อย่าให้เพื่อนอาเซียนระแวง อย่าให้ทหารพม่าหลอกใช้ (2) | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

สถานการณ์ในพม่าวันนี้เป็นจังหวะสำคัญที่ไทยจะสามารถแสดงบทบาทเป็น “สะพาน” เชื่อมต่อกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่กำลังเข้าสู่จุดพลิกผันอย่างมีนัยสำคัญ

เป้าหมายของไทยควรจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่าย แต่ต้องเน้นการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันของอาเซียนเพื่อระดมสรรพกำลังในการแก้วิกฤตของเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกของเราอย่างจริงจัง

โดยยึดเอา “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนเป็นเสาหลัก

รัฐมนตรีต่างประเทศปานปรีย์ พหิทธานุกร จำเป็นต้อง “ปรับความเข้าใจ” กับเพื่อนอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซียเพิ่งจะหมดหน้าที่เป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในประเด็นเรื่องพม่า

เพราะวงการทูตตระหนักดีว่าอินโดฯ (กับมาเลเซียและสิงคโปร์) มีความระแวงว่ารัฐบาลไทยชุดก่อนภายใต้การนำของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่าของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย

มีผลให้คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในขณะนั้น, ติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าในระดับทวิภาคีและจัดแจงให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกว่าการพูดคุย Track 1.5 กับรัฐบาลทหารพม่าและชาติอื่นๆ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันล่วงหน้า

หากแต่ส่งบัตรเชิญให้เพื่อนอาเซียนในนาทีสุดท้าย จนบางประเทศอาเซียนไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเลย

เกิดภาพความแตกแยกระหว่างสมาชิกอาเซียนกรณีพม่าซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักการ Asean centrality หรือ “ความเป็นแกนกลาง” ของอาเซียน

 

ขณะเดียวกันก็มีภาพว่า มิน อ่อง ลาย ใช้ประเทศไทยเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับรัฐบาลทหารของตน

เพราะรัฐบาลไทยในขณะนั้นพร้อมที่จะแสดงความชิดเชื้อกับตนโดยไม่สนใจว่าสมาชิกอาเซียนอื่นจะมีความรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของไทยในเรื่องนี้อย่างไร

เกิดภาพต่อมาว่ารัฐบาลไทยของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพพม่ามากกว่าจุดยืนของอาเซียน

อาเซียนต้องการให้ไทยช่วยกดดันให้มิน อ่อง ลาย ต้องเดินทางแนวทางของอาเซียน ไม่ใช่ให้ไทยช่วยพม่าลดแรงกดดันของอาเซียน

วันนี้ เมื่อสถานการณ์ในพม่าเอื้อต่อการที่รัฐบาลไทยที่มีนายกฯ ชื่อเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ที่ชื่อปานปรีย์ จะแสดงบทบาททางการทูตเชิงสร้างสรรค์ จึงเปิดโอกาสให้ไทยปรับยุทธศาสตร์ให้ทันท่วงที

เพื่อให้ไทย “กลับสู่จอเรดาร์ของเวทีระหว่างประเทศ” อย่างสมศักดิ์ศรี

 

คุณปานปรีย์ได้วางแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยไว้หลายข้อที่น่าสนใจและสอดคล้องกับทิศทางที่ควรจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับไทยในภาวะที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและกว้างขวางในภูมิภาคนี้

ในการมอบนโยบายให้กับเอกอัครราชทูตและกลสุลใหญ่ไทยจากทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้คุณปานปรีย์ได้วางไว้ 4 แนวทาง

หนึ่ง นโยบายต่างประเทศต้องเกิดขึ้นที่ “บ้าน” (begins at home) จะต้องสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้งยังสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า กระทรวงมีส่วนร่วมที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และสามารถทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้

สอง นโยบายต่างประเทศต้องเป็น “เชิงรุก” (proactive) โดยกล้าคิดริเริ่ม และแสดงบทบาทนำที่เด่นชัดในประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์หลักของไทย และการสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งให้กับอาเซียน

สาม นโยบายต่างประเทศต้อง “มองไปข้างหน้า” (forward-looking) โดยมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการกำหนดวาระของโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นจุดแข็งของไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สี่ นโยบายต่างประเทศต้อง “ขยายวงและเข้าถึง” (reach out) โดยเข้าถึงขั้วอำนาจและประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล

และเข้าถึงบุคคลและองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ

 

ส่วนความคาดหวังในการทำงานของทูตไทยในต่างประเทศนั้น คุณปานปรีย์ต้องการให้มีความเข้าใจในประเด็นการต่างประเทศในบริบทโลกปัจจุบันที่มีความหลากหลายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี รวมทั้งห่วงโซ่อุปทาน

อีกทั้งต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ที่ประจำการ และบ่งชี้ให้ได้ว่า ประเทศใดเป็นประเทศยุทธศาสตร์ของไทย

และจะต้อง reach out ไปพบกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเข้าถึงศูนย์กลางทางอำนาจและบุคคลที่เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของไทย และต้องสามารถนำเสนอจุดเด่นและจุดแข็งและความน่าสนใจของประเทศไทยเพื่อนำประเทศไทยไปสู่แนวหน้าของประชาคมระหว่างประเทศ

ทำให้เขาเห็นว่าประเทศไทยมีความสำคัญ (Thailand matters)

 

คุณปานปรีย์เน้นว่านักการทูตไทยจะต้องเข้าใจโลกที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์(social media) อย่างแพร่หลาย และมี audience ในวงกว้างกว่าสื่อแบบดั้งเดิม

การทำงานของท่านทูตและท่านกงสุลใหญ่ในยุคนี้จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว

แนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศยุคใหม่เชิงรุกจะช่วยสนับสนุน “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” (economic diplomacy) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลด้วย

ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปเยือนกว่า 11 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ และได้พบบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บิ๊กเทค” เพื่อดึงดูดการลงทุนมายังไทยแล้วกว่า 60 บริษัท นอกจากนี้ ท่านยังได้มีดำริให้จัดการประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน เพื่อร่วมกันหารือ

และชี้ประเทศเป้าหมายของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกด้วย

เอกอัครราชทูตมีฐานะเป็นหัวหน้า “ทีมประเทศไทย”

เมื่อเห็นแนวทางเช่นนี้เท่ากับว่าหากทำตามหลักการที่รัฐมนตรีต่างประเทศวางไว้การทูตไทยจะมีความสำคัญต่อการปรับบทบาทของไทยต่อกรณีพม่าอย่างมาก

 

หากคุณปานปรีย์จะเดินสายพูดคุยกับ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ stakeholders ที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับสงครามในพม่าโดยประสานกับเพื่อนเราในอาเซียนอย่างใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนมุมมองกันตลอดเวลา การทูตไทยก็จะกลับมาผงาดอีกครั้งหนึ่ง

เป็นการหวนกลับมาเป็น “การทูตเชิงรุก” ที่ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศในลักษณะ “การทูตโทรโข่ง” (megaphone diplomacy)

หากแต่สามารถจะใช้การทูตเบื้องหลังเพื่อผลักดันและช่วยอำนวยความสำดวกให้กับผู้เกี่ยวข้องต่อรองเจรจาเพื่อหาทางยุติการสู้รบโดยเร็วที่สุด

ข้อเสนอให้มี “ระเบียงความช่วยเหลือมนุษยธรรม” ตรงชายแดนไทย-พม่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญ

เพราะการทูตที่มีประสิทธิภาพคือการทูตที่ช่วยเหลือผู้สูญเสียและผู้ตกเป็นเหยื่อของสงครามโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ กับความขัดแย้งนั้นๆ

ระเบียงความช่วยเหลือมนุษยธรรมหรือ Humanitarian Corridor ที่ว่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเจรจาต่อรองทางด้านการทหาร, การเมืองและเศรษฐกิจทั้งสิ้นทั้งปวง

แน่นอนว่าเราคงหวังจะเห็นสันติภาพในพม่าในเร็ววันไม่ได้เพราะความขัดแย้งนี้มีประวัติอันยาวนาน และต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไขสำคัญของตนที่ต้องมาจากการเปิดอกพูดคุยกันเท่านั้น

คุณปานปรีย์อาจจะเสนอให้ประเทศไทยเป็น “จุดนัดพบ” ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายทั้งปวงเพื่อเปิดฉากการแลกเปลี่ยนแนวทางของการยุติสงคราม

นำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกแบบระบอบการปกครองที่ฝ่ายต่างๆ ในพม่ามีความเห็นสอดคล้องกัน

หัวใจของบทบาท “เชิงรุก” ของไทยในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานสั้นๆ ง่ายๆ คือ

อย่าให้เพื่อนอาเซียนระแวง

อย่าให้ทหารพม่าหลอกใช้เรา!

ท่องสองประโยคสั้นๆ นี้ไว้และเดินหน้าสร้าง “ความน่าไว้วางใจ” ของไทยเราอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ

นี่คือก้าวแรกของการที่จะให้ประเทศไทย “กลับมาชกมวยรุ่นที่เหมาะกับศักยภาพอันพึงมีของไทย” มากที่สุด!