ยุค”ต่อ”ไม่ต้องหล่อ | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

ยุค”ต่อ”ไม่ต้องหล่อ

 

ประชาธิปัตย์ ยุคนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แม้จะดูกระมอมกระแมม

แต่กระนั้น ถามว่า นายเฉลิมชัย และกรรมการบริหารยุคใหม่ จะถึงขนาด”พังพาบ”เลยหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่

ไม่ เพราะนายเฉลิมชัย กุมเสียงส.ส. 21 จาก 25 เสียง เอาไว้อย่างเป็นเอกภาพ

ไปไหนไปกัน ไม่ต้องรักษาหล่อ หรือภาพพจน์ อะไรกันอีกแล้ว

ขณะเดียวกันการที่สมาชิกพรรคไหลออกอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกกังวลจนเกินไป

เพราะนายเฉลิมชัยและพวก เห็นแล้วว่าคนที่ผละออกจากพรรคนั้น น้อยมากที่จะประสบความสำเร็จทางการเมือง

จะดีหน่อยตอนนี้ก็คงเป็นนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่ที่ดีนั้นก็หาใช่เพราะความโดดเด่นของนายพีระพันธ์ แต่อย่างใด

หากแต่เป็นพลังของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า

และตอนนี้ เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ขาดพล.อ.ประยุทธ์ ไปแล้ว จึงถูกจับตาว่าจะรักษาภาวะ”เสียงดัง”เอาไว้ได้นานเพียงใด

หรือจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ ในอนาคตอีกไม่นาน

การที่นายพีระพันธ์ ออกมาประกาศว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรค”อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า”นั้น

ด้านหนึ่งก็ไม่สามารถปฏิเสธว่านั่นเป็นความพยายามที่จะตรึงเอาเสียงที่เคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เอาไว้ และอีกด้านก็พยายามแตะไปยัง กลุ่มก้าวหน้า ที่จะเข้ามาช่วยเสริม

ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่

ชะตากรรมที่ไม่สดใสของคนที่แตกตัวออกจากประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย รู้ดี จึงไม่วิตกอะไรนัก

แถมยังอาจจะเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ เพราะคนที่เหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวกัน พูดกันง่าย ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับความเป็นอริภายในพรรค

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องไปเล่นกับกระแสมากนัก เพราะเล่นอย่างไร ภาพพจน์ก็ไม่ดีขึ้น

จะทำหล่ออย่างไร แม่ยกเดิมๆก็ยากจะหวลกลับคืนมา

จึงไม่ต้องไปประดิษฐ์คำเก๋ๆว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็น พรรคอนุรักษ์นิยมเข้มข้น หรือเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมก้าวหน้า ให้รุงรัง

ขับเน้นชัดๆแบบ “พี่ต่อพึ่งได้” ดูจะมีประสิทธิผลกว่า

และเชื่อว่า นี่คงเป็นแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากนี้

นั่นคือ เล่นการเมืองแบบบ้านใหญ่ โดยมีนายเฉลิมชัยเป็นศูนย์กลาง มุ่งความเป็นเอกภาพในกลุ่มพรรคพวก ดูแลส.ส.อย่างดีเป็นหลัก

เป็นประชาธิปไตย แบบกินได้ มากกว่าเป็นประชาธิปไตยที่เน้นอุดมการณ์

ประชาธิปัตย์ยุคนายเฉลิมชัย จึงน่าจะขับเคลื่อนแบบพรรคภูมิใจไทย ที่เน้นการดูแล”ส.ส.”เป็นสำคัญ

แต่ สิ่งที่แตกต่างกันพอสมควร

นั่นคือ พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดูแลกระทรวงเกรดเอหลายกระทรวง

จึงเพียบพร้อม ด้วย “ทุนและอำนาจ” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเลือกเดินไปบนถนนการเมืองแบบประชาธิปไตยกินได้

นี่เอง ทำให้ เกิดความคาดหมายตั้งแต่นายเฉลิมชัยก้าวขึ้นเป็นพรรคหัวหน้าพรรค

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ มี”มิชชั่น” ที่จะต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้

ซึ่งแม้ตอนนี้ จะไม่มีเสียงตอบรับ โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่ารัฐบาล 314 เสียง ยังไม่จำเป็นต้องดึงเอาพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วม

แต่กระนั้น สะพานที่ ฝ่ายนายเฉลิมพันธ์ทอดไว้

ตั้งแต่ให้แกนนำไปพบคนแดนไกล รวมถึงการที่มีส.ส.ประชาธิปัตย์ 16 เสียง ยอมขัดมติพรรคไปเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

ก็ทำให้ประชาธิปัตย์มิใช่อื่นไกลกับเพื่อไทย

แม้จะไม่ได้ร่วมทำงานตอนนี้

แต่ทิศทางที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นรัฐบาล

เป็นทิศทางที่มุ่งมั่นไปอย่างไม่ต้องสงสัย

—————