คนมองหนัง : ทำความเข้าใจ “ชาวโรฮิงญา” ผ่าน “หนังมาเลเซีย Aqerat (We, The Dead)”

คนมองหนัง

“Aqerat (We, The Dead)” คือหนังยาวเรื่องใหม่ของ “เอ็ดมันด์ โหย่ว” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้จักพอสมควรจากหนังการเมืองเนื้อหาเข้มข้นเรื่อง “River of Exploding Durians”

โดยมีฉากละครจำลองเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” เป็นไฮไลต์สำคัญที่ถูกกล่าวถึงในหมู่นักดูหนังชาวไทย

“Aqerat (We, The Dead)” ซึ่งทำให้ เอ็ดมันด์ โหย่ว เพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติโตเกียวปีล่าสุดมาครอง ยังคงเป็น “หนังการเมือง” ที่คมคาย

เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้มีความตรงไปตรงมาและอารมณ์เกรี้ยวกราดน้อยกว่า “River of Exploding Durians” และแทนที่ความซื่อตรงรุนแรงเหล่านั้นด้วยลักษณะการเล่าเรื่องแบบกวีนิพนธ์ ที่ปรากฏขึ้น ณ ช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์

ความน่าสนใจประการแรกของภาพยนตร์มาเลเซียเรื่องนี้ ก็คือ นี่เป็น “หนังอาเซียน” ที่พูดถึงกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา

และเผลอๆ “Aqerat (We, The Dead)” อาจเป็นหนังที่พยายามเผยให้เห็น “ภาพแทน” ของกระบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่เข้มข้น จริงจัง ดิบเถื่อน เศร้าสลดมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากครึ่งแรกของหนัง)

ครึ่งเรื่องแรก หนังเรื่องนี้พาผู้ชมไปสัมผัสกับชีวิตของตัวละครหญิงสาวเชื้อสายจีนผู้มีชื่อว่า “ฮุ่ยหลิง” (ชื่อเดียวกับ “ครูสาวนักปฏิวัติ” ตัวละครนำในหนังเรื่องก่อนของโหย่ว) ซึ่งทำงานเป็นพนักงานร้านอาหาร เพื่อเก็บเงินไปเรียนต่อที่ไต้หวัน

แต่แล้วเธอกลับถูกเพื่อนร่วมห้องพักและแฟนของหล่อนหักหลัง-ลักทรัพย์ ฮุ่ยหลิงต้องเริ่มต้นหาเงินใหม่หมด ส่งผลให้เธอถูกกวาดต้อนชักนำเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ อย่างปราศจากทางเลือก

เมื่อทำงานเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของขบวนการค้ามนุษย์ที่ดิบ เถื่อน โหด สักระยะหนึ่ง ฮุ่ยหลิงก็เริ่มมีมโนสำนึกหรือความรู้สึกผิดบาป อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่แก๊งของเธอทำงานผิดพลาด โดยปล่อยให้ผู้อพยพชุดล่าสุดวิ่งหนีหลบรอดไปได้

จนหญิงสาวและบรรดาเพื่อนร่วมงานถูก “ขีดเส้นตาย” จากนายใหญ่ ให้รีบตามหาตัวคนเหล่านั้นกลับมา มิฉะนั้น จะต้องตกเป็นฝ่ายโดนไล่ล่าเสียเอง

จากนั้น หนังตัดเข้าสู่ช่วงครึ่งหลัง ที่มีท่วงท่าการถ่ายทอดเรื่องราวประหนึ่งกวีนิพนธ์

หากพิจารณาในเชิงรูปธรรม เนื้อหาส่วนหลังก็คล้ายจะมีชาวโรฮิงญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยน้อยมากๆ ทว่า ผู้กำกับฯ กลับหันไปพูดถึงประเด็นการ “แทนที่/ซ้อนทับ” ตัวละครคนหนึ่งด้วยตัวละครอีกราย

หนังส่วนนี้กล่าวถึงคนที่ไม่มีใบหน้า คนที่ต้องการหลบหนีจากภาวะบางอย่าง คนผู้ฝันใฝ่ถึงสิ่งที่แม้กระทั่งตนเองก็ยังมองไม่เห็นมันโดยเด่นชัด

อย่างไรก็ดี การไม่มีชาวโรฮิงญามาโลดแล่นหรือแสดงบทบาทชัดเจน กลับยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นการดำรงอยู่ของผู้คนเหล่านั้นผ่านกลวิธีเฉพาะพิเศษ (ก่อนที่เด็กหญิงโรฮิงญาคนหนึ่งจะปรากฏกายขึ้นในช่วงท้าย เป็นการขมวดปมทั้งหมด)

ตลอดทั้งเรื่อง (ไม่ว่าจะเป็นช่วงครึ่งแรกหรือครึ่งหลัง) คนดูแทบไม่มีโอกาสได้ยินเสียงพูด หรือได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกลึกๆ ของบรรดาผู้อพยพชาวโรฮิงญา

เราจะมองเห็นเพียงภาพโคลสอัพใบหน้าของพวกเขา ในลักษณะ “สิ่งแปลกประหลาด” ที่ใกล้ชิดแต่เหินห่าง

เอ็ดมันด์ โหย่ว ตระหนักดีว่าตนเองต้องพยายามพาผู้ชมให้เขยิบเข้าไปใกล้ชิดกับผู้อพยพเหล่านี้มากขึ้น ทว่า กระบวนท่าที่เขาเลือกใช้กลับผิดแผกแหวกแนวพอสมควร

กล่าวคือ เอ็ดมันด์ไม่ได้ทำตัวเป็นปากเป็นเสียง หรือพยายามพูดจาสื่อสารแทนชาวโรฮิงญา ผู้ต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอน

หากเขาได้สร้างสถานการณ์หรือโลกจำลองขึ้นมา พร้อมตั้งคำถามว่าถ้ามนุษย์ชาติพันธุ์อื่นๆ (อาทิ จีนมาเลย์) ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขบีบคั้นบางประการ เฉกเช่นที่ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญ พวกเขาจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร?

ในภาวะที่ต่างคนต่างอยากเดินทางออกจากพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ในภาวะที่ต่างคนต่างอยากหลบหนีจากแก๊งค้ามนุษย์ หรือการใช้ความรุนแรงที่พวกตนต้องตกเป็นฝ่ายถูกไล่ล่าถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว

และในภาวะที่ต่างคนต่างใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม หรือดีกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

ระหว่างดูหนัง ผมพลันนึกถึงประโยคที่มีคนเคยกล่าวเอาไว้ทำนองว่า “คนที่ตายมีใบหน้า, คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต” ขึ้นมา

หนังของเอ็ดมันด์ทำให้บรรดาผู้ชมรับรู้ว่าชาวโรฮิงญาที่ถูกฆ่า ถูกทรมาน ถูกขายเป็นสินค้าทอดตลาดนั้น มีอัตลักษณ์ มีใบหน้า มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความทรงจำ มีความฝัน และมีความเป็นคนอยู่แน่ๆ

แม้คนดูหนังจะไม่เข้าใจในปัญหา อุปสรรค และวิถีชิวิตของกลุ่มผู้อพยพเหล่านั้นโดยถ่องแท้ลึกซึ้ง แต่อย่างน้อย พวกเราก็สามารถทดลองทำความเข้าใจห้วงอารมณ์-ช่วงเวลาอันยากลำบากดังกล่าวได้ ด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดถึง “ชีวิต ความใฝ่ฝัน และความหวาดกลัว” ของชาวโรฮิงญา ผ่านประสบการณ์ของเราเอง

หรือลอง “แทนที่” ชีวิตของเขาด้วยชีวิตของเรา

“Aqerat (We, The Dead)” ถือเป็นหนังที่น่าดู แม้จะดูยาก (หรืออาจสนุกน้อย) กว่าหนังเรื่องก่อนของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน

จุดเด่นด้านโปรดักชั่นข้อหนึ่งของหนัง คือ งานกำกับภาพโดย “เลสลี ลีออน ลี” ที่ใช้เทคนิค “แฮนด์เฮลด์” ได้อย่างมีเสน่ห์และทรงพลัง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ชมชาวไทย ก็คือ เอ็ดมันด์ โหย่ว ดูจะมีความผูกพันกับเมืองไทย/คนไทยมากเป็นพิเศษ

ในหนังเรื่องนี้ เขาจึงยังยึดโยง “ความเป็นไทย” บางอย่าง (ที่อาจ “ไม่ไทย” มากนัก ในทัศนะของคนไทยทั่วไป) เข้ากับเนื้อหาและวิถีชีวิตของตัวละครตามเคย

โดยเหตุการณ์ทั้งหมดของหนังเกิดขึ้นในเมืองที่มีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ อาหารไทยบางชนิดจึงถูกอ้างอิงถึง เช่นเดียวกับศิลปะการแสดงหนังใหญ่ของชุมชนคนไทย อันมีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและมาเลย์ ซึ่งถูกใช้เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” กับชีวิตของตัวละครนำ

ยิ่งกว่านั้น ณ ห้วงท้ายๆ ของภาพยนตร์ ฮุ่ยหลิงและชายคนรักยังได้ลี้ภัยจากแก๊งค้ามนุษย์ เข้ามาในหมู่บ้านคนไทย

ในมุมมองของ เอ็ดมันด์ โหย่ว ชุมชนคนไทยแห่งนั้นคงมีสถานะเป็นดัง “พื้นที่ในระหว่าง” ที่เชื่อมโยง “คนใน” เข้ากับ “คนนอก/คนอื่น” และเป็น “พื้นที่แห่งความเป็นไปได้ชนิดอื่นๆ” สำหรับผู้ต้องการจะหลบหนีออกจากสภาวะปัจจุบันอันโหดร้ายทารุณ กระมัง?