร

นั่นคือให้ฝ่ายปกครองร่วมมือกับฝ่ายตำรวจร่วมกับฝ่ายที่ดูแลการเงิน ทำงานด้วยกัน

เอาลูกหนี้ เจ้าหนี้มาลงทะเบียน แล้วค่อยๆ สางไปทีละปม

หนี้ตรงไหนที่จบได้ก็จบ ตรงไหนที่จบไม่ได้ จะย้ายจากหนี้นอกระบบไปเป็นหนี้ในระบบอย่างไร

หนี้เสียในระบบจะถูกปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร พร้อมมาตรการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ

สำหรับฉันนี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่รัฐบาลนี้เริ่มต้นทำอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน มองเห็นจุดเริ่มต้น มองเห็นทางออกตอนจบ มองทะลุไปถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว

มันจะสำเร็จมากหรือน้อย ยังไม่มีใครรู้ แต่มันก็มหัศจรรย์มากที่ภายในร้อยวันแรก โครงการนี้มีรูปร่าง เป็นวิธีการทำงานที่ชัดเจน และ logical มาก หากมันสำเร็จเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด จะมีเงินกลับเข้าสู่ระบบหรือสถาบันการเงินมหาศาล

และเมื่อคนปลดหนี้ หรือพาตัวเองมาเป็นลูกหนี้ในระบบที่ไม่ต้องถูกไล่ล่าจนไร้ศักดิ์ศรี มันก็คือการคืนศักยภาพให้ผู้คนได้กลับมาทำมาหากินอย่างเป็นคนเต็มคน

และปฏิเสธไม่ได้ว่านี้คือการทำให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของประเทศมันได้รับการซ่อมแซม เดินเครื่องได้อีกครั้ง ไม่ใช่ประเทศที่เต็มไปด้วยอะไหล่ที่ชำรุด รอเอาไปชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยังมีผลงานของกระทรวงสาธารณสุขที่น่าทึ่ง เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เรื่องที่ก้าวหน้าอย่างการแปลงเพศ ที่ 30 บาทจะครอบคลุม ยังมีเรื่องการนำร่องบัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกโรงพยาบาล

เหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นภายใน 100 วันเท่านั้น

 

ฉันไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ดีไปหมด แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

แต่ฉันกำลังจะบอกว่า เรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างโลกแตกอีกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ การปรับกองทัพให้ทันสมัย การปฏิรูปการศึกษาที่วิกฤตที่สุด

ซึ่งฉันมั่นใจว่าปัญหาเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วเวลาหนึ่งรัฐบาลหรือสี่ปี

ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต้องการความต่อเนื่องของการเลือกตั้ง

ความต่อเนื่องของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

และการสั่งสมวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมของเราให้เข้มแข็งมากพอ ต่อเนื่องมากพอที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ในอนาคต

สิ่งที่ฉันอยากให้เราเห็นว่ามันมีค่าและมันสำคัญสำหรับเราคนไทยในบริบททางการเมืองแบบที่เราเป็นอยู่ตอนนี้คือ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การมีรัฐบาลหรือนายกฯ ที่เพอร์เฟ็กต์สมบูรณ์แบบ แก้ ปัดเป่าปัญหาได้ทุกอย่างดั่งเนรมิต

แต่คือการได้เริ่มนับหนึ่งมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ย้ำ จะดีจะชั่ว รัฐบาลผสม 11 พรรคนี้มาจากการเลือกตั้ง เรามีสภา ที่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ สื่อมวลชนภายใต้รัฐบาลนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนกลั่นแกล้ง

ตรงกันข้าม สื่อควรจะรู้ตัวว่านี่คือรัฐบาลที่สื่อ “ขู่” และ “ด่า” อีกทั้งถากถางได้เหมือนหมูเหมือนหมา พาดหัว ตีฟูเฟกนิวส์ใส่รัฐบาลทุกวัน ไม่มีใครว่าอะไร

 

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค และเป็นเช่นนี้ในทุกประเทศประชาธิปไตย และเตือนตัวเองบ่อยว่า การให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแม้จะเป็นรัฐบาลที่เราไม่ชอบไม่เชียร์ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประเทศนี้ให้ลงหลักปักฐานและต้องทำให้ความเป็นประชาธิปไตยเป็นดีเอ็นเอของความเป็นไทยให้ได้

สิ่งนี้สำคัญกว่าความรักความชอบของเราที่มีต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

และฉันอยากชวนให้เราทุกคนฉลองการผ่านไปของปีนี้ด้วยการวางอคติ อีโก้ ความโกรธเกลียดใดๆ ลง

แล้วถามตัวเองว่า ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นขนาดนี้ ภายใต้รัฐบาลแบบนี้ ภายใต้ความตั้งใจทำงานของนายกฯ แบบนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เราควร congratulate กับตัวเอง

อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข มีความหวังบ้างจะดีกว่านั่งโกรธเกรี้ยวฟ้า ดิน ไปทุกๆ นาที ทั้งๆ ประยุทธ์ก็ไม่อยู่แล้ว ประวิตรก็ไม่อยู่ในฉากทัศน์อันไหนเลย

ปีใหม่แล้ว อนุญาตให้ตัวเองชื่นบานและ congratulate กับความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง โลกไม่ได้แตกดับวันนี้ พรุ่งนี้

การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงยังอีกยาวไกล และเราไม่ควรกินความโกรธและเกลียดเป็นอาหาร โดยเฉพาะในยามที่คนทำรัฐประหารก็ยอมลงจากอำนาจไปแล้วโดยละม่อม