เสียมกุก นครวัด เครือญาติกษัตริย์กัมพูชา

เสียมกุก นครวัด มาจากไหน? มีข้อสันนิษฐานต่างๆ ดังนี้

(1.) ยอร์ช เซเดส์ (เขียนบอกไว้เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ราว พ.ศ.2497) ว่าเสียมกุกเป็นคนไทย จากรัฐสุโขทัย [บทความเรื่อง “ศิลปะไทยสมัยสุโขทัย” (แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล) ในหนังสือ ตำนานอักษรไทยฯ คุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526]

แต่หลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่สนับสนุน ดังนี้

ปราสาทนครวัดและภาพสลักเสียมกุก สร้าง พ.ศ.1650 ขณะนั้นยังไม่มีคนไทย และยังไม่มีรัฐสุโขทัย

ดังนั้น ภาพสลักเสียมกุกไม่ใช่กองทัพคนไทยจากสุโขทัย “เมืองขึ้นกัมพูชา” ที่ถูกกษัตริย์กัมพูชาเกณฑ์ไปรบกับจาม (ตามที่พูดจากล่าวขวัญกันมาแสนนานจนทุกวันนี้ยังไม่เลิก)

(2.) จิตร ภูมิศักดิ์ (เขียนบอกไว้เกือบ 60 ปีมาแล้ว หรือก่อน พ.ศ.2509) ว่าเสียมกุกเป็นสยามจากลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย (หนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519)

แต่บริเวณลุ่มน้ำกกสมัยภาพสลักเสียมกุก พ.ศ.1650 อยู่ห่างไกลมากจากเมืองพระนคร (นครธม) และไม่พบชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐ แต่จะพบเมื่อสมัยหลังจากนั้นอีกนาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเสียมกุกที่ปราสาทนครวัดไปแล้ว

ดังนั้น เสียมกุก คือ สยามลุ่มน้ำกก จึงเป็นไปไม่ได้

(3.) โกรส์ลิเยร์ [Bernard-Philippe Groslier พ.ศ.2524 (1981)] ระบุตายตัวว่าเสียมกุกเป็นชาวส่วย อยู่ลุ่มน้ำมูล (อีสานใต้) ในหนังสือ นี่ เสียมกุก (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการแปล) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545)

ลุ่มน้ำมูลเป็นแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์ (ไม่ชาติพันธุ์เดียว) ที่มีกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่ากวย (หรือกุย) มีบ้านเมืองและรัฐขนาดใหญ่ ส่วนชื่อ “ส่วย” (แปลว่าขี้ข้า) เป็นชื่อสมัยหลังถูกเรียกโดยผู้เป็นนายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ดังนั้น สมัยเสียมกุก นครวัด จึงไม่ “ส่วย”

(4.) ศรีศักร วัลลิโภดม บอกว่าเสียมกุกเป็นชาวสยาม มีศูนย์กลางอยู่เวียงจันท์ (ลาว) ในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534)

น่าเชื่อว่าชาวสยามมีพื้นที่กว้างขวางตั้งแต่ลุ่มน้ำมูล ถึงเวียงจันท์ ลุ่มน้ำโขง (แต่ไม่ต่อเนื่องผืนเดียวกัน)

 

เสียมกุก นครวัด อยู่ลุ่มน้ำมูล

น่าเชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่เมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มีเครือข่ายถึงสองฝั่งโขงบริเวณศูนย์กลางอยู่เวียงจันท์ ประกอบด้วยลูกผสมของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ถูกเรียกสยาม เช่น ลาว, มอญ, เขมร, มลายู (จาม) ฯลฯ พบหลักฐานสมัยหลังหลายอย่างสนับสนุน ดังต่อไปนี้

(1.) เสียนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ในบันทึกจีน-โจวต้ากวาน (พ.ศ.1839) เกี่ยวกับเจินละ (เมืองพระนครหลวง หรือนครธม) ระบุว่าเสียน (คือชาวสยาม) ชำนาญปลูกหม่อน เลี้ยงไหม แต่ชาวเจินละไม่ชำนาญ ดังนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวเสียน ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ทำการเลี้ยงตัวไหมและปลูกต้นหม่อนเป็นอาชีพ พันธุ์ตัวไหมและพันธุ์ต้นหม่อนจึงมาจากประเทศเสียนทั้งสิ้น พวกเขาไม่มีป่านรามี แต่มีปอกระเจา ชาวเสียนใช้ไหมทอผ้าแพรบางๆ สีดำใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงชาวเสียนนั้นเย็บชุนเป็น ชาวพื้นเมืองทำผ้าขาดก็ต้องไปจ้างชาวเสียนให้ช่วยปะชุนให้”

[จากหนังสือ บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของเจินละ แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2557 หน้า 38]

ลุ่มน้ำมูลมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมสืบเนื่องหลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานสมัยหลัง ดังนี้

(หนึ่ง) เมืองตะลุง (อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์) ส่งส่วยไหมถวายกษัตริย์กัมพูชา (จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 330-331)

(สอง) เมืองปักธงชัย (อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา) แหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมสืบเนื่องตั้งแต่ดั้งเดิมจนปัจจุบัน พบหลักฐานสำคัญในแผ่นดิน ร.5 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เพ็ญ) เจ้ากรมหม่อนไหม เสด็จตรวจราชการหม่อนไหมบริเวณเมืองนครราชสีมาและเมืองบุรีรัมย์ มีคำบอกเล่าว่า เสด็จประทับเกวียนเป็นพาหนะ และทรงคิดทำนองเพลงลาวดวงเดือน (ชื่อเดิมว่าลาวดำเนินเกวียน) เป็นที่แพร่หลายสืบมาจนปัจจุบัน [มีข้อมูลหลักฐานหลายอย่างในหนังสือ ลาวดวงเดือน วังท่าเตียนฯ (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2548] เอกสารทางราชการระบุชัดเจนว่าเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะปักธงชัยเป็นแหล่งทอผ้าทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย (ในหนังสือ วัฒนธรรมฯ จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2542 หน้า 169)

(2.) เสียนรบพุ่งหมู่บ้านเจินละ บันทึกจีน-โจวต้ากวาน ระบุต่อไปว่าเจินละถูกเสียนรบพุ่งคุกคามจุดไฟเผาหมู่บ้านของเจินละ ดังนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำการรบพุ่งชาวเสียน หมู่บ้านเหล่านี้จึงกลายเป็นที่โล่งไปสิ้น” (หน้า 40)

“ในการรบกับชาวเสียน เขาเกณฑ์ราษฎรทั้งหมดเข้าทำการรบ” (หน้า 43)

เป็นหลักฐานหนักแน่นว่าพวกสยาม (เสียน) มีหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำมูล และมีดินแดนต่อเนื่องกับเจินละ คือเมืองพระนครหลวงหรือนครธม

จากบันทึกจีน-โจวต้ากวาน สนับสนุนให้เชื่อได้ว่าเสียมกุก นครวัด เป็นชาวสยามจากลุ่มน้ำมูล ชำนาญปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และอยู่ต่อเนื่องพรมแดนเจินละ คือเมืองพระนครหลวง (นครธม) และสืบย้อนหลังได้ถึงสมัยเมืองพระนคร (นครวัด)

ชาวสยามลุ่มน้ำมูล มีหลายชาติพันธุ์ และพูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลาง มีเครือข่ายถึงเวียงจันท์ บนเส้นทางการค้าถึงอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนาม

ขบวนเสียมกุก (ชาวสยาม คนหลายเผ่าพันธุ์ สื่อสารด้วยภาษาไท-ไต) เจ้านายและไพร่พลนุ่งถุงเหมือนโสร่ง (ไม่นุ่งแบบเขมร) เป็นเครื่องแต่งตัวตามประเพณีในพิธีกรรมสำคัญ (ไม่แต่งในชีวิตประจำวัน) เป็นขบวนแห่เกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติสนิทของกษัตริย์กัมพูชา ภาพสลักราว พ.ศ.1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด [ลายเส้นถอดแบบ โดย อ.คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
เครือญาติกษัตริย์กัมพูชา

สยามลุ่มน้ำมูล (เสียมกุก นครวัด) เป็นเครือญาติกษัตริย์กัมพูชาสมัยเมืองพระนคร (โตนเลสาบ)

ทั้งนี้ พิจารณาจากจารึก 28 รายการ ที่กำกับภาพขบวนเกียรติยศบนระเบียงคดชั้นนอก ด้านทิศใต้ (ปีกตะวันตก) ถ้ายกเว้นรายการที่ 1, 2 เรื่องเสียมกุก รายการนอกนั้นเป็นนามเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ดังนั้น เสียมกุกย่อมถูกนับเป็นเครือญาติด้วย

[จารึกภาพขบวนเกียรติยศพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ระเบียงคดชั้นนอก ด้านทิศใต้ (ปีกตะวันตก) ปราสาทนครวัด เรียงลำดับจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก คำอ่านจารึกเป็นของ จอร์ช เซแดส (G. Cœdès, “Les bas-reliefs d’Angkor Vat” Bulletin de la Commission Archéologique de l’Indochine, 1911 : 201-203) ถอดข้อความเรียบเรียงใหม่ โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

(หนึ่ง) เสียมกุกเป็นขบวนแรกสุด หมายถึง นับญาติห่างๆ หรือญาติต่างวัฒนธรรม

(สอง) เสียมกุกแต่งกายนุ่งโสร่งกรอมเท้า ซึ่งต่างจากขบวนถัดไปทั้งหมดที่แต่งตัวนุ่งขัดเขมรแบบกัมพูชาอย่างเคร่งครัด แสดงว่าเสียมกุกเป็นญาติต่างวัฒนธรรม

(สาม) เสียมกุกจัดระเบียบขบวนแห่ต่างจากขบวนถัดไปทั้งหมด แสดงลักษณะต่างวัฒนธรรม

(สี่) ภาพรวมของเสียมกุกแสดงลักษณะต่างวัฒนธรรมกับกัมพูชา น่าจะเป็นคำอธิบายข้อความในจารึกบ่ออีกา “กัมพุเทศานตเร” แปลว่า นอกกัมพุเทศ หมายถึง นอกวัฒนธรรมกัมพูชา •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ